ม็อบคัดค้านก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์-ไม่กระทบจราจร
กลุ่มต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เดินขบวนถึงหอศิลป์ ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านการสร้างเขื่อน ก่อนแสดงละครสะท้อนปัญหา เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อ่านแถลงการณ์ระบุ ละเลยข้อมูลสำคัญของพื้นที่
จากกรณีมีกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ กว่า 1,000 คน นัดเดินเท้าออกจาก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มุ่งหน้า ถ.พญาไท ไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณแยกปทุมวัน นั้น ล่าสุด ตำรวจจราจร สน.พญาไท รายงานว่า การจราจรยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องปริมาณรถไม่มาก โดยทั้งขาเข้า-ขาออก ไม่มีรถติดสะสม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังสามารถจัดการจราจรได้ แต่หากมีปัญหาเนื่องจากเป็นช่วงเวลาเย็นนั้น น่าจะมีปัญหาจุดเดียว คือ บริเวณถนนที่จะไปทางดินแดง
กลุ่มต้านเขื่อนแม่วงก์ ถึงหอศิลป์ ล่ารายชื่อ
บรรยากาศการเดินรณรงค์ของกลุ่มต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ นำโดย นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และคณะ เพื่อคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ พร้อมทั้งกลุ่มนิสิต นักศึกษา จากสถาบันต่าง ๆ และประชาชนจำนวนมาก ได้เดินเท้าจากหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อรวมตัวกันที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และทำกิจกรรมเชิญชวนประชาชน เข้าร่วมต่อต้านครั้งนี้ อาทิ การตั้งโต๊ะลงรายชื่อคัดค้านการสร้างเขื่อน และการแสดงละครสะท้อนถึงปัญหาของการสร้างเขื่อน
นอกจากนี้ในช่วงเย็น นายศศิน และเครือข่ายผู้ร่วมคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ จะร่วมอ่านแถลงการณ์แนวทางของกลุ่มในการเดินหน้าต่อต้านต่อไป
กลุ่มค้านเขื่อนแม่วงก์ อ่านแถลงการณ์
นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นำกลุ่มองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมอ่านแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์ ไม่ได้จริงใจในการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยใช้วิธีคำนวณเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ให้ไม่คุ้มค่าในการเลือกทางเลือกอื่น ๆ พร้อมยังละเลยข้อมูลสำคัญของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
นอกจากนี้ รายงานระบุว่า เขื่อนแม่วงก์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่ท่วมในพื้นที่เสี่ยงได้ทั้งหมด และยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำที่ไหลบ่าจากพื้นที่เกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ในพื้นที่นอกอุทยาน อีกทั้งรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนบุคลากรของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ อย่างน่าสงสัย ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 ดังนั้น การเร่งรัดผ่านรายงานในครั้งนี้ จึงมีความผิดปกติอย่างยิ่งต่อมาตรฐานทางวิชาการ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม