นายกฯงดออกทีวี มอบรมว.คลังแจงกู้ 2 ลล. คุ้มคาด 50 ปีหนี้หมด
"กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ย้ำ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ยัน โปร่งใส คาด ใช้หนี้หมดภายใน 50 ปี มั่นใจไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ด้าน "ชัชชาติ" เผย ทยอยกู้ 7 ปี
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชนว่า การออกพระราชบัญญัติในการให้กระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ถือว่ามีความจำเป็น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการออก เป็น พ.ร.บ.นั้น ก็เพื่อไม่ให้เม็ดเงินและเงินดังกล่าว เป็นภาระต่อเงินงบประมาณประจำปี ซึ่งได้มีการแยกออกมาเพื่อให้ความชัดเจน ขณะที่เรื่องความโปร่งใสนั้น รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญโดยทำตามระเบียบทุกขั้นตอนในทุกๆ โครงการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามยอดวงเงินทั้งหมดนั้น จะเป็นการกู้เงินในประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งมีสภาพคล่องส่วนเกินกว่า 3 ล้านล้านบาท และจะขอดูแลหนี้ไม่ให้หนี้สาธารณะเกินกว่าร้อยละ 50 ต่อ จีดีพี ซึ่งเชื่อว่าวงเงินดังกล่าวนั้น จะใช้หมดภายในระยะเวลา 50 ปี
นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ กล่าวมั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมากฤษฏีกาก็ให้ความเห็นชอบ แต่ส่วนตัวมีความหนักใจ หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความล่าช้าออกไป ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสในการลงทุน ดังนั้นจึงขอให้ทุกฝ่ายนึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก
ขณะที่ทางด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนว่า พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน วงเงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น ถือว่ามีความจำเป็น ในการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ซึ่งจัดเป็นการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในการขออนุมัติกรอบวงเงินเท่านั้น โดยในรายละเอียดของโครงการต่างๆ นั้น จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนเหมือนในงบประมาณประจำปีปกติ โดยต้องขอความเห็นชอบ ทั้งจากสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถึงจะดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งวงเงินทั้งหมดกว่าร้อยละ 80 นั้น จะเป็นการลงทุนในระบบกลาง และจะทำให้สัดส่วนการลงทุนนั้น ด้านการขนส่งสามารถลดต้นทุนได้กว่าร้อยละ 12
อย่างไรก็ตาม การกู้เงินดังกล่าวนั้น เป็นการทยอยกู้เงิน ในระยะเวลา 7 ปี เฉลี่ยเท่ากับการใช้เงินอยู่ที่ประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท จึงไม่ให้วงเงินที่สูงมากจนน่ากังวล