ไม่ได้บังคับเลิกนั่งยอง ปฏิวัติ "ส้วมซึม" แค่คุมมาตรฐาน จี้ใช้ "ชักโครก"

ไม่ได้บังคับเลิกนั่งยอง ปฏิวัติ "ส้วมซึม" แค่คุมมาตรฐาน จี้ใช้ "ชักโครก"

ไม่ได้บังคับเลิกนั่งยอง ปฏิวัติ "ส้วมซึม" แค่คุมมาตรฐาน จี้ใช้ "ชักโครก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา หนังสือราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศพระราชกฤษฎีกา "กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556" ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนแม่บทพัฒนาส้วม โดยตั้งเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนใช้ชักโครกภายในปี 2559

เนื่องมาจากโถส้วมนั่งราบซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนามัยของประชาชน หากมีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชน นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังเป็นการพัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ รวมไปถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลัก

สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ประกอบด้วย 4 มาตรา ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2556" มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.792-2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ.2554) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เรื่องยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์วิเทรียสไชนา : โถส้วมนั่งราบ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2554 และมาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้้


ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ได้แก่ 1.เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) และ 2.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556-2559) ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายความสำเร็จที่กำหนดไว้ โดยมีเป้าหมาย 1.ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบ "ส้วมนั่งราบ" ร้อยละ 90 ภายในปี พ.ศ.2559 2.สถานบริการสาธารณะ และสถานที่สาธารณะมีบริการ "ส้วมนั่งราบ" อย่างน้อย 1 ที่ ร้อยละ 10 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ.2559 3.มีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ.2559 4.คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการในปี พ.ศ.2559 และ 5.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50 ภายในปี 2559

สำหรับส้วมสาธารณะตามเป้าหมายดังกล่าวกำหนดไว้ 12 ประเภท ได้แก่ 1.แหล่งท่องเที่ยว 2.ร้านจำหน่ายอาหาร 3.ตลาดสด 4.สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ 5.สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 6.สถานศึกษา 7.โรงพยาบาล 8.สถานที่ราชการ 9.สวนสาธารณะ 10.ศาสนสถาน 11.ส้วมสาธารณะริมทาง และ 12.ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/ดิสเคานต์สโตร์

รายงานข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส้วมสาธารณะไทย มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย อำนวยการและติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานส้วมสาธารณะไทย และอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพตามความเหมาะสม

ด้าน นายณัฐพล ณัฐฎสมบูรณ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับทั้งผู้นำเข้าและผู้ผลิตสุขภัณฑ์ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เลขที่ 792-2554 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 8 ราย แต่มาตรฐานดังกล่าวไม่ใช่เป็นการบังคับให้ประชาชนเลิกใช้สุขภัณฑ์นั่งยอง ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไปเลขที่ 794/2544 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 9 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ผลิตสินค้าในราคาที่ไม่สูงมาก ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อใช้ได้

นายณัฐพลกล่าวว่า สำหรับการกำหนดให้ทุกครัวเรือนใช้ชักโครกภายในปี 2559 ไม่ได้หมายความว่าห้ามใช้ส้วมนั่งยอง โดยคาดว่ามาจากการที่รัฐบาลประกาศให้การใช้สุขภัณฑ์นั่งราบเป็นวาระแห่งชาติและตั้งเป้าหมายไว้ภายใน 4 ปี น่าจะเป็นการออกนโยบายในลักษณะรณรงค์ประชาชนให้หันมาใช้สุขภัณฑ์นั่งราบมากกว่า

"เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการบังคับว่าประชาชนจะต้องเลิกใช้ส้วมซึม เพราะไม่มีกฎหมายที่จะบังคับประชาชนได้ แต่ที่ประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ เพราะเมื่อปี 2552 มีผู้ประกอบการได้ร้องเรียนมาที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ให้ประกาศสุขภัณฑ์ดังกล่าวเป็นมาตรฐานบังคับ" นายณัฐพลกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook