เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมทั่วไทย ที่นี่!
สถานการณ์น้ำท่วมขยายวงกว้าง หลังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ติดตามการอัพเดตน้ำท่วมได้ที่นี่!!
( อัพเดทสถานการณ์ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 กันยายน 2556 )
ปราจีนบุรี บรรยากาศน้ำท่วม เทศบาลกบินทร์บุรี ยังไม่คลี่คลายประชาชนยังใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ประชาชนยังต้องดำเนินชีวิตตามปกติในวันทำงาน และเปิดการเรียนการสอน โดยมีรถของ มทบ.12 ปราจีนบุรี และรถ 6 ล้อ ของหน่วยงานรัฐ เป็นรถโดยสารชั่วคราวเพื่อคอยรับ-ส่งนักเรียน รวมถึงประชาชน ที่จะต้องเดินทางไปทำงาน จากนั้นทั้งประชาชนและนักเรียนจะต้องต่อรถตู้หรือรถบัสเพื่อเดินทางเข้าไปทำงานในตัว จ.ปราจีนบุรี ต่อไป
ขณะที่ ปริมาณที่ท่วมขังมีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ประชาชนที่อาศัยในย่านชุมชน บางรายต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางเข้า-ออก และเพื่ออำนวยความสะดวก เนื่องจาก รถยนต์ขนาดใหญ่ไม่สามารถวิ่งเข้าออกได้อีกต่อไป ส่วนบรรยากาศในตลาดเทศบาลกบินทร์บุรี ยังคงเป็นไปด้วยความเงียบเหงา บรรดาร้านค้าต้องปิดกิจการอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากถูกน้ำท่วม
พิจิตร ฝนที่ตกหนักตลอด2วัน2คืนทำให้เกิด ส่งผลให้น้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลเข้าท่วมในเขตอำเภอทับคล้อ ปริมาณท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ได้รับความเสียหายใน 4 ตำบล คือ ตำบลเขาเจ็ดลูก ตำบลเขาทราย ตำบลทับคล้อ ตำบลท้ายทุ่ง รวม 46 หมู่บ้าน 4,350 หลังคาเรือน นาข้าวที่อายุใกล้ถึงวันเก็บเกี่ยวจำนวน 21,950 ไร่ ต้องถูกน้ำท่วม ล่าสุด ทางราชการได้พยายามเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่าน ขณะที่แม่น้ำน่านเหลือเพียงแค่ 3 เมตรเท่านั้น ก็จะถึงจุดวิกฤติ
เพชรบูรณ์ มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ชนแดน อ.วังโป่ง และ อ.หนองไผ่ ระดับน้ำได้ลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติเป็นส่วนใหญ่แล้ว จะเหลือเพียงบางพื้นที่ อาทิ ต.น้ำร้อน อ.เมืองเพชรบูรณ์ ระดับน้ำท่วมลดลงค่อนข้างช้า เนื่องจากคลองน้ำร้อนที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ยังคงรับน้ำป่าที่ไหลหลากจากเทือกเขาตะเบาะไหลหนุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด แม้ระดับน้ำท่วมจะลดลงเหลือเพียงราว 30 เซนติเมตร ก็ตาม แต่ถนนเลียบคลองก็ยังจมอยู่ใต้น้ำ ล่าสุดพบผู้เสียชีวิต 1 ราย ชื่อนายเสมา ชุมเฟือย อายุ 49 ปี กำลังช่วยกันนำถุงกระสอบทรายลงไปกั้นท่อน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมนาข้าว แต่โชคร้ายโดนท่อน้ำดูดจนเสียชีวิต
ศรีสะเกษ น้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรัก ที่ไหลมาตามลำห้วยสำราญ ได้เอ่อล้นทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ประมาณ 100 หลังคาเรือน โดยชุมชนที่ถูกน้ำท่วมคือ ชุมชนหนองอุทัย ชุมชนท่าเรือสนามเป้า ชุมชนสะพานขาว ชุมชนหนองหมู และชุมชนโนนสวรรค์ ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำลำห้วยสำราญ อยู่ที่ 11 ม. 40 ซ.ม. สูงกว่าจุดวิกฤติ 40 ซ.ม. และระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
อำนาจเจริญ พนังดินกั้นน้ำลำเซบาย ในท้องที่ ต.หัวตะพาน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ระยะความยาว 1 กิโลเมตร ที่กั้นน้ำไม่ให้น้ำในลำเซบาย ทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน ได้พังทลายเสียหายเป็นแนวยาว 30 เมตร ปริมาณน้ำที่ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านราษฎร บ้านดอนว่าน อ.หัวตะพาน ทำไร่นาเสียหายประมาณ 1,000 ไร่
ปราจีนบุรี สลด! น้ำป่าซัดศรีมหาโพธิ พัดร่าง 2 ด.ญ. วัย 10 ขวบ จมหาย เสียชีวิต 1 เจ็บ 1 ราย ขณะที่ แม่น้ำปราจีนบุรี ระดับน้ำมีปริมาณสูงเกินภาวะวิกฤติ ส่งผลให้น้ำที่ท่วมเดิมอยู่แล้วท่วมสูงเพิ่มขึ้น โดยที่ชุมชนตลาดเก่า ที่ตั้งติดกับริมต้นน้ำ ท่วมสูงมากกว่า 1.50 เซนติเมตร รวมถึง ในตลาดเทศบาล ต.กบินทร์ ย่านการค้า ถูกน้ำท่วมทั้งหมดสูงกว่า 1.00 เมตร ไม่สามารถค้าขายได้ ขณะที่ มีประชาชนประมาณรวม 100 กว่าคน ชุมนุมเรียกร้องขอให้เปิดประตูระบายน้ำคลองชลปะทานบ้านชะเอม ต.วังดาล อ.กบินทร์บุรี เพื่อให้เร่งระบายน้ำที่ท่วมออกไป
อยุธยา ในพื้นที่อำเภอบางบาล ผักไห่ เสนา พระนครศรีอยุธยา บางปะอิน และบางไทร ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 10-15 เซนติเมตร สาเหตุเนื่องจากน้ำผ่านเขื่อนนครสวรรค์ 1,564 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้น 108 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผ่านสิงห์บุรี 2,044 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้น 84 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผ่านอ่างทอง 2,028 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คลองบางบาล 183 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้น 13 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีผลทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกจากเมื่อวานนี้อย่างไรก็ตาม คาดว่า จากนี้ไป อีก 4-5 วัน น้ำจะเพิ่มขึ้นอีก 50 เซนติเมตร
ปทุมธานี น้ำสูงขึ้นกว่า 20 ซม.ต่อหนึ่งวัน โดยสภาพน้ำได้เข้าท่วมพื้นที่โรงเรียนวัดมะขาม และวัดมะขาม พร้อมวัดศาลเจ้า ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและอาหารร้านค้า ทำให้ทางเจ้าหน้าที่เทศบาล ได้ใช้ผ้าใบปูพื้นนำกระสอบทรายวางทับกั้นเป็นคันกั้นน้ำให้รอบวัดในขณะนี้ ซึ่งทางเทศบาลได้เร่งตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ส่วนทางด้านถนนทางแขวงการทางได้ยกระดับถนน สูงขึ้นกว่า 60 ซม. ตลอดทั้ง อ.เมือง และ อ.สามโคก แต่มีบางพื้นที่ ไม่มีงบประมาณยกถนน อาจทำให้น้ำท่วมเขตติดต่อปทุมธานี โดยเฉพาะสนามบินดอนเมืองเหมือนปี 54 ได้
( อัพเดทสถานการณ์ล่าสุด เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 23 กันยายน 2556 )
พระนครศรีอยุธยา : อําเภอเสนา และ อําเภอบางบาล ยังคงมีระดับน้ำท่วมขังสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ยังคงเพิ่มระดับขึ้นสูงอีก 50-80 เซนติเมตร ซึ่งทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มประกาศเตือนให้ประชาชน ที่อาศัยอยู่ริมตลิ่ง เฝ้าระวังและสังเกตการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพราะหากน้ำมาจะได้อพยพ ขนย้ายข้าวของเครื่องใช้ได้ทัน
ลพบุรี : ผลกระทบจากฝนตกหนักกว่า 200 มิลลิเมตร ส่งผลให้น้ำท่วมเริ่มขยายวงกว้างในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าวุ้ง, อ.เมือง, อ.หนองม่วง, อ.โคกเจริญ, อ.ท่าหลวง, อ.ลำสนธิ และ 3 อำเภอที่หนักสุด คือ อ.สระโบสถ์, อ.โคกสำโรง และ อ.ชัยบาดาล ที่ยังรับน้ำสมทบจาก จ.เพชรบูรณ์ไหลลงแม่น้ำป่าสัก น้ำล้นตลิ่งท่วมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205
อ่างทอง : สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยายังวิกฤติ หลังเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 1,912 ลบ.เมตร/วินาที ส่งผลให้พื้นที่ตำบลจำปาหล่อ อ.เมือง และ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก มีน้ำท่วมสูงกว่า 1.50 เมตร
ศรีสะเกษ : บริเวณสะพานขาว ชาวบ้านต้องอพยพออกมาจากพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ลำห้วยสำราญซึ่งไหลผ่านเมือง ยังมีระดับน้ำสูงต่อเนื่อง ระดับน้ำวัดได้สูงสุด 10.80 เมตร ขณะที่กำลังทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 106 กองพลทหารราบที่ 6 จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 150 นาย ทำการกรอกทรายใส่ถุง เพื่อนำเอากระสอบทรายไปวางกั้นน้ำ ไม่ให้น้ำท่วมในเขตชุมชนสะพานขาว
ปราจีนบุรี : ปริมาณน้ำในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรียังสูงขึ้นตลอดเวลา กำลังพลจากมณฑลทหารบกที่ 12 และ หน่วยกู้ภัยเข้าช่วยเหลือประชาชนในตลาดเทศบาลกบินทร์บุรี ขณะที่พื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ ระดับน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมตลาดท่าประชุมในเขตเทศบาลอย่างรวดเร็ว ร้านค้าในตลาดเร่งวางแนวกระสอบทราย และก่ออิฐบล็อกทำแนวป้องกันน้ำ คาดว่าในช่วง 3-4 วัน ปริมาณน้ำจากด้าน อ.กบินทร์บุรี และ อ.ศรีมหาโพธิ จะไหลมาร่วมในพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี ขณะที่ตลาดเทศบาลเมืองปราจีนบุรีเริ่มได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำครั้งนี้แล้ว
นนทบุรี : เมื่อคืนที่ผ่านมา (22 ก.ย.) ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่เกาะเกร็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำสุดของจังหวัด ระดับเริ่มมล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำและติดคลองหลายหลังคาเรือน โดยล้นข้ามถนนที่กั้นระหว่างบ้านริมแม่น้ำเข้าสูงบ้านที่ด้านใน ชาวบ้านต้องย้ายข้าวของไว้ที่สูงเพื่อเตรียมรับกับน้ำที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นแต่ก็ยังใช้พื้นที่ที่น้ำท่วมประกอบกิจวัตรประจำวันได้