BRNยื่นรัฐบาลไทยถอนทหารตร.ออกลดรุนแรงรอมฎอน

BRNยื่นรัฐบาลไทยถอนทหารตร.ออกลดรุนแรงรอมฎอน

BRNยื่นรัฐบาลไทยถอนทหารตร.ออกลดรุนแรงรอมฎอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

''ฮัสซัน ตอยิบ'' แถลงฉบับ 4 ยื่นเงื่อนไขยุติช่วงเดือนรอมฎอน ขอรัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจออกจากพื้นที่ และให้ นายกฯ ลงนามเงื่อนไข ประกาศ 3 ก.ค. นี้ ด้าน ''พล.ท.ภราดร'' ไม่หนักใจ หลัง BRN ปล่อยคลิปยื่น 7 ข้อ ยัน รอเอกสารทางการจากมาเลเซีย

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ BRN  นำโดย ฮัสซัน ตอยิบ เผยแพร่ประกาศฉบับที่ 4 ลงนามเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 56 โดย ฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนของบีอาร์เอ็น ในการเจรจาข้อตกลงสันติภาพกับรัฐไทย โดยมีเนื้อหาระบุว่าจะยุติการปฏิบัติการทางทหารในช่วงเดือนรอมฎอน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา โดยมีเงื่อนไขคือ ให้รัฐไทยถอนทหารและทหารพราน รวมถึง กำลังตำรวจและตำรวจชายแดน ออกจากพื้นที่ ให้ปล่อยบรรดา อส. ที่นับถือศาสนาอิสลามจากการประจำการในช่วงรอมฎอน เพื่อให้ปฏิบัติศาสนกิจ มิให้รัฐไทยจับกุมหรือควบคุมตัว และมิให้จัดกิจกรรมทางสังคม 

ทั้งนี้ ฮารา ชินทาโร่ อาจารย์ด้านภาษามลายูจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เผยแพร่คำแปลของประกาศดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการ ดังนี้

คำประกาศ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ครั้งที่ 4 อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยและตัวแทน BRN ตามข้อตกลงระหว่างแนวรวมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานีกับนักล่าอาณานิคมสยาม ในวันที่ 13 มิ.ย. 2013 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย (ทั้งสองฝ่าย) ตกลงกันว่าจะลดปฏิบัติการทางทหารที่ปาตานี คือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา ตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ปี 2013 ฝ่ายแนวร่วมแห่งชาติมลายูปาตานี ลงมติที่จะยุติปฏิบัติการทางทหารตลอดช่วงเดือนรอมฎอนและ 10 วันแรกของเดือนชาวัล ฮิจเราะห์ศักราช ไม่ใช่แค่ลดปฏิบัติการทางทหาร โดยมีเงื่อนไขและขอบเขตดังต่อไปนี้

1. นักล่าอาณานิคมสยามต้องถอนกำลังทหารและทหารพรานที่มาจากภาค 1, 2, 3 ทั้งหมด และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกส่งมาจากศูนย์กลาง ออกจากปาตานี ซึ่งก็คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา

2. แม่ทัพภาคที่ 4 ต้องถอนทหารและทหารพรานออกจากเขตหมู่บ้านในปาตานี คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา ให้อยู่ค่ายใหญ่ของแต่ละหน่วย

3. ให้ (รัฐสยาม) ถอนกำลังตำรวจและตำรวจชายแดนออกจากเขตหมู่บ้านในปาตานี คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา

4. ปล่อยบรรดา อส. ที่นับถือศาสนาอิสลาม (ไม่ให้ประจำการ) ตลอดช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อที่จะพวกเขาสามารถปฏิบัติศาสนกิจ และสามารถใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์

5. นักล่าอาณานิคมสยามไม่สามารถทำการโจมตี การสกัดถนน และการจับ/ควบคุมตัวอย่างเด็ดขาด

6. นักล่าอาณานิคมไม่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอน

7. ขอบเขตและเงื่อนไขดังกล่างต้องมีการลงนามของนายกรัฐมนตรีของฝ่ายนักล่าอาณานิคมสยาม (รัฐสยาม) และต้องทำการประกาศในวันที่ 3 กรกฎาคม 2013

เงื่อนไขและขอบเขตเหล่านี้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 รอมฎอน 1434 ฮิจเราะห์ศักราช ถึง วันที่ 10 ชาวัล 1434 ฮิจเราะห์ศักราช เพื่อเป็นการแสดงเกียรติต่อชาวอิสลามมลายูปาตานี และเพื่อที่จะพวกเขาสามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างสมบูรณ์ ฝ่ายรัฐ/ฝ่ายเจ้าหน้าที่ควรให้คำสั่งเพื่อไม่ขายเหล้าหรือสิ่งที่ทำให้เมา และปิดแหล่งบังเทิงและแหล่งอบายมุขตลอดช่วงเดือนรอมฎอน ที่นี่ พวกเราขอเรียกร้องให้ทุกชนชั้น ทุกคนในสังคม ประชาสังคม องค์กร NGO โดยเฉพาะบุคคลสำคัญทางด้านศาสนาในปาตานี ให้ความสำคัญแก่เงื่อนไขและขอบเขตที่กล่าวมาข้างบน

คำเตือน
 
เราขอเน้นอีกครั้งว่า การเจรจาสันติภาพระหว่าง BRN กับนักล่าอาณานิคมสยามมิอาจเกิดขึ้นตราบใดที่นักล่าอาณานิคมสยามไม่ดำเนินและให้คำตอบต่อประเด็นต่อไปนี้

1. ข้อเรียกร้อง 5 ข้อจาก BRN ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของรัฐสยาม
2. การเจรจาสันติภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติ
3. ต้องกำหนดฐานะของหัวหน้าคณะตัวแทนไทยและฐานะของหัวหน้าคณะนั้นต้องมั่นคง
4. ไม่มีการเจรจาลับหรือไม่เปิดเผย 

** วัสลาม ขอให้ทุกท่านปฏิบัติศาสนกิจถือศีลอดอย่างสมบูรณ์ เซอ ลา มัต ฮา รา รายา และ มา อัฟ ซาฮิร ดัน บาติน

 

ภราดรรอข้อเสนอทางการBRNชงถอนทหารตร.

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ไม่หนักใจกับคลิปของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ยื่น 7 ข้อเสนอ และถูกเผยแพร่เมื่อคืนที่ผ่านมา เพราะเป็นการยื่นข้อเสนอที่ไม่เป็นทางการ และยังยึดหลักในวงพูดคุยสันติภาพ ที่กลุ่มบีอาร์เอ็นต้องยื่นเอกสารข้อเสนอผ่านรัฐบาลมาเลเซีย ก่อนที่ทางรัฐบาลมาเลเซียจะส่งต่อมายังประเทศไทย คาดว่าภายในวันศุกร์นี้ คงจะได้รับเอกสารดังกล่าว ซึ่งหากเนื้อหาตรงกันก็จะนำเข้าที่ประชุมของศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต. เพื่อหารือต่อไป

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า ข้อเสนอจากคลิปดังกล่าว ยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และขณะนี้ทำได้เพียงรับฟังเท่านั้น และการปล่อยคลิปของกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นลักษณะปฏิบัติการข่าวสารและจิตวิทยาเพื่อดึงมวลชน

 

'ศรีสมภพ'แนะรบ.ระวังข่าวเปลี่ยนกลุ่มพูดคุย

นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า การก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ มี 2 ประเด็น คือ เป็นการเร่งก่อเหตุก่อนเดือนรอมฎอน และช่วงใกล้เดือนรอมฎอน ซึ่งส่วนใหญ่ยังพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่สถานการณ์ในภาพรวมยังคงที่ เพราะการพูดคุยที่ผ่านมา ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนรุ่นใหม่ แต่อยากแนะนำรัฐบาลให้ระมัดระวังเรื่องการให้ข่าว กรณีจะเปลี่ยนกลุ่มพูดคุยหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น เพราะอาจทำให้สถานการณ์เปลี่ยน ส่วน 5 ข้อเสนอ ของกลุ่ม BRN นั้น ประชาชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทางด้านกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ก็พบว่า BRN ยังเป็นตัวหลักในการดำเนินการ

ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ 29-30 มิถุนายน นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี และอาจเป็นการลงพื้นที่เพื่อสั่งการเรื่องการป้องกันเหตุร้าย แต่อยากแนะนำให้ระวังท่าทีและคำพูด อย่าให้รุนแรงกับอีกฝ่ายมากเกินไป ส่วนเหตุระเบิดหน้าปากซอยรามคำแหง 43/1 นั้น ส่วนตัวเชื่อว่า เป็นเรื่องขัดผลประโยชน์ มากกว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภาคใต้

 

'อาซิส' ชี้ 7 ข้อเสนอ BRN ยังไม่เป็นทางการ

นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สปต. กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า คลิปของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ยื่น 7 ข้อเสนอนั้น เป็นการยื่นข้อเสนอที่ไม่เป็นทางการ เพราะต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งจะทันเข้าเดือนรอมฎอนหรือไม่นั้น ก็จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ส่วนข้อเสนอที่ระบุว่าต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามและประกาศนั้น ฝ่ายนโยบายจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้ ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า การพูดคุยสันติภาพ ยังไม่สามารถที่จะยกระดับเป็นการเจรจาได้อย่างแน่นอน เพราะต้องมีการกำหนดกรอบการพูดคุยอย่างชัดเจนก่อน

 

 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook