สุกำพลลุยถกBRNไม่เชื่อนาจิบอยากแยกดินแดน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่เชื่อ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หนุนแยกดินแดนใต้ มั่นใจ คืนตำแหน่ง 'ถวิล' ไม่กระทบคุย BRN ขณะ 'ประชา' เตรียมลงใต้รับร้องทุกข์มั่นใจประชาชน
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวที่ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มีแนวคิดสนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีการปกครองตนเอง โดย พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวไม่เชื่อว่า เรื่องที่ นายนาจิบ พูดจะเป็นความจริงเนื่องจากทั้งไทยและมาเลเซีย มีแนวทางเดียวกัน คือ จะไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งหากมีการกล่าวเช่นนั้นจริง ก็ไม่ควรนำมาเป็นประเด็นขัดแย้งในประเทศ เพราะเป็นความคิดเห็นของคนนอกประเทศ
ส่วน พ.ร.บ.ความมั่นคง และกฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ เห็นว่าเป็นกฎหมายที่คุ้มครองคนดีและไม่ใช่กฎหมายร้ายแรง อีกทั้ง ชาวบ้านในพื้นที่ก็เห็นด้วยที่จะมีการบังคับใช้ ว่าจะช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับคนในชุมชนได้
ทั้งนี้ มั่นใจว่า หากมีการคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ให้กับ นายถวิล เปลี่ยนศรี ก็จะไม่กระทบกับการเจรจากับกลุ่ม BRN เพราะการหารือเป็นไปตามนโยบาย ไม่ขึ้นกับตัวบุคคล อีกทั้ง การพูดคุยในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ ได้วางแนวทางไว้แล้ว แต่จะไม่สามารถเปิดเผยได้
'ภราดร'ชี้ถกมั่นคงดูพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนเริ่มการประชุมหน่วยงานความมั่นคง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN ว่า การประชุมร่วมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ จะเป็นการรายงานความคืบหน้าและติดตามภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้รายงาน
ทั้งนี้ ในการประชุมยังมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก รวมถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากมีนัดพบแพทย์ส่วนตัว
'ประชา'เตรียมลงใต้รับร้องทุกข์มั่นใจประชาชนให้ข้อมูล
นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะรับเรื่องราวร้องทุกข์ เปิดเผยกับ สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า วันที่ 7 มิ.ย. จะเดินทางไป จ.นราธิวาส และยะลา เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนว่ามีความเห็นอย่างไรก่อนที่จะตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์โดยกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงด้านคุณภาพชีวิตตามนโยบายรัฐ ว่า สะท้อนลงไปถึงประชาชนหรือไม่ โดยจะใช้ระบบโมเดลใหม่ในการสื่อสาร ซึ่งที่เคยขอความร่วมมือ ให้ข้อมูลทางไปรษณีย์ อีเมล์ ก็จะไปสร้างความมั่นใจให้ประชาชนสามารถส่งปัญหาตรงมายังศูนย์อำนวยการที่กระทรวงมหาดไทยได้เลย โดยจะมีคณะทำงานมีทั้งหมด 13 คน และมีคณะทำงานชุดเล็ก เพื่อกรองเรื่องที่รับร้องเรียนมา และจะมีหน่วยติดตามว่า เรื่องที่แจ้งกลับไป มีความคืบหน้าหรือไม่ ซึ่งจะรีบดำเนินการโดยเร็ว
ทั้งนี้ ในวันแรกจะเดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรยะลา เพื่อดูหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่โรงพัก ศาลากลางว่าเป็นอย่างไร และจะดูเรื่องยาเสพติด น้ำมันเถื่อน ของหนีภาษี การถูกเอารัดเอาเปรียบและคุณภาพชีวิต โดยจะไปพูดคุยกับชาวบ้านให้เกิดความมั่นใจ และต่อไปก็จะมีจิตอาสาร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งมั่นใจจะได้รับข้อมูลจากบ้าน
"พล.ต.นักรบ" รับคุยสันติยังลดความรุนแรงไม่สำเร็จ
พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) 1 ในคณะทีมพูดคุยสันติภาพ กับกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น ตั้งแต่ครั้งแรก เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ในการพูดคุยสันติภาพวันที่ 13 มิ.ย.นี้ ยังไม่ทราบว่าจะเป็นคณะชุดเดิมหรือไม่ เพราะยังไม่มีการนัดประชุม คาดว่า จะเป็นช่วงใกล้ๆ วันนัดหมาย ทั้งนี้ ในส่วนตัวมองว่า ในการพูดคุยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการทำความเข้าใจ การรู้จักตัวตนของอีกฝ่าย แต่ถ้ามองในเรื่องการลดสถานการณ์ความรุนแรงแล้ว ต้องยอมรับว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในเรื่องนี้ต้องใช้เวลา ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่านานเท่าไรความสงบจะเกิดขึ้น แต่ทางภาครัฐพยายามอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ พล.ต.นักรบ ยังบอกว่า ตามหลักสากล การพูดคุยสันติภาพในช่วงแรกก็จะเป็นบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงในการเข้าไปพูดคุย เพราะรู้ถึงปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปในเบื้องต้นแล้วจึงให้ทางภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมต่อไป