DSIส่งทีมร่วมปปง.สอบทองคำแปดตันอดีตพระเณรคำ
ดีเอสไอ ร่วมกับ ปปง. ตรวจสอบ ทองคำ น้ำหนัก 8,000 กิโลกรัม ที่ 'เณรคำ' อ้างว่าครอบครอง ยังไม่ยืนยันว่ามีจริง หรือมีจำนวนเท่าใดและเก็บซ่อนไว้ที่ใดบ้างเร่งสรุปสำนวนขอหมายจับพรุ่งนี้ รู้จุดกบดานแล้ว
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ในการตรวจสอบหลักฐานเอาผิด นายวิรพล สุขผล หรือ อดีตพระเณรคำ กรณีเรื่องทองคำน้ำหนัก 8,000 กิโลกรัม ว่า ในเรื่องทองคำจำนวนดังกล่าวเป็นข้อมูลที่กล่าวอ้างในเว็บไซด์ ที่มีการโพสต์ข้อความเพื่อชักจูงหลอกลวง โดยประเด็นหนึ่ง ที่สั่งการให้ชุดสืบสวนสอบสวนลงไปตรวจสอบว่ามีทองคำจำนวนดังกล่าวจริงหรือไม่ ตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งยังไม่มีการยืนยันว่า นายวิรพล มีทองจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองจริงหรือไม่ หรือมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นประเด็นที่เราก็ไม่ได้ตัดทิ้ง กำลังตรวจสอบเช่นกัน ส่วนจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกไปนอกประเทศแล้วหรือไม่ หรือเป็นจำนวนเท่าใด ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ต้องขอเวลาในการตรวจสอบก่อน
ด้าน พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รองผู้บังคับการกองปราบปราม พร้อมพนักงานสอบสวน ประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินคดีกับ นายวิรพล สุขผล หรือ อดีตพระเณรคำ ประธานสำนักสงฆ์ขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ โดยระบุว่า ทางกองปราบปราม จะส่งสำนวนการสอบสวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ เพื่อไปรับดำเนินการต่อเพราะทาง ดีเอสไอ รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษแล้ว โดยหากดีเอสไอต้องการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ ส่วนคดีที่ นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เข้าร้อง เพื่อให้ตรวจสอบอดีตพระเณรคำในคดีฉ้อโกงและความผิดอื่น ๆ นั้น กองปราบปราม จะไม่มีการออกหมายจับ ซึ่งสำนวนคดีนี้ ก็จะส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับไปดำเนินการด้วยเช่นกัน
ดีเอสไอ เชื่อ เณรคำ มีทองคำจริง แต่อาจไม่ถึง 8 ตัน
นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและวิเคราะห์คดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผย ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า กรณีที่มีสังคมสงสัยว่า อดีตพระเณรคำ มีทองคำ เก็บเอาไว้มากถึง 8,000 กก. ตามที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์ หรือไม่ นั้น เรื่องนี้ ดีเอสไอ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ระดมตรวจสอบว่ามีทองคำจำนวนดังกล่าวจริงหรือไม่ ซึ่งแนวทางสอบสวนเชื่อว่า อดีตพระเณรคำ มีทองคำจริง แต่อาจจะไม่ได้มากถึงขนาดนี้ก็เป็นได้ เพราะข้อมูลที่เสนอในเว็บไซต์นั้น อาจจะเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ ให้คนมาบริจาคเงินและทองคำมากขึ้นเท่านั้น ความจริง ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่ง ดีเอสไอจะเร่งตรวจสอบต่อไป
นอกจากนี้ ที่มีกระแสข่าวทำนองว่า ทองคำส่วนใหญ่อยู่กับบรรดาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้น เรื่องนี้ไม่ขอยืนยันว่าจริงหรือไม่ และทองคำ อาจถูกเก็บซ่อนไว้ในตู้เซฟ หรือที่ส่วนตัว มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ ในการพิสูจน์ความจริงอยู่แล้ว
DSI เร่งสรุปสำนวนขอหมายจับเณรคำ พรุ่งนี้ รู้จุดกบดานแล้ว
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดี นายวิรพล สุขผล หรือ อดีตพระเณรคำ ประธานสำนักสงฆ์ขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ โดยระบุว่า ขณะนี้ สิ่งที่ ดีเอสไอ เร่งดำเนินการคือ การรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขออนุมัติศาลออกหมายจับ นายวิรพล ใน 2 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 กรณีเว็บไซต์ของนายวิรพล เข้าข่ายเป็นการหลอกลวงประชาชน 2.กระทำชำเราและพรากผู้เยาว์เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งพนักงานสอบสวน เชื่อมั่นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะออกหมายจับได้ แม้ว่าทางครอบครัวของนายวิรพล จะไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ทราบก็ตาม ทั้งนี้ คาดว่า พนักงานสอบสวน จะดำเนินการออกหมายจับ นายวิรพล ได้ภายในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.พงษ์อินทร์ ยังระบุด้วยว่า ล่าสุด ดีเอสไอ รู้จุดที่พักพิงของ นายวิรพล แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดต่อสื่อมวลชนได้ เนื่องจากเกรงว่า จะส่งผลกระทบกับรูปคดี
สภาทนายความแถลงไม่รับช่วยเหลือคดีเณรคำ
สภาทนายความ ลงความเห็น ไม่รับช่วย นายวิรพล สุขพล หรือ เณรคำ หลัง นายสุขุม วงประสิทธิ ผู้ประสานงานสำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงสภาทนายความ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยขอให้ส่งทนายความผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายปกครองสงฆ์ ร่วมฟังการสอบข้อเท็จจริง ในการสอบสวนกรณีของ เณรคำ ที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน กระทำความผิดพระวินัยสงฆ์ และมีความประพฤติไม่เหมาะสม
เรื่องดังกล่าว นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายสภาทนายความ ได้แถลงผลการพิจารณา ว่า ที่ผ่านมา จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณชนนั้น ปรากฏว่า ผู้ร้องมีทรัพย์สินเพียงพออยู่ในฐานะที่จะทำการจัดหาทนายความเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองได้ จึงไม่ถือว่าเป็นผู้ยากไร้ ส่วนกรณีการไม่ได้รับความเป็นธรรม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว และเท่าที่สภาทนายตรวจสอบ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 78 สภาทนายความ จึงมีคำสั่งไม่รับให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย