ม็อบยางยังปักหลักลั่นต้องถกประชายืนโล100-ตร.เจ็บ76
ม็อบยางควนหนองหงษ์ ยังปักหลัก ไม่หวั่น ผู้ว่าฯ ออกกฎคุมพื้นที่ ลั่นต้อง 'ประชา' เจรจา ยันรัฐต้องให้ 100 บาท/ก.ก. ด้าน รอง ผบช.ภ.8 เผย ผบ.ตร. ยังไม่ใช้ พ.ร.บ.มั่นคง - ตร.เจ็บเพิ่มเป็น 118 นาย ขณะที่ ผู้ว่านครศรีฯ จ่อขยาย กม.พิเศษอีก 24 ชม.
บรรยากาศของประชาชนเรียกร้องราคายางพารา บริเวณแยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ยังคงมีผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เป็นวันที่ 3 แล้ว โดยหลังจากที่เมื่อวาน ได้เกิดเหตุตำรวจยิงแก๊สน้ำตา ต่อด้วย นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติป้องกันสาธารณภัย พ.ศ.2550 ออกแถลงการณ์ ให้ควนหนองหงษ์ เป็นพื้นที่ห้ามประชาชนเข้า โดยผู้ร่วมชุมนุมรายหนึ่ง ได้กล่าวกับทาง สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ทางชาวบ้านไม่ได้รู้สึกหวั่นวิตกกับคำประกาศจากทางการแต่อย่างใด ยังคงชุมนุมต่อไป และเชื่อว่าวันนี้จะมีคนเข้าร่วมชุมนุมกันมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ม็อบครั้งนี้ไม่มีแกนนำ เพราะว่าชาวบ้านกลัวว่า การเป็นแกนนำแล้วจะถูกดำเนินคดี ส่วนจะชุมนุมต่อไปถึงเมื่อไร ยังบอกไม่ได้ แต่ชาวบ้านอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเจรจาซึ่งต้องเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เท่านั้น โดยยืนยันราคาที่ให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ 100 บาทต่อกิโลกรัม
สตช.ยันภาพชายฉกรรจ์ทุบรถม็อบไม่ใช่ตร.
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปเหตุปะทะกัน ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันกับตำรวจ บริเวณแยกควนหนองหงษ์ จ.นครศรีธรรมราช ตลอดช่วงบ่ายที่ผ่านมา พบว่ามีรถยนต์รถยนต์ของทางราชการ และรถยนต์ของประชาชน ถูกเผาจำนวนหลายคัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับบาดเจ็บจำนวน 76 นาย นำส่ง รักษาตัวใน 4 โรงพยาบาล ภายหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน บริเวณแยกควนหนองหงษ์ แยกบ้านตูล แยกสวนผัก และแยกไม้เสียบ
อย่างไรก็ตาม โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังกล่าวถึงภาพที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียว่า มีชายแต่งกายคล้ายตำรวจควบคุมฝูงชน กำลังใช้ไม้ทุบที่หน้ากระจกรถตำรวจนั้น โดยยืนยันว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่มีภาพชุดเดียวกันที่ถ่ายโดยคนในพื้นที่ และเป็นอีกหนึ่งมุมมอง พบว่า ชายคนดังกล่าวนั้น แต่งกายสวมเสื้อลายสก็อต กางเกงยีนส์ และสวมรองเท้าแตะ โดยนำชุดของตำรวจมาสวมใส่ ส่วนรถที่กำลังทุบนั้น ก็เป็นรถบรรทุกอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนของทางเจ้าหน้าที่
ผบ.ตร. คอนเฟอร์เรนซ์ เครียด บช.ภ.8 แก้ไขม็อบยางเดือด
รายงานข่าวแจ้งว่าในขณะนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้ทำการประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ กับ พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ผบช.ภ.8 พล.ต.ต.กิตติสัณห์ เดชสุนทรวัฒน์ รอง ผบช.ภ.8 และนายตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการชุมนุมของเกษตรกรสวนยางพาราที่ปิดถนนแยกควนหนองหงษ์ และมีการปะทะกันอย่างรุนแรง เมื่อวานที่ผ่านมา โดยมีตำรวจบาดเจ็บกว่า 70 นาย และประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายจำนวนหนึ่ง และประเมินสถานการณ์ หลังจากที่ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการนครศรีธรรมราช ใช้อำนาจ ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.บรรเทาป้องกันสาธารณภัย ให้ควนหนองหงษ์เป็นพื้นที่อันตราย ห้ามประชาชนเข้าจนถึงเวลา 12.00 น. ในวันนี้ด้วย
ยุคลโยนประชาดูม็อบยางควนหนองหงษ์
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นบริเวณแยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ไม่ทราบว่าเป็นคนกลุ่มใด เพราะเกษตรกรชาวสวนยางพารา ส่วนใหญ่รับได้กับแนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาล ที่ยึดตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือ กนย. ที่ช่วยเหลือเรื่องปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท ครอบครัวละไม่เกิน 25 ไร่
ทั้งนี้ นายยุคล ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกควนหนองหงษ์ โดยระบุว่าขอให้เป็นหน้าที่ของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากเรียกร้องให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา รีบดำเนินการมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเรื่องปัจจัยการผลิต
ผบ.ตร.ยังไม่ใช้พ.ร.บ.มั่นคงม็อบยางนครศรีฯ
พล.ต.ต.กิตติสัณห์ เดชสุนทรวัฒน์ รอง ผบช.ภ.8 เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ผลการประชุมของ
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ กับ ตร.ภ.8 เรื่องการแก้ไขการชุมนุมของเกษตรกรสวนยางพารา ที่ปะทะกับตำรวจ เมื่อวานนี้ โดย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ดูแลการสัญจรของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก หลังจากม็อบยางปิดถนนอีกครั้ง ส่วนตำรวจที่ถอยร่นออกมาห่างจากจุดชุมนุมประมาณ 10-15 กม. พยายามไม่ให้มีการเผชิญหน้ากันอีก โดยให้ประจำอยู่ในที่ตั้ง และไม่มีการพูดถึงการใช้กฎหมายพิเศษ คือ พ.ร.บ.มั่นคง ที่เป็นอำนาจของ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาใช้ในขณะนี้แต่อย่างใด และเน้นการเข้าเจราจากับแกนนำม็อบยางเป็นหลัก ซึ่งตำรวจเองยังไม่ทราบว่า ใครคือแกนนำที่จะสามารถเจราจาได้ ซึ่งตำรวจทำได้เพียงการประชาสัมพันธ์ประชาชน ในเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ประกาศใช้เมื่อวานนี้ เป็นหลัก
นอกจากนี้ ยอดนายตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะเมื่อวานนี้นั้น ล่าสุด เจ็บเพิ่มเป็น 118 นาย มีอาการ
สาหัส 4 นายแล้ว
ผวจ.นครศรีฯ ยัน ไม่แทรกแซงราคายาง
นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวยืนยันกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงราคายางพารา กิโลกรัมละ 100 บาท ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง เพราะการแทรกแซงราคาจะทำให้เกิดการบิดเบือนราคากลไกตลาด และผลประโยชน์จะตกไปอยู่กับพ่อค้าที่เก็บยางไว้เยอะ การที่ทางรัฐบาลช่วยเหลือเงินชดเชยค่าปัจจัยการผลิต เกษตรกรรายย่อยจะได้รับผลประโยชน์โดยตรง ทั้งนี้ นายวิโรจน์ กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ ยังไม่มีแกนนำปรากฏ จึงทำให้ยังไม่มีโอกาสทำความเข้าใจให้ตรงกัน และวันนี้จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากยังไม่น่าไว้วางใจ จะประกาศใช้กฎหมายพิเศษต่ออีก 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ปฏิเสธที่จะตอบว่า การชุมนุมมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่
ผบ.ตร.ถกเครียดเกาะติดม็อบยางที่ชะอวด
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ติดตามสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายชาวสวนยาง ที่ยังคงมีการปิดถนนที่บริเวณแยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหายางพาราต่อ โดยสถานการณ์ตลอดคืนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ยังคงตึงเครียด หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บตลอดจนทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยภายหลังการประชุมจะมีการแถลงสรุปสถานการณ์ในเวลา 13.30 น.
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงสรุปสถานการณ์ยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจโดยเฉพาะการขอคืนพื้นที่เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายพร้อมปฏิเสธภาพบุคคลสวมชุดตำรวจปราบจลาจลใช้ไม้ทุบรถตำรวจ จนมีกระแสพิพากษ์วิจารณ์นั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจแน่นอน แต่น่าจะเป็นการแต่งกายแฝงเพื่อสร้างสถานการณ์ ยืนยันมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายอีกชุดที่เชื่อถือได้
ด้านสังคมบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค อาทิ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ต่างวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับภาพที่มีการเผยแพร่ออกมาแตกต่างกันไป