คืนนี้! ซูเปอร์มูน ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ รายงานผ่านเว็บไซต์ว่า ช่วงเย็นวันนี้ (23 มิ.ย.) เวลาประมาณ 18.11 น. ตามเวลาในประเทศไทย ดวงจันทร์จะโคจรมาเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,989 กิโลเมตร และเนื่องจากเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงพอดี ผู้คนบนโลกจึงสามารถมองเห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 2-3%
ตามปกติแล้วดวงจันทร์จะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 1รอบ ใช้ระยะเวลา 1เดือน ดังนั้น ในทุกๆ เดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ช่วงของวงโคจรที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างประมาณ 356,000กิโลเมตร ส่วนช่วงของวงโคจรที่ห่างจากโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างประมาณ 407,000 กิโลเมตร
การที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ทิศทางของแรงกระทำต่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ดังนั้นการที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่มีวงโคจรมา ใกล้โลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกในคืนวันเพ็ญลักษณะเช่นนี้ เกิดครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2555 (ตามเวลาในประเทศไทย 10.34 น.) ที่ระยะห่าง 356,953 กิโลเมตร
สำหรับปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2557 ที่ระยะห่าง 356,896 กิโลเมตร
ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (www.narit.or.th) เรียบเรียงโดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์