มองดู 7 ตัวละครหลัก หลัง 7ปี รัฐประหาร!!
วันนี้ (19 ก.ย.56) ครบรอบ 7 ปี เหตุการณ์การรัฐประหาร ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่สงบเรียบร้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย หากย้อนกลับไปในวันนั้น คนไทยทั้งประเทศต่างมีความคาดหวังว่าการเมืองไทยคงจะดีขึ้น แต่เมื่อกลับมาดูวันนี้การเมืองไทยก็ยังวนเวียนอยู่ในวังวนเดิมๆ ซ้ำร้ายขั้วอำนาจทางการเมืองก็กลับมาอยู่ในมือของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรอีกครั้ง จนมีหลายคนออกปากว่า "รัฐประหาร" ครั้งนี้เป็นรัฐประหารที่เสียของที่สุด
อย่างไรก็ตามในวันครบรอบ 7 ปี เรามาไล่เรียง 7 ตัวละครหลักที่อยู่ในเหตุการณ์ "รัฐประหาร 2549" กันดูว่าใครเป็นอย่างไรบ้าง
พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร นากยกรัฐมนตรีในขณะนั้น และเป็นเป้าหมายของการรัฐประหาร ปัจจุบันยังคงอาศัยอยู่ในต่างประเทศ แต่เนื่องจากรัฐบาลนี้มีน้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรี จึงทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่าเขานี่เองที่เป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ดูแลอยู่เบื้องหลัง ส่วนผลพวงจากการรัฐประหาร ทำให้พรรคไทยรักไทยของเขาต้องถูกยุบ ด้วยข้อหาโกงการเลือกตั้ง พร้อมทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี รวมถึงโดนอายัดทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 76,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเขาร่ำรวยผิดปกติ อย่างไรก็ตามแม้ตัวจะอยู่ต่างประเทศ ทักษิณก็ยังคงมีข่าวคราวส่งมาเมืองไทยสม่ำเสมอ ล่าสุดเพิ่งมีข่าวว่าจ้างนักร้องดัง ใบเตย อาร์สยาม ไปร้องเพลงให้ฟัง จนเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ
นายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำการชุมนุมเพื่อขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ช่วงเวลานั้นสนธิ เป็นเหมือนศาสดาของคนต่อต้านทักษิณ เขาได้รับการยอมรับจากมวลชนอย่างสูงยิ่ง เคยถูกลอบยิงแต่รอดมาได้ปาฎิหารย์ ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการทางการเมืองที่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี
พลเอก ดร.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 หลังเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2550 เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอก สรุยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการปรองดองฯ แต่เป็นที่น่าแปลกใจเนื่องจากถูกมองว่าเป็นคนรัฐประหารเอง แล้วเหตุใดจึงเสนอกฎหมายให้ยกเลิกผลของการรัฐประหาร ซึ่ง พลเอก ดร.สนธิ บุญยรัตกลิน ให้เหตุผลว่า ต้องการคนกล้าที่จะมาทำงานให้บ้านให้เมืองเพื่อเกิดความปรองดอง และอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานพรรคมาตุภูมิ และเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา หนึ่งในคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สมัยดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 1 แม้จะเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 (ตท.10) เหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่กลับไม่เข้าร่วมหรือเห็นดีเห็นชอบด้วยกับการกระทำของกลุ่ม จึงถูกมองว่าเป็นฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย จนถูกเรียกว่าเป็น ตท.10/1 หลังจากนั้นได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ต่อจากบิ๊กบัง และได้ส่งทอดอำนาจต่อไปยัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่ในสาย ทหารเสือราชินีเหมือนกัน ปัจจุบันพลเอก อนุพงษ์เกษียณอายุราชการ และใช้ชีวิตอยู่เงียบ ไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร หนึ่งในคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สมัยดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งถือว่ามีบทบาทอย่างมาก เป็นผู้วางแผนเตรียมการและได้เคลื่อนกำลังพลมาเตรียมพร้อมในเขตปริมณฑลก่อนจะเข้าพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เพื่อทำการรัฐประหารรัฐบาล โดยประโยคทองของ พลเอกสพรั่ง ในขณะนั้นคือ "ไม่สามารถที่จะทนต่อสภาพปัญหาของบ้านเมืองได้อีกต่อไป" หลังรัฐประหารเคยได้รับดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงกลาโหม และได้รับการพิจารณาให้เป็นประธานบอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ รับคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหาร จากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยดำรงตำแหน่งนายกฯเคยถูกกล่าวหาว่าครอบครองพื้นที่ป่าสงวนเขายายเที่ยง ในจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง องคมนตรี อย่างไรก็ตามในช่วงที่พลเอกสุรยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ได้มีความเด็ดขาดกับการจัดการเครือข่ายของอดีตนายกฯ ทักษิณ จนในที่สุด เครือข่ายของอดีตนายกฯ ทักษิณก็กลับมาผงาดได้อีกครั้ง
คนไทยทั้งประเทศ ความคาดหวังของของประชาชนชาวไทยเมื่อครั้งเกิดรัฐประหาร ซึ่งมีบางส่วนออกมาชื่นชม ยอมรับ เนื่องจากเห็นว่าทหารช่วยจำกัดความวุ่นวายจากการชุมนุมของพันธมิตรเพื่อขับไล่ ทักษิณ แต่ก็มีบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของทหารครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าทำให้ประเทศชาติถดถอย ผลพวงที่ตามมาของจุดเริ่มต้นการรัฐประหาร เกิดการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ทั้งผู้ที่สนับสนุน ทักษิณ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เกิดวลี ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของ นปช. คือ สองมาตรฐาน เกิดการชุมนุมเผ้าบ้านเผาเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ เกิดเหตุผู้เสียชีวิตเนื่องมาจากการชุมนุม เกิดความแตกแยกของ ส.ส. ชัดเจนยิ่งขึ้น ประชาชนเริ่มแบ่งแยกความคิดเห็นต่างกันอย่างชัดเจน
สรุปบทเรียนจากการรัฐประหารในครั้งนั้น ประเทศไทยก็ยังคงกลับมายืนที่จุดเดิม ยังคงอยู่ในวงเวียนการเมืองที่แก่งแย่งอำนาจ เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องพยายามเปลี่ยน "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" นี้ให้เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบให้ได้...
เรื่องโดย ทีมข่าว Sanook! News