"หลินปิง" พร้อมแล้วเดินทางกลับจีน เลือกคู่ผสมพันธุ์ปลายเดือน ก.ย.
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม สพญ.กรรณิการ์ จันทรังษี หัวหน้างานอนุรักษ์ ฝ่ายอนุรักษ์ วิจัยและสุขภาพสัตว์ สัตวแพทย์ประจำตัวแพนด้า โครงการวิจัยและจัดแสดงแพนด้าในประเทศไทย สวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยถึงความพร้อมในการฝึกฝนหลินปิง แพนด้าสาว เดินทางกลับไปเลือกคู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ว่า มั่นใจในความพร้อม เพราะหลินปิงสามารถใช้ชีวิตอยู่ในกรงขนย้ายนาน 16 ชั่วโมง หลังการฝึกต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลินปิงฝึกง่ายและให้ความร่วมมือดีมาก นอนและกินอาหารอยู่ในกรงโดยไม่มีท่าทางตื่นกลัว จะมีท่าทางร้องขออาหารจากพี่เลี้ยงเท่านั้น เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไรแน่นอนในช่วงการเดินทาง ยกเว้นที่ห่วง 2 เรื่องที่ยังไม่ได้ทำ คือเสียงเครื่องบินและรถสำหรับการขนย้ายกรงจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ไปยังสนามบิน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการประสานขอความร่วมมือและการอนุมัติจากผู้ใหญ่
สพญ.กรรณิการ์กล่าวว่า ด้วยระยะเวลาในการฝึกให้อยู่ในกรงระยะนานขึ้น เพื่อรองรับ หากเครื่องบินตรงจากเชียงใหม่ไปนครเฉินตูอาจไม่มี จำเป็นต้องขนส่ง 2 ต่อ คือ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ-เฉินตู ซึ่งรวมไปถึงไผ่ที่มีการปรับชนิดให้คุ้นเคยหากไปอยู่ที่จีน และการเลือกคู่หลังการปรับตัว 2 เดือน ในช่วงเดือนธันวาคม ที่ทางทีมงานจีนเตรียมไว้ 6 ตัว แต่คิดว่าไม่น่ามีปัญหาหนักใจอะไร
ส่วนปัญหาการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปสังกัดสำนักพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) สพญ.กรรณิการ์กล่าวว่า พนักงานกังวลในเรื่องความมั่นคงและสวัสดิการในอนาคต เพราะปัจจุบันนี้ไม่มีใครทราบรายละเอียดใดและยังไม่มีคำอธิบายถึงความเป็นมา ทำให้เกิดความห่วงในแง่ของงานวิจัย ในฐานะสัตวแพทย์ เพราะงานวิจัยเป็นงานที่ไม่คุ้มทุน แต่ต้องทำเพื่อการศึกษา แต่หากการโอนย้ายไปและมุ่งเน้นเพียงธุรกิจ สวนสัตว์จะไม่ต่างไปจากฟาร์มหมู หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องการผลิตจำนวนสัตว์ เพื่อโชว์ในเชิงธุรกิจ
"หากสวนสัตว์อยู่ในลักษณะองค์กรสวนสัตว์จะมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนและทั่วโลก ซึ่งจุดประสงค์หลักคือการลดการจับสัตว์จากป่า ต่อไปจะเหมือนพม่าและลาวในขณะนี้ที่เป็นยุคแรกของการทำสวนสัตว์ ที่มุ่งเพียงการจับมาโชว์ ตายไป ก็จับมาใหม่ ในขณะที่สวนสัตว์ปัจจุบันเปลี่ยนจากการค้าสัตว์มาเป็นการอนุรักษ์ ที่น่าห่วงคือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี แม้จะพยายามทำงานวิจัย แต่ทำได้เพียงเล็กๆ ในกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น ห่วงเรื่องภาพลักษณ์ในอนาคต เพราะเมื่อทำเชิงธุรกิจ ก็ต้องมีกิจกรรมที่อาจขัดต่อการดูแลสุขภาพสัตว์ ซึ่งสวนสัตว์ทั่วโลกหยุดกระทำแล้ว เช่น การนำสัตว์ออกมาโชว์ โดยใช้คนถือแส้บังคับให้ขี่จักรยาน เล่นฟุตบอล" สพญ.กรรณิการ์กล่าว