2สมาคมสื่อออกแถลงการณ์เสรีภาพในการทำงานของสื่อ

2สมาคมสื่อออกแถลงการณ์เสรีภาพในการทำงานของสื่อ

2สมาคมสื่อออกแถลงการณ์เสรีภาพในการทำงานของสื่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน แนวปฏิบัติร่วมกันระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 'ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่องแนวปฏิบัติในการทำข่าว ช่วงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ'

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ร่วม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเรื่อง แนวปฏิบัติในการทำข่าว ช่วงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ตั้งแต่วันที่ 1-10 สิงหาคม 2556 เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่  โดยแนะแนวทางดังนี้  1.กรณี "ปลอกแขน" ขอให้นักข่าวติดปลอกแขนของสมาคม และพกบัตรนักข่าวของหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน  2. "การจัดพื้นที่ปลอดภัย" และ "การให้เวลาเพียงพอ" ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับปากและยืนยันว่า ในกรณีที่จะมีการสลายการชุมนุม หรือ ระงับเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น จะมีการประกาศเตือนอย่างเป็นระบบ และให้เวลาเพียงพอ แก่สื่อมวลชนในการเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่  แต่หากสื่อมวลชน ยังทำหน้าที่ต่อ จะจัดพื้นที่ ที่ปลอดภัยให้  3. ในกรณีที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น สื่อมวลชนสามารถสอบถามชื่อของผู้ทำหน้าที่ประสานงานกลางได้จากองค์กรวิชาชีพสื่อ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้

 

แถลงการณ์ฉบับเต็ม

แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
เรื่อง แนวปฏิบัติในการทำข่าว ช่วงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
ตั้งแต่วันที่ 1-10 สิงหาคม 2556

ตามที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-10 สิงหาคม 2556 ในพื้นที่ 3 เขตของกทม. คือ เขตดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่าย ทั้งนี้เพื่อรองรับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

สององค์กรวิชาชีพสื่อ โดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอยืนยันถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนที่จะสามารถเข้าทุกพื้นที่ของการชุมนุมทางการเมืองเพื่อนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ แต่จากเหตุการณ์ การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา มีสื่อมวลชนหลายคนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน สมาคมนักข่าวทั้งสอง จึงประชุมร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อวางแนวปฏิบัติร่วมกันดังนี้

1. กรณี "ปลอกแขน" สำหรับนักข่าวนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถสังเกตเห็นนักข่าวได้จากระยะไกล หรือในสภาวะชุลมุน แต่ปลอกแขนไม่ใช่สัญลักษณ์ที่ระบุถึงการลงทะเบียนว่า นักข่าวคนใดที่สามารถทำข่าวในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ ตามกรอบสิทธิเสรีภาพของวิชาชีพสื่อสารมวลชนแล้ว นักข่าวย่อมได้รับการคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่ในสนามข่าว โดยทางสมาคมนักข่าวฯ ได้เน้นย้ำกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ให้ใช้ดุลยพินิจตามกรอบกฎหมายพื้นฐาน โดยอาศัยเจตนาและพฤติกรรม ของนักข่าวและสื่อสารมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ หากนักข่าวมิได้แสดงเจตนา หรือ พฤติกรรม ในการยั่วยุ หรือ ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ นักข่าวที่อยู่ในสถานการณ์การชุมนุมไม่ถือว่าเป็นผู้ร่วมชุมนุม และจะต้องได้รับการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิในการปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์ ไม่ว่านักข่าวผู้นั้นจะสวมปลอกแขนหรือไม่ก็ตาม

ทั้งนี้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ สมาคมนักข่าวฯ ขอให้นักข่าวติดปลอกแขนของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และพกบัตรนักข่าวของหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดสามารถขอปลอกแขนดังกล่าวได้ที่สมาคมนักข่าวฯ โดยให้ทำจดหมาย ถึง นายกสมาคมฯ เพื่อระบุจำนวนปลอกแขนที่ต้องการ ส่วนการออกหมายเลขที่จะเขียนบนปลอกแขนนั้นให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการเอง

สมาคมนักข่าวฯ สนับสนุนให้หน่วยงานต้นสังกัด ทำหนังสือถึงนายกสมาคมนักข่าวฯ เพื่อประสานงานขอปลอกแขนดังกล่าว ส่วนสำนักข่าวและนักข่าวที่ไม่ได้สังกัดกับทางสมาคมนักข่าวฯ เช่น นักข่าวอิสระ นักข่าวภูมิภาค และนักข่าวต่างประเทศ ก็สามารถดำเนินการขอปลอกแขนดังกล่าวจากสมาคมนักข่าวฯได้ โดยนำหลักฐานจากต้นสังกัด หรือ สำนักข่าวที่ตนเองทำข่าวมายืนยัน

2. "การจัดพื้นที่ปลอดภัย" และ "การให้เวลาเพียงพอ" ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับปากและยืนยันว่า ในกรณีที่จะมีการสลายการชุมนุม หรือ ระงับเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะประกาศเตือนอย่างเป็นระบบ และให้เวลาเพียงพอ แก่สื่อมวลชนในพื้นที่ในการเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ ที่อาจมีความรุนแรง แต่ในกรณีที่สื่อมวลชนเลือกที่จะปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อ ในขณะที่เกิดเหตุรุนแรง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะจัดพื้นที่ปลอดภัยให้กับสื่อมวลชน ในกรณีที่มีการใช้ แก๊สน้ำตา หรือ เครื่องมือปราบจลาจลรูปแบบต่างๆ โดยสื่อมวลชนต้องแสดงปลอกแขนที่มีรหัสตัวเลขร่วมกับบัตรสื่อมวลชนจากหน่วยงานต้นสังกัดในการเข้าพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว

3. ทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานกลาง เพื่อทำหน้าที่ประสานความเข้าใจและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน ในกรณีที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น โดยสื่อมวลชนสามารถสอบถามชื่อของผู้ทำหน้าที่ประสานงานกลางได้จากองค์กรวิชาชีพสื่อ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอสนับสนุน ให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่ในการเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มแข็ง เพื่อประโยชน์และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างแท้จริง และเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเคารพสิทธิเสรีภาพ และเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
3 สิงหาคม 2556


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook