กลุ่มญาติวีรชนแถลงพรบ.นิรโทษฯไม่โปร่งใส
กลุ่มญาติวีรชน แถลง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน เชื่อ ไม่มีความโปร่งใส สอดแทรกผลประโยชน์ - บุกยื่นหนังสือถึง นายกฯ 16 ก.ค. นี้ ด้าน ตัวแทนญาติผู้เสียชีวิต ชี้แจง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน
วันนี้ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 กลุ่มญาติของผู้ที่เสียชีวิตจากการชุมนุมเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 นำโดย นางพะเยาว์ อัคฮาด นายพันศักดิ์ ศรีเทพ และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ประชาชน ซึ่งได้กระทำความผิดต่อความสงบเรียบร้อย หรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
โดย นางพะเยาว์ กล่าวถึงเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่า มาจากที่ทางกลุ่มเห็นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่บรรจุอยู่ในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้เเทนราษฎร ทั้ง 5 ฉบับ ไม่มีการถามความเห็นจากญาติของผู้เสียชีวิต จากการชุมนุมเมื่อปี 2553 เลย และเชื่อว่า พ.ร.บ.ทั้ง 5 ร่าง ไม่มีความโปร่งใส มีการสอดไส้เพื่อผลประโยชน์ บุคคลที่เสียชีวิตจากการชุมนุมไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น ทางกลุ่มญาติวีรชน จึงได้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิตและเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. กลุ่มญาติวีรชนจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และในวันที่ 24 กรกฎาคม จะเดินทางไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ด้วย
ญาติวีรชน แจงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ตัวแทนญาติของผู้ที่เสียชีวิตจากการชุมนุมเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 กล่าวชี้แจงรายละเอียดถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ ครอบคลุมตั้งแต่วันที่มีการทำรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 - 9 พฤษภาคม 2554 คือวันที่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาฯ ซึ่งระบุให้การกระทำใดๆ ของบุคคลอันเป็นความผิดตามกฎหมายจากการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.มั่นคง พ.ศ2551 ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และหากเป็นความผิดสถานเบา หรือมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดแต่หากการกระทำที่มีการเตรียมการโดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธหรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิง ปล้นทรัพย์ ให้บุคคลนั้นยังมีความผิด ทั้งนี้หากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ ที่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ให้พ้นจากความผิด แต่หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในฐานะผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ ให้บุคคลนั้นยังมีความผิดตามกฎหมาย เมื่อ พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้กระทำความผิดยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล หรืออยู่ระหว่างสอบสวน ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษา และถ้าอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษสิ้นสุดและปล่อยตัว ผู้ได้รับการนิรโทษกรรม จะได้รับการเยียวยาตามกฎหมายที่กี่ยวข้องเท่านั้น แต่ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ หรือประโยชน์ใดๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ การดำเนินการใดๆ ใน พ.ร.บ.นี้ ไม่ตัดสิทธิ์เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐ ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย