ซีเกมส์มหกรรมกีฬาพื้นบ้าน

ซีเกมส์มหกรรมกีฬาพื้นบ้าน

ซีเกมส์มหกรรมกีฬาพื้นบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งมหกรรมกีฬาสำคัญ ที่ชาติในภูมิภาคนี้ให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ คือกีฬาซีเกมส์ที่ในอดีต คือกีฬาแหลมทอง

โดยครั้งแรกในปี 2502 มีห้าชาติเข้าร่วมการแข่งขันคือ ประเทศไทย, ประเทศมาเลเซียที่ตอนนั้นยังเป็นมลายาใต้, ประเทศเวียดนามใต้ที่ตอนนั้นยังไม่รวมประเทศกับเวียดนามเหนือ, ประเทศพม่า และประเทศกัมพูชา ก่อนที่จะมีประเทศสมาชิกในภูมิภาคเดียวกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันถึง 11 ประเทศด้วย

แต่ประเด็นสำคัญที่อยากเขียนถึงเรื่องซีเกมส์ในวันนี้ เพราะวันก่อนได้อ่านข่าวเกี่ยวกับสหพันธ์กีฬาของประเทศฟิลิปปินส์ที่อาจจะงดส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในกีฬาซีเกมส์อีกสองปีข้างหน้า ที่ประเทศสิงคโปร์

เนื่องจากซีเกมส์ ที่กำลังจะมาถึงปลายปีนี้ซึ่งประเทศพม่ารับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพเพิ่มกีฬาพื้นบ้านมากเหลือเกิน แถมยังตัดกีฬาสากลที่ใช้ในการแข่งขันระดับโอลิมปิกไปอีกหลายชนิดกีฬาอีกต่างหาก

สำหรับรายละเอียดชนิดกีฬาที่จะใช้แข่งขันที่กรุงเนปิดอว์นั้น พอสรุปได้ว่ามีทั้งหมดให้ชิงชัย 33 ชนิดกีฬา 460 เหรียญทอง แต่มีกีฬาสากลเพียงแค่ 17 ชนิดกีฬาเท่านั้น นอกนั้นเป็นกีฬาพื้นบ้านของประเทศพม่าที่เน้นเรื่องของการต่อสู้เป็นหลัก

ซึ่งมีหลายประเทศที่โดนผลกระทบรวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย เนื่องจากกีฬาที่เป็นสไตล์การต่อสู้มักมีความผิดพลาดของการให้คะแนนมากกว่าชนิดกีฬาประเภทอื่น

โดยกีฬาประเภทสากลที่ถูกตัดออกไปมีทั้งเทนนิส, เทเบิลเทนนิส, แบดมินตัน, ยิมนาสติกและฮอกกี้ ซึ่งเป็นประเภทกีฬาที่เราได้เหรียญทองทุกครั้ง

ขณะที่กีฬาพื้นบ้านหลายชนิดที่ถูกบรรจุในการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ประกอบไปด้วยเพาะกาย, เรือประเพณี, หมากรุก ปันจักสีลัต, โววีนั่ม, เปตอง, มวยไทย และ โชรินจิ-เคมโป ทั้งหมดรวมกันก็ 8 ชนิด ชิงชัยรวมกันทั้งหมด 142 เหรียญทอง หรือประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ ของการชิงเหรียญรางวัลทั้งหมด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในเรื่องของกีฬาพื้นบ้านคือ กติกาที่ทางฝ่ายเจ้าภาพอาจจะยึดกติกาพื้นบ้านของเจ้าถิ่นเป็นหลัก ซึ่งยังไงนักกีฬาชาติอื่นรวมทั้งไทยเราด้วยคงไม่แม่นกฎเท่ากับประเทศที่มีกีฬาชนิดนั้นอยู่แล้ว โอกาสที่จะต้องเสียเหรียญทองไปร้อยกว่าเหรียญแทบจะแน่นอนเลยทีเดียว บางชนิดกีฬาก็ไม่เคยได้ยินแถมไม่มีนักกีฬาไทยของเราเข้าร่วมการแข่งขันอีกต่างหาก

หลายคนอาจจะสงสัยสามชนิดกีฬาที่ไม่เคยได้ยินอย่าง ปันจักสีลัต, โววีนั่ม และ โชรินจิ-เคมโป เริ่มจากปันจักสีลัตก่อน คือกีฬาศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ถ้าพูดกันตรงๆ ก็ไม่ต่างในแง่ของความหมายจากกีฬาสากลอย่างยูโด เทควันโดที่ใช่มือเปล่าเหมือนกัน แต่ความต่างอยู่ที่ท่าทางการต่อสู้มากกว่า ซึ่งในเมืองไทยไม่เคยได้ยินโรงเรียนสอนการต่อสู้ปันจักสีลัตเลยสักนิด

ขณะที่โววีนั่มให้แปลตรงตัวเลยคือศิลปะการป้องกันตัวของประเทศเวียดนาม ก็คงยากที่คนไทยและนักกีฬาจะเข้าใจอย่างแน่นอนถึงไปแข่งก็คงสู้เจ้าภาพหรือนักกีฬาเวียดนามไม่ได้อย่างแน่นอน ส่วน โชรินจิ-เคมโป คือศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งที่รวมทั้งมวยจีน, เทควันโด, ยูโด และคาราเต้ในกีฬาเดียวกัน

แต่หลักๆ เลยคือกีฬาต่อสู้ที่เป็นกีฬาพื้นบ้านเหล่านี้มักจะตัดสินด้วยสายตาจากกรรมการที่เจ้าภาพตั้งขึ้นมาและบ่อยครั้งที่ผลการตัดสินมักจะค้านสายตาของผู้ชมเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้นความหวังในการคว้าเหรียญจากกีฬาเหล่านี้ของทัพนักกีฬาไทยไม่ต้องไปตั้งความหวังเลยด้วยซ้ำ

ที่สำคัญตอนนี้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างขัดแย้งกันในประเด็นของการให้ความสำคัญกับกีฬาสากลกับกีฬาพื้นบ้าน ทางฝ่ายที่สนับสนุนเน้นกีฬาสากลประกอบไปด้วยประเทศไทย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และมาเลเซีย

ขณะที่ฝั่งตรงข้ามที่สนับสนุนกีฬาพื้นบ้านมีแกนนำคือประเทศเวียดนามและประเทศพม่านั้น เรื่องนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะผลกระทบอาจจะถึงขั้นที่ทำให้กีฬาซีเกมส์ถูกยกเลิกได้เลย

เป้าหมายของการแข่งขันกีฬา การจัดมหกรรมกีฬาในครั้งแรกที่มีในทุกๆ รายการก็คือเพื่อความร่วมมือ แสดงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้

แต่เมื่อประเทศต่างๆ ต้องการที่จะเป็นผู้ชนะด้วยเหตุผลของศักดิ์ศรีและความเป็นชาตินิยมที่ตัวเองต้องเหนือกว่า ทำให้สิ่งที่ประเทศสมาชิกมองนั้นต่างออกไปจากจุดประสงค์ของการจัดการแข่งขัน

ถ้าเป็นแบบนี้ถามว่ากีฬาซีเกมส์ที่จัดกันทุกสองปีจะมีคุณค่าอะไรกับประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน นอกจากประเทศเจ้าภาพที่ได้แสดงความยิ่งใหญ่ ความเด่นของนักกีฬาตัวเองและประชาสัมพันธ์ประเทศตัวเองในแค่ระดับภูมิภาคหนึ่งบนโลกเท่านั้น

แต่พอไปแข่งกีฬาระดับนานาชาติอย่างเอเชียนเกมส์ หรือ โอลิมปิก ก็คงเป็นเพียงไม้ประดับ ไม่ต่างจากกบในกะลาที่เล่นกีฬาพื้นบ้านอันแสนยิ่งใหญ่ของตัวเองอยู่ในหนองน้ำเล็กๆ ของตัวเองเท่านั้นครับ

เรื่องโดย "หมอเมา"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook