"หมวดเจี๊ยบ" เผย "ชัชชาติ" จะใช้ยางพารามาสร้างถนน

"หมวดเจี๊ยบ" เผย "ชัชชาติ" จะใช้ยางพารามาสร้างถนน

"หมวดเจี๊ยบ" เผย "ชัชชาติ" จะใช้ยางพารามาสร้างถนน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง และมีแนวทางช่วยเหลือหลายมาตรการ ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่งขณะนี้มีบางมาตรการที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการแล้ว คือการนำยางพารามาใช้ก่อสร้างถนน โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม ไปพิจารณานำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างถนนแบบที่นิยมใช้ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศอีกทางหนึ่ง และยังเป็นการระบายสต๊อกยางพารา รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยางพาราและชาวสวนยางในระยะยาวอีกด้วย โดยวันพรุ่งนี้ (30 ส.ค.56) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะไปสำรวจการนำยางพาราไปใช้ก่อสร้างถนนของกระทรวงคมนาคม บริเวณดอนเมืองโทลล์เวย์ กทม.

ร.ท.หญิงสุณิสากล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมฯ โดยนายกรัฐมนตรี ได้กำชับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ให้กำชับและดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติกับกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวสวนยาง หรือผู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างละมุนละม่อม และปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายเป็นไปตามหลักสากล อย่างไรก็ตาม รัฐบาลขอวิงวอนผู้ชุมนุมอย่าใช้วิธีการปิดถนน หรือปิดสถานีรถไฟ เพราะไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่แท้จริง ทั้งยังทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

 

สำหรับโครงการ ถนนยางพารา ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อปี 2555 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เคยได้คิดไอเดียสร้างถนนยางพารา โดยได้เริ่มนำร่องสร้างแล้วที่บริเวณถนนหมู่ที่ 2 ต.เขาขาว อ.ทุ่งสง ตัดผ่านพื้นที่ขององค์การสวนยาง ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จนถึงถนนสายบ้านคอกช้าง ต.บางขัน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช เป็นระยะทาง 19 กิโลเมตร หรือบริเวณถนนเชื่อมต่อระหว่าง อ.หาดใหญ่ กับ อ.เมืองสงขลา ก็ใช้วิธีดังกล่าวสร้างถนนมาแล้ว

ถนนยางพารา จะใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมหลักในการปูพื้นผิวถนน ด้วยการผสมยางข้นกับยางมะตอยแบบผสมร้อน จะทำให้มีความแข็งแรงทนทานมากกว่าถนนรอดยางมะตอยแบบธรรมดาถึง 2.9 เท่า แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คงที่ตามราคายางพารา แต่ก็ให้อายุการใช้การที่นานขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ใช้ถนนยางพาราในลักษณะนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ มาเลเซีย อินเดีย หรือ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook