จัดตลาดนัดลดสต็อกบ้านเอื้อฯ กคช.อัดแคมเปญวาง3พันบาท
กคช.เตรียมจัดตลาดนัดบ้านเอื้ออาทรครั้งใหญ่ 6-15 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งเป้ายอดขาย 1 หมื่นหน่วยลดสต็อก จัดโปรโมชั่นวางเงินเพียง 3 พันบาท ยื่นเรื่องขอสินเชื่อแบงก์ให้เสร็จ รับลูกค้าค้างค่างวด 3-5 เดือน สูงถึง 30%
นายศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ ผู้ช่วยผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 6-15 กุมภาพันธ์นี้ กคช.จะจัดตลาดนัดบ้านเอื้ออาทรครั้งใหญ่ เปิดขายบ้าน 6 หมื่นหน่วย ทั้งบ้านที่เสร็จแล้วและกำลังก่อสร้าง ซึ่งจะมีโปรโมชั่นพิเศษวางเงินเพียง 3,000 บาท จากที่ผ่านมาต้องวาง 6,000 บาท และสามารถส่งเรื่องเข้าขอสินเชื่อธนาคาร พร้อมรับมอบได้เลยเมื่อธนาคารอนุมัติสินเชื่อก็เข้าไปอยู่ได้ทันที โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ 1 หมื่นหน่วย หรือประมาณ 30 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีนี้การเคหะจะเปิดขายบ้านทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยมีเจ้าหน้าที่ขายประจำคอยให้บริการขายที่สำนักงานใหญ่ และสำนัก สช.ทุกแห่งทั่วประเทศ และได้เตรียมจัดงานตลาดนัดบ้านเอื้ออาทร ครั้งที่ 2 ขึ้นในวันที่ 5-14 มิถุนายน 2552 ด้วยสำหรับลูกค้าที่พลาดโอกาสงานตลานัดบ้านเอื้ออาทรครั้งแรก โดยตั้งเป้ายอดขายไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นหน่วย โปรโมชั่นจะมีทั้งแถมคูปองให้ 1,500 บาท ติดตั้งมิเตอร์น้ำ-ไฟให้ฟรี รวมทั้งมีการจับสลากบัตรของขวัญ เพื่อนำเงินไปใช้ในห้างสรรพสินค้า มูลค่า 2,000 บาท วันละ 10 รางวัล" นายศิริโรจน์ กล่าว
นายศิริโรจน์ กล่าวด้วยว่า จากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ เป็นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ส่งผลไปทั่วโลกรวมถึงไทย การเคหะก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปเช่นกัน ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากลูกค้าเช่าซื้อของ กคช. ติดการชำระอยู่คนละ 2-5 เดือน และพบว่ามีลูกค้าติดค้างค่างวด 3-5 เดือน มากถึง 30% กคช.สามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ ทวงหนี้ ซึ่งมักมีการผัดผ่อนออกไป หาวิธีทำให้เขาลดค่าเช่า ลดค่าผ่อนชำระลงมา เพื่ออยู่ด้วยกันได้ต่อไป และสองใช้วิธีประวิงเวลา ไม่ให้ลูกค้าต้องทิ้งบ้าน
ในส่วนของลูกค้าที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคาร การเคหะมีหน้าที่รับซื้อคืน เพราะธนาคารไม่ลดหนี้ให้ ไม่ประนอมหนี้ ไม่ได้ลดการผ่อนงวดให้ สิ่งที่ดำเนินการคือ เมื่อลูกค้าค้างำระครบ 2 งวด ติดค้างธนาคาร 2 งวด เคหะต้องไปซื้อคืนจากลูกค้าและนำออกมาขายอีกรอบ
ภาวะวิกฤติตรงนี้ ทำให้เราต้องไปวางแผนเกี่ยวกับบ้านในโครงการของ กคช.ในปี 2552 ที่เผชิญปัญหาอยู่คือ กำลังซื้อต้องลดลงแน่นอน รายได้น้อยลง เพราะโรงงานปิด อีกทั้งแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ" ผู้ช่วยผู้ว่าการ กคช.กล่าว
นอกจากนี้ กคช.เตรียมขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปรับขึ้นราคาบ้านเอื้ออาทรจาก 3.9 แสนบาท เป็น 4.2 แสนบาท เนื่องจากปีที่แล้วยังไม่ได้ปรับ แต่ก็ถือว่าปรับขึ้นไม่ถึง 10% ซึ่งเป็นการสวนกระแสในขณะที่โครงการอื่นขายไม่ออกและสร้างยังไม่เสร็จ โดยการขอปรับขึ้นราคา เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างจริงสูงกว่าราคาปัจจุบันที่ขายอยู่ที่หน่วยละ 3.9 แสนบาท