อธิการบดีลาดกระบังออกโรงโต้แก้เกรดให้ลูก-ชี้เหตุการเมืองภายในโดนกลั่นแกล้ง ขู่เล่นงานกลับตามกม.
กรณีกลุ่มผู้บริหาร คณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง เข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ร้องเรียนว่ามีการแก้ไขเกรดอย่างไม่ถูกต้องถึง 8 วิชาให้กับลูกชายของผู้บริหารระดับสูงนั้น
นายถวิล พึ่งมา อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ก่อนที่เข้ามาเป็นอธิการบดี โดยตนเข้ามารับตำแหน่งช่วงเดือนสิงหาคม 2555 นับถึงวันนี้เป็นเวลาประมาณ 10 เดือน ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการเมืองภายใน เพราะมีการร้องเรียนมานานแล้ว และทางสภาสถาบันที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นนายกสภาสถาบัน ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่มีนายพจน์ สะเพียรชัย อุปนายกสภาสถาบันเป็นประธานสอบสวน
"ผลสอบพบว่ามีการแก้ไขเกรดวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งทางคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้เชิญผมไปสอบปากคำ มีผลสรุปออกมาแล้วว่า มีการแก้เกรดในวิชาดังกล่าวจริง แต่ยังไม่สรุปว่าเกิดจากความผิดพลาดประการใด และจากการสอบสวนสรุปว่าผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายทะเบียน ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ และหัวหน้าสาขา ซึ่งเป็นรองอธิการบดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน"นายถวิลกล่าว
"ตามระบบการแก้เกรดของสจล. ไม่ใช่เรื่องง่ายไม่ใช่จะแก้ได้คนเดียว จะต้องมีผู้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ฝ่าย คืออาจารย์ผู้สอนและฝ่ายทะเบียน ถ้าจะเข้าไปแก้เกรดของนักศึกษาได้ ต้องมีทั้งรหัสของฝ่ายทะเบียนและรหัสประจำตัวของอาจารย์ผู้สอน จะใช้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ต้องใช้รหัสของทั้งสองคน จึงจะสามารถเข้าไปแก้เกรดให้นักศึกษาได้"นายถวิลกล่าวและว่า ถึงแม้ตนเป็นเป็นอธิการบดี ก็ไม่สามารถแก้เกรดให้ใครได้เพราะไม่มีรหัสดังกล่าว ถ้าจะแก้ให้ลูกจริงๆ คงแก้ให้ได้เกรดมากกว่านี้
นายถวิลกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองภายในสถาบัน คนที่ร้องน่าจะเป็นผู้บริหารจากกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ จะมีผู้บริหารระดับคณบดี และผู้อำนวยการวิทยาลัย ประมาณ 7 คน หมดวาระ และเขาคงเกรงว่าถ้าตนยังเป็นอธิการบดีอยู่ จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งระดับบริหารต่อไปอีก จึงรื้อเรื่องนี้ขึ้นมา ทั้งที่หลังจากที่อาจารย์กลุ่มดังกล่าวร้องเรียนมายังสภาสถาบันรอบที่ 2 ทางสภาสถาบัน ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นอีก 2 ชุด ชุดแรกดูกระบวนการสอบสวนวินัยผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการแก้เกรด และชุดที่สองดูทั้งระบบว่าที่ผ่านมาแก้เกรดให้นักศึกษามากน้อยแค่ไหน จากการตรวจสอบก็พบว่า เคยมีการแก้เกรดให้นักศึกษาไปแล้วกว่า 100 ราย
"การแก้เกรดส่วนใหญ่จะมี 3 กรณี คือ 1. นักศึกษาที่ได้คะแนนต่ำ แล้วมาขออาจารย์แก้ตัว โดยอาจารย์อาจจะให้งานไปทำ เมื่อผ่านก็แก้เกรดให้เพื่อปรับเกรดขึ้น กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ปี 3-4 ขอปรับขึ้นไม่ให้โดนรีไทร์ 2. กลุ่มที่เกรดผิดพลาดจากระบบคอมพิวเตอร์ และ 3.กลุ่มที่อาจารย์กรอกคะแนนผิด จึงต้องขอปรับแก้ให้ถูกต้อง ลูกชายผมจะเข้าข่ายกลุ่มที่ 3 โดยกลุ่มผู้ร้องได้สร้างเรื่องเป็นกระบวนการให้มีผู้มาร้องขอให้ตรวจสอบคะแนนวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งเด็กคนที่ร้องคนแรก มีชื่อติดกับลูกของผม และพบว่าวิชาดังกล่าวเกรดผิดจริง เกรดของเด็กคนที่ร้อง ในระบบได้เกรด D ทั้งที่เกรดจริงได้ B แต่ของลูกผมในระบบเป็น B แต่เกรดจริงเป็น D" นายถวิลกล่าว และว่า ส่วนที่ระบุว่าตนเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ เมื่อทางอาจารย์ผู้สอนร้องเรียนว่า เกรดของลูกชายตนมีความผิดพลาดนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะทันทีที่เห็นการร้องเรียน ได้มีคำสั่งไปว่า ขอให้แก้ไขให้เป็นเกรดที่ถูกต้องทันที
"สำหรับผมหากสภาสถาบันสรุปว่าไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และรู้ตัวชัดเจนว่าใครเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด"นายถวิลกล่าว
นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า ตามปกติถ้ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอธิการบดี มายังสกอ. ทางสกอ.จะทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง หากสภามหาวิทยาลัยเห็นว่ามีมูลผิดวินัยตามที่ถูกร้องเรียนจริง จะต้องตั้งกรรมการสอบสวนตามขั้นตอน อย่างไรก็ตามช่วงนี้ถือเป็นช่วงปรับเปลี่ยนตำแหน่ง มักจะมีเรื่องร้องเรียนอธิการบดี มาถึงสกอ.จำนวนมาก กรณีที่ร้องมาตลอดคือ การสรรหาอธิการบดี ที่ขอให้ทบทวนการเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดี