"เติ้ง" เห็นด้วยต้องทำ "เขื่อนแม่วงก์" หากไม่สร้างความเสียหายหนัก
(23 ก.ย.) นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ว่า น้ำในปีนี้ไม่เหมือนปี 2554 เพราะปีนั้นเป็นน้ำที่ปล่อยออกมาจากอ่างเก็บน้ำทั้งหมดที่อยู่ในตอนบน แต่ปีนี้เป็นเพียงน้ำฝนจากดีเปรสชั่นที่เข้ามาบางลูกเท่านั้น จึงทำให้ท่วมที่ลุ่ม ที่นา ถนน อ่างเก็บน้ำ มีระดับในแม่น้ำสูง เชื่อว่าประมาณ 3-4 วัน ถ้าไม่มีฝนตกซ้ำลงมาน้ำเหล่านี้จะไหลลงทะเล น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาน้ำท่วมเหมือนในปี 2554
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ประชาชนกำลังเป็นกังวล เพราะจะมีพายุเข้ามาอีกหลายลูก นายบรรหารกล่าวว่า ก็ต้องรอฟังกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าจะมีเข้ามาอีกหลายลูกนั้นจริงหรือไม่ มาเมื่อไร และผ่านมาถึงประเทศไทยหรือไม่ เพราะอาจจะเบี่ยงออกไปทางจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ดังนั้น ตอบในขณะนี้ก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีเข้ามาหลายลูกจริงๆ แต่ไม่ใหญ่นัก ก็คงไม่เป็นไร แต่หากเป็นลูกใหญ่ ก็คงมีปัญหา
นายบรรหารกล่าวต่อว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำทั้งหมด คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสัก สามารถรองรับน้ำได้ถึง 28,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ดังนั้น ก็พอที่จะรับน้ำได้ ถึงแม้ว่าพายุจะมาอีกหลายลูก เว้นแต่ในส่วนที่จะไปตกตามทุ่งนา ลำน้ำ อย่างนั้นคงจะลำบาก ก็ต้องรอให้ไหลลงทะเลไป ส่วนประชาชนที่บ้านอยู่ริมน้ำก็ต้องขยับขยาย เพราะคงหนีไม่พ้นเนื่องจากอยู่ริมน้ำ ขณะนี้จากชัยนาทลงมาอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ก็เริ่มๆ จะท่วมแล้ว และในวันที่ 25 กันยายนนี้ ตนจะลงพื้นที่ไปดูปริมาณน้ำที่เขื่อนชัยนาทว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร
เมื่อถามถึงกรณีที่มีกลุ่มคนออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ นายบรรหารกล่าวว่า
"ในความเห็นผม คงต้องยอมรับกันว่าเราจะเอาอะไร เพราะเมื่อปี 2554 ที่เขื่อนแม่วงก์-สะแกกรัง น้ำลงมามากถึง 600 ล้าน ลบ.ม. ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ดูแล้วรับไม่ได้ เพราะท่วมมิดไปหมด ซึ่งถ้าใครได้ดูภาพในตอนนั้นก็จะเห็นใจ เพราะประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นก็ต้องทำเขื่อนแม่วงก์ แต่ก็ต้องมาดูว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นตรงไหน เช่น พื้นที่ป่าไม้ ก็ต้องมาดูกันว่าจะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คิดว่าต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำปัญหา เกิดขึ้นแน่นอน เพราะความเสียหายจะเกิดขึ้นซ้ำซาก โดยมีตัวเลขความเสียหายเป็นพันล้านบาท ในความเห็นของผม จากที่ได้ไปดูพื้นที่มาแล้ว ก็น่าจะทำ เพราะถ้าไม่ทำ คงมีปัญหา เพราะน้ำมีจำนวนมากจะให้ไปลงที่ไหน ประชาชนที่เดือดร้อนมีปัญหามากกว่า ดังนั้น เราก็ต้องยอมละกันบ้างในบางเรื่อง อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำก็ต้องไปสำรวจดูก่อนว่ามีป่าไม้จำนวนเท่าไร ความเสียหายเป็นอย่างไร"