เวทีสัมนาศึกคอนเทนต์สะท้านจอ

เวทีสัมนาศึกคอนเทนต์สะท้านจอ

เวทีสัมนาศึกคอนเทนต์สะท้านจอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ม.ศรีปทุม จัดเวทีสัมนา 'ศึกคอนเทนต์สะท้านจอ' ผ่านมุมมองครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ และนักวิชาการอิสระชื่อดัง

นายจักรกฤต โยมพยอมพยอม ครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ กล่าวในเวทีสัมมนา เรื่อง "ศึกคอนเทนต์สะท้านจอ" ซึ่งจัดขึ้นโดยนักศึกษานิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยระบุว่า จุดเริ่มต้นของการคิดคอนเทนต์รายการต่างๆ นอกจากต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าคนดูคือใคร แต่ต้องตอบให้ได้ว่า อยากให้คนดูได้อะไรจากการดูรายการ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง จึงต้องพัฒนาผลงานให้ทันสมัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ชม เพื่อให้เลือกเสพสื่อที่แต่ละองค์กรสร้างสรรค์ขึ้นมา 

นอกจากนี้ หลายรายการก็พยายามสร้างกระแสให้เกิดขึ้น เช่น กรณีรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ที่มีการเชิญให้ผู้หญิงมาร่วมแสดงถอดเสื้อและวาดภาพกลางรายการ หรือการให้ผู้ป่วยทางจิตมาออกรายการ แม้รายการจะออกอากาศไปแล้ว แต่สิ่งสำคัญนอกจากความรับผิดชอบ คือ การนำมาเป็นบทเรียนและไม่ทำอีก

ด้าน นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิจัยชำนาญการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ หรือ สวส. กล่าวว่า "การแข่งขันของสื่อมวลชน ขณะนี้ทำให้เกิดปัญหา เพราะผู้ผลิตพยายามทำให้คอนเทนต์โดนใจผู้บริโภค โดยเฉพาะความอยากรู้อยากเห็น ในเรื่องของเพศ ภาวะทางความพิการ ชาติพันธุ์ ซึ่งอาจละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่นี่กลับเป็นเรื่องแปลก ที่สามารถขายได้กับคนไทย โดยไม่ได้สะท้อนความเป็นมืออาชีพของคนผลิต ต่างจากในต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะนำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นเรื่องดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ซีรี่ส์ที่ได้รับความนิยม อย่าง "ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น" ถือว่า เมื่อมองในแง่คุณค่าแล้ว เป็นการผลิตคอนเทนต์ที่ดี มีคุณค่าต่อสังคม เพราะคนในสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มของการคิดรูปแบบเนื้อหา และคอนเทนต์ ในอนาคตอาจมีการพัฒนากล้าคิดกล้าทำมากขึ้น โดยเฉพาะในทีวีดาวเทียมหรือทีวีดิจิตอลในอนาคต

นายสรนัฐ อุณะพำนัก Senior Digital media manager จาก CJ/WORX and SPORE BANGKOK มองว่า "การสร้างแบรน์ด้วยการทำไวรัล มี 2 แบบ คือ การสร้างแบรนด์ด้วยตัวแบรนด์เอง และการสร้างคอนเทนต์ ซึ่งนักการตลาดต้องรู้วิธีการซื้อสื่อให้เหมาะสมกับแบรนด์และตรงเป้าหมาย เพราะการสร้างไวรัลเป็นเสมือนการสร้างอุปทานหมู่ให้คนติดตาม ขณะเดียวกันนักการตลาดก็ต้องใช้สื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวและสิ่งที่เป็นกระแสความนิยม เพราะจะทำให้นักการตลาดสามารถนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้ได้ เช่น หากคนในสังคมกำลังสนใจละคร และมีการพูดถึงเป็นจำนวนมาก ถ้าจะให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ก็เลือกนักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งทำให้ไม่ต้องพยายามสร้างยอดจำนวนผู้เข้าชม เนื่องจากคอนเทนต์จะเป็นตัวที่ดึงดูดผู้บริโภคเอง และบางครั้งคอนเทนต์ในสื่อกระแสหลักก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง เช่น จากปากต่อปาก จนทำให้เกิดการพูดถึงในโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นไวรัลประเภทหนึ่ง ที่นักการตลาดอาจจะแทบไม่ต้องสร้างคอนเทนต์เพิ่มเลย

สำหรับการโฆษณาแฝง หรือ ไท-อิน (Tie-In) นักโฆษณาก็ต้องทำให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงผู้ชม โดยโฆษณาแฝงเหล่านี้อาจจะปรากฏอยู่ในคำพูดของนักแสดง วัตถุ เสื้อผ้า ซึ่งทำให้ผู้ชมแทบจะไม่รู้สึกเลยว่าเป็นการโฆษณาแฝง

ด้าน นางสาววิภูษา สุขมาก ผู้สื่อข่าว รายการข่าว 9 โมง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า "คอนเทนต์ที่ถูกเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย มีหลายครั้งที่สื่อหยิบยกมานำเสนอ สื่ออาจจะไม่ได้มองว่าการนำเสนอเรื่องราวที่ได้รับการพูดถึง จะเป็นการโหมกระแสหรือช่วยสร้างกระแสให้กับละคร ภาพยนตร์ โฆษณา ให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน บางครั้งสิ่งที่สื่อนำเสนอเป็นคอนเทนต์ของตัวเอง ก็อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น ภาพข่าวของนักแสดงจากโซเชียลมีเดีย"

นอกจากนี้ ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่เพียงเฉพาะแต่ฟรีทีวี ทีวีดาวเทียมที่เกิดขึ้น แต่กระบวนทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไป ยังทำให้สื่ออาจต้องตั้งคำถามว่า ได้ทำหน้าที่ผู้เฝ้าประตู ผู้คัดกรองข่าวสาร หรือแม้แต่เป็นผู้กำหนดวาระข่าวแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ ที่สื่อมวลชนมักกล่าวกันว่า สื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน องค์กร และสังคมนั้น


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook