น้ำท่วมกบินทร์บุรียังอ่วมปชช.ใช้ชีวิตลำบาก
บรรยากาศน้ำท่วม เทศบาลกบินทร์บุรี ยังไม่คลี่คลาย ประชาชนยังใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ขณะที่ สุรินทร์ท่วม 15 อำเภอ ด้าน อธิบดีกรมชลฯ ยืนยัน เขื่อนเจ้าพระยายังรับน้ำได้ พร้อมเร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนเพิ่ม
บรรยากาศที่ เทศบาลกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เช้านี้ ประชาชนยังต้องดำเนินชีวิตตามปกติในวันทำงาน และเปิดการเรียนการสอน โดยมีรถของ มทบ.12 ปราจีนบุรี และรถ 6 ล้อ ของหน่วยงานรัฐ เป็นรถโดยสารชั่วคราวเพื่อคอยรับ-ส่งนักเรียน รวมถึงประชาชน ที่จะต้องเดินทางไปทำงาน จากนั้นทั้งประชาชนและนักเรียน จะต้องต่อรถตู้หรือรถบัส เพื่อเดินทางเข้าไปทำงานในตัว จ.ปราจีนบุรี ต่อไป
ขณะที่ ปริมาณที่ท่วมขังมีระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ประชาชนที่อาศัยในย่านชุมชน บางรายต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางเข้า-ออก และเพื่ออำนวยความสะดวก เนื่องจาก รถยนต์ขนาดใหญ่ไม่สามารถวิ่งเข้าออกได้อีกต่อไป ส่วนบรรยากาศในตลาดเทศบาลกบินทร์บุรี ยังคงเป็นไปด้วยความเงียบเหงา บรรดาร้านค้าต้องปิดกิจการอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากถูกน้ำท่วม
กรมชลฯย้ำกทม.น้ำไม่ท่วมเร่งระบาย
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่าทางเจ้าหน้าที่ได้เร่งระบายน้ำที่เพิ่มจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน เพื่อเตรียมตัวรับน้ำใหม่ที่จะเข้ามา ซึ่งขณะนี้ยังเป็นช่วงฤดูฝน และจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ การระบายนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และ กทม. ส่วนของปริมาณน้ำที่เพิ่มนั้น เป็นน้ำที่หนุนมาจากแม่น้ำสะแกกรัง หนุนเข้าบริเวณด้านข้างบวกกับมวลน้ำของแม่น้ำสี่แคว โดยทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มมากขึ้น จนต้องมีการเร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยากว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตร และจะเพิ่มจำนวนการระบายขึ้นใน 1 - 2 วันนี้ ซึ่งประสิทธิภาพในการรับน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ยังคงมีมากและปริมาณน้ำนั้นมีเพียง 2 ใน 3 ของแม่น้ำเจ้าพระยา เท่านั้น
ด้านแนวโน้มที่ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มกังวลกับสถานการณ์ว่า น้ำจะท่วม กทม.นั้น แนวโน้มมีค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจาก ว่าลักษณะจำนวนน้ำเหนือไหลบ่ายังไม่มาก ทั้งนี้ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ว่าการบริหารจัดการน้ำ ขณะนี้เป็นการเร่งระบายและเหตุการณ์ยังปกติ
สุรินทร์สรุปยอดน้ำท่วม-เร่งระดมความช่วยเหลือ
นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า น้ำท่วม จ.สุรินทร์ มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 15 อำเภอ 100 ตำบล 1,132 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 677,715 คน 199,594 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 2,040 หลังคาเรือน, เสียชีวิต 7 ราย สาเหตุจากน้ำพัดพา การเดินทาง ออกหาปลา และเด็กลงเล่นน้ำ นาข้าวเสียหาย 268,614 ไร่,บ่อ / ปลากุ้ง 171 ไร่, ถนนเสียหาย 106 สาย, สะพาน 2 แห่ง, วัด 7 แห่ง, โรงเรียน 12 แห่ง, สถานที่ราชการ 16 แห่ง
ขณะที่ ได้ระดมสรรพกำลัง เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลเครื่องมือ-อุปกรณ์ เครื่องอุปโภค-บริโภค ยารักษาโรค เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เตือนระวังการออกหาปลาและเมาสุราขณะลุยน้ำ
ชาวศรีสะเกษอพยพนอนริมถนนน้ำสูง2ม.
ที่บริเวณชุมชนศิริทรัพย์ทวีโชค ใกล้กับเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งชุมชนนี้มีชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และอยู่ติดกับลำห้วยสำราญ ปรากฏว่า น้ำจากลำห้วยสำราญ ได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านอพยพนำเอาข้าวของทรัพย์สินของมีค่าหนีไปอยู่บนที่สูงกันเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ ชาวบ้านบางส่วน นำเอากระสอบทรายมากั้นหน้าบ้านของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้าไปท่วมภายในบ้านเรือน และนั่งเฝ้าบ้านของตนเองตลอดทั้งคืน ซึ่งเปิดเป็นร้านจำหน่ายสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคด้วย
ขณะเดียวกัน ที่ชุมชนสะพานขาว อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ติดกับลำห้วยสำราญ ปรากฏว่า น้ำได้ท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน กว่า 50 หลังคาเรือน ชาวบ้านได้พาขนย้ายทรัพย์สินขึ้นมาอยู่ริมถนน และพากันพักหลับนอนข้างถนน รวมทั้งนั่งเฝ้าทรัพย์สินของตนเองด้วย ส่วนที่บริเวณชุมชนโนนสำนักมิตรภาพ อ.เมืองจ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ติดกับลำห้วยสำราญเช่นกัน ปรากฏว่า น้ำได้ท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านสูงประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านได้พากันขนย้ายทรัพย์สินและพากันนอนพักอยู่ริมถนน ขณะที่ ชาวบ้านส่วนหนึ่ง ยังคงนำเรือไปขนย้ายทรัพย์สินจากบ้านที่ถูกน้ำท่วม
น้ำท่วมชัยนาทคลี่คลาย-เจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.วัดสิงห์ และ อ.เนินขาม ของ จ.ชัยนาท ในวันนี้เริ่มคลี่คลาย โดยระดับน้ำลดลง เพราะไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ทำให้ทางราชการ โดย นายจำลอง โพธิ์สุข ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท สามารถนำรถบรรทุกสิ่งของเข้าช่วยเหลือประชาชนได้แล้ว แต่ยังมีถนนบางสายที่ชำรุดเสียหาย จากการกัดเซาะของน้ำ ที่ต้องเร่งทำการซ่อมแซมและฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งจะมีการสำรวจความเสียหายเพิ่มเติมในวันนี้
สำหรับพื้นที่ อ.สรรพยา ที่นาข้าวถูกน้ำหลากเข้าท่วมกว่า 30 ไร่นั้น ระดับน้ำเริ่มลดลงสามารถมองเห็นต้นข้าวแล้วเช่นกัน จากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ จ.ชัยนาท ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือสูญหาย ด้านการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักชลประทานที่ 12 เผยว่า วันนี้มีการเพิ่มการระบายน้ำขึ้นไปที่ 2,100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนสูงขึ้นอีก 50 ซม. ประชาชนที่อาศั
อยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ควรเตรียมการรองรับ
ผกก.ศรีมหาโพธิเผยบ้านท่าตูมน้ำท่วมขั้นวิกฤติ
พ.ต.อ.ณรัฐ รัตนจินดา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรศรีมหาโพธิ เปิดเผยความคืบหน้า สถานการณ์น้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี หลังมวลน้ำจาก อ.กบินทร์บุรี จ.สระเเก้ว ได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่เมื่อช่วงค่ำวานนี้ ว่า ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยมีระดับน้ำสูงต่ำต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ บ้านท่าตูม ถือว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง ขณะที่ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม และสถานีตำรวจ ยังไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียงบริเวณด้านหลังบ้านพักข้าราชการตำรวจ มีน้ำท่วมขังประมาณ 20-30 ซม.
สำหรับการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือด ทางตำรวจได้มีการลงพื้นที่ช่วยเหลือ เพื่อดูแลทรัพย์สินของประชาชน และอำนวยความสะดวกในด้านอื่นๆ อย่างเต็มที่
ผู้ว่าปราจีนฯเผยศรีมหาโพธิวิกฤติเร่งระบายน้ำด่วน
น.ส.จิตรา พรหมชุติมา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ล่าสุด ว่า ระดับน้ำเริ่มทรงตัวแล้ว โดยเฉพาะที่ อ.กบินทร์บุรี ที่น้ำป่าไหลเข้าท่วมตลาดเก่า ระดับสูงเมื่อ 2-3 วันก่อน ล่าสุดระดับน้ำเริ่มทรงตัว ไม่เพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะลดลงเรื่อยๆ หากไม่มีฝนตกลงมาอีก แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ใน อ.ศรีมหาโพธิ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำต่อจาก อ.กบินทร์บุรี ซึ่งย้ำ ได้เลยจุดวิกฤติไปแล้ว 19 ซม. ทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่เเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางจังหวัดจะได้ให้การช่วยเหลือต่อไป
นอกจากนี้ ทาง กบอ. ได้มอบเครื่องผลักดันน้ำให้กับทางจังหวัดอีก 10 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำ ซึ่งทางจังหวัดจะวางเครื่องผลักดันน้ำที่ 3 จุด คือ อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ และ อ.บ้านสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสูงแม่น้ำบางปะกงต่อไป
ผญบ.บางบาลโอดรับน้ำไม่ไหวแล้ว
นางกองแก้ว ขันธบัณฑิต อายุ 51 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.บางหัก อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า น้ำในคลองบางหลวง ที่รับน้ำมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชน ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างมีหลายหน่วยงานเดินทางมาตรวจสอบ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ และเป็นผู้ใหญ่บ้านมายังไม่เคยพบเห็นน้ำในคลองบางหลวงขึ้นสูงเร็วอย่างนี้ เหลืออีกประมาณ 70-80 เซนติเมตร ระดับน้ำจะเท่ากับน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 และทราบว่าเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระราม 6 จะระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีก อยากบอกว่า ชาว อ.บางบาล รับไม่ไหวแล้ว