เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมภาคกลาง
รายงานสถานการณ์ "น้ำท่วมภาคกลาง" ในแต่ละจังหวัด อัพเดทล่าสุดวันที่ 3 ตุลาคม 2556
(น้ำท่วมอยุธยา ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมอยุธยา ชาวบางบาล ระบุน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ถนนสายรองจมทุกเส้นทาง วอน ชลประทาน อย่าปล่อยน้ำเพิ่ม นางอำไพ สุขสาคร อายุ 60 ปี พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 31/2 หมู่ 1 ต.สะพานไท อ.บางบาล เปิดเผยว่า บ้านปลูกสร้างในพื้นที่ทุ่งรับน้ำบางบาล 1 หรือชาวบ้านเรียกว่า ทุ่งบ้านขวาง ทุ่งบางโรง ชลประทานได้ผันน้ำเข้าทุ่ง ที่มีชาวบ้านพักอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 100 หลังคาเรือน ต้องเดือนร้อนหนัก น้ำขึ้นเร็วมากสูงไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ถนนสายรองน้ำท่วมถูกตัดขาดหมดแล้ว เหลือแต่ถนนสายหลัก กลัวชลประทานจะปล่อยน้ำเข้าทุ่งจนถนนสายหลักต้องท่วมด้วย ปริมาณให้อยู่ในระดับขอบถนนก็ยังดี จะได้เข้าออกหมู่บ้านได้สะดวก คนสูงอายุ เด็ก และคนพิการ เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลได้ทันกับการยื้อชีวิต
(น้ำท่วมลพบุรีบุรี ภาพจาก Thai PBS)
น้ำท่วมลพบุรี กรมชลประทานออกประกาศเตือนประชาชนท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์รับมือระดับน้ำท่วมสูง หลังปริมาณน้ำใกล้ล้นความจุอ่าง อิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำ ทำให้ฝนตกหนักทางตอนบน โดยเฉพาะเขต ต.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพุบรี วัดปริมาณฝนสูงสุดได้ 130 มิลลิเมตร มีน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างรวดเร็ว กรมชลประทานจำเป็นต้องพร่องน้ำออกเป็นระยะๆ ในเกณฑ์ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบต่อตัวเขื่อน จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณริม 2 ฝั่งแม่น้ำป่าสัก โดยเฉพาะในเขต จ.สระบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา เตรียมพร้อมรับมือกับระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อจากนี้ ทั้งนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 932 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 96 ของความจุเก็บกักสูงสุด
น้ำท่วมกาญจนบุรี สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ของจังหวัดกาญจนบุรี พบว่า เขื่อนศรีนครินทร์ อยู่ที่ระดับ 173.44 เมตร ร.ทก.(สูงสุด 180) คิดเป็น 85.24 % สามารถรับน้ำได้อีก 2,619.94 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับเขื่อนวชิราลงกรณ อยู่ที่ระดับ 151.03 เมตร ร.ทก.(สูงสุด 155) คิดเป็น 83.44 % สามารถรับน้ำได้อีก 1,467.44 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทั้งสองเขื่อนยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกกว่า 4 ,000 ล้าน ลบ.ม.
(น้ำท่วมอ่างทอง หมาแมวขาดแคลนอาหาร ภาพจาก มติชนออนไลน์)
น้ำท่วมอ่างทอง น้ำท่วมสูงกว่า2สัปดาห์ ส่งผลให้ชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงหมาแลแมวขาดแคลนอาหาร วอนผู้ใจบุญนำอาหารมาช่วยเลี้ยงหมาและแมวหลังขาดแคลนอาหาร ด้านสถานการณ์ระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยา วัดที่จุดสำนักงานชลประทานที่ 12 หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ระดับน้ำสูง 8.21 เมตรที่ระดับตลิ่งที่ 9.32 เมตร และระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกวันทำให้สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้ว 1,400ครอบครัว
(น้ำท่วมชัยนาท จับเต่าสร้างรายได้ ภาพจาก มติชนออนไลน์)
น้ำท่วมชัยนาท จากสภาพน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ชัยนาท ทำให้นายชัย ตุ้มเงิน อายุ 50 ปี ชาว ต.บ้านเชี่ยน อ.หันคา ปกติมีอาชีพจับปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาออกขายนั้น จึงหันมาหาจับเต่าแทนที่มักโผล่ตามริมตลิ่ง โดยใช้ลอบไนล่อนวางเป็นกับดัก ปรากฏว่ามีเต่าติดลอบวันละหลายตัว นำไปขายให้แม่ค้าในตลาดสดเทศบาลเมืองชัยนาท สร้างรายได้ตกวันละ 300-400 บาท หรือมีรายได้ต่อเดือนร่วมหมื่นบาท
(น้ำท่วมพิษณุโลก ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมพิษณุโลก เนื่องจากในพื้นที่ต้นน้ำยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และจากระดับน้ำในแม่น้ำวังทอง ที่ยังทรงตัวสูงความแรงของน้ำ ส่งผลให้ถนนบ้านดงพลวง ม.7 ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ที่เป็นแนวท่อลอดข้ามคลองเข็ก คลองที่เชื่อมมาจากแม่น้ำวังทอง ถูกน้ำพัดถนนขาด ระยะทางยาวประมาณ 5 เมตร ซึ่งสร้างความลำบากให้กับชาวบ้านอย่างมาก เพราะเป็นถนนที่เชื่อมระหว่าง ต.วังพิกุล และ ต.หนองพระ อ.วังทอง ชาวบ้านต้องช่วยกันทำสะพานไม้ชั่วคราวมาเพื่อสัญจรเป็นการชั่วคราว
(น้ำท่วมกาญจนบุรี ภาพจาก มติชนออนไลน์)
น้ำท่วมกาญจนบุรี หลังจากฝนตกติดต่อกันมานาน 3 วัน ทำให้กระแสน้ำพัดถนนที่เชื่อมระหว่าง หมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 8 ต.หนองโสน ขาดเป็น 2 ช่วง กว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร ประชาชนทั้งสองหมู่บ้านไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้
ส่วนปริมาณน้ำที่ฝายน้ำคุ้งน้ำได้เพิ่มปริมาณมากขึ้น ทำให้น้ำเริ่มเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เร่งเปิดประตูระบายน้ำ ให้น้ำระบายลงสู่คลองหมื่นเทพแล้ว ส่วนพื้นที่เทศบาลบาลเลาขวัญก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน แต่ไม่มากนัก
(น้ำท่วมปราจีนบุรี ภาพจาก มติชนออนไลน์)
น้ำท่วมปราจีนบุรี ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ปราจีนบุรี ระบุพื้นที่น้ำท่วม ดังนี้ อ.นาดี น้ำลดลง, อ.กบินทร์บุรี น้ำลดลง, อ.ประจันตคาม น้ำเพิ่มขึ้น, อ.ศรีมหาโพธิ น้ำลดลง, อ.เมืองปราจีนบุรี น้ำเพิ่มขึ้น, อ.ศรีมโหสถ น้ำลดลง และ อ.บ้านสร้าง ระดับน้ำท่วมคงที่
สำหรับสภาพโดยรวมแต่ละพื้นที่ มีดังนี้ ที่ อ.กบินทร์บุรี น้ำเริ่มลดลงแล้ว โดยเฉพาะตลาดบริบูรณ์น้ำแห้งสนิท ชาวบ้านร้านค้าเริ่มทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน ส่วนที่ อ.ศรีมหาโพธิ น้ำลดลงเล็กน้อยประมาณ 10 เซนติเมตร พบว่าที่ตลาดท่าประชุม ในเทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ ตั้งติดกับแม่น้ำปราจีนบุรีน้ำยังท่วมสูง 60 ซม. และชุมชนริมฝั่งน้ำสูงกว่า 1-2 เมตร
พื้นที่ อ.ประจันตคาม เนื่องจากคันดินชลประทานพังทลายที่ ต.วังดาล อ.กบินทร์บุรี เป็นพื้นที่รอยต่อกับ ต.บ้านหอย, ต.เกาะลอย, ต.ประจันตคาม อ.ประจันตคาม ระดับน้ำยังท่วมสูงในระดับน้ำทรงตัว พื้นที่ ต.บ้านหอย หมู่ 7 บ้านเกาะแดง ถนนจมน้ำที่ระดับ 120 เซนติเมตร
ส่วนน้ำที่หลากจากแม่น้ำปราจีนบุรี ท่วมเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี เพิ่มสูงขึ้น 50-60 ซม. เต็มถนนทุกสาย นอกจากนี้ สถานที่ราชการที่น้ำท่วมในย่านถนนปราจีนอนุสรณ์ สูงกว่า 70-80 ซม. อาทิ สำนักงานเกษตร จ.ปราจีนบุรี, สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี และสำนักงาน กกต.ปราจีนบุรี เป็นต้น
รายงานสถานการณ์ "น้ำท่วมภาคกลาง" ในแต่ละจังหวัด อัพเดทล่าสุดวันที่ 2 ตุลาคม 2556
(น้ำท่วมพิษณุโลก ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมพิษณุโลก สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก หลังจากน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์หลากเข้าท่วมแม่น้ำวังทองจนเอ่อล้นหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ หมู่ 1 บ้านเนินกุ่ม น้ำได้ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนมาตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ เกือบ 10 วันแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารและประชาชน ยังไม่สามารถอุดพนังกั้นน้ำได้ เนื่องจากกระแสน้ำได้แรงมากส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนไม่ต่ำกว่า 500 ราย พื้นที่ทางการเกษตรท่วมกว่า 2,000 ไร่ และล่าสุดที่ หมู่ 10 บ้านไร่ ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม พนังกั้นแม่น้ำวังทองได้พังเพิ่มอีก 1 แห่ง ยาวกว่า 10 เมตร กระแสน้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรอีกกว่า 1,000 ไร่
(น้ำท่วมปราจีนบุรี ภาพจาก สำนักข่าวไทย)
น้ำท่วมปราจีนบุรี สถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะวัดแก้วพิจิตร พระอารามหลวง โบราณสถานสำคัญของจังหวัด ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทั้งบริเวณ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฏิพระ รวมถึงพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ทางวัดได้รวบรวม ข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณไว้ พระสงฆ์ช่วยกันนำอิฐมาก่อเป็นพนังกั้นน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำเข้าท่วมตัวกุฏิเพิ่ม ขณะที่ถนนแก้วพิจิตรบริเวณหน้าวัดขณะนี้ต้องปิดการจราจร เนื่องจากน้ำสูงกว่า 1 เมตรเช่นกัน
ด้านอำเภอกบินทร์บุรี บริเวณตลาดบริบูรณ์น้ำลดลงแล้วเปิดค้าขายได้ตามปกติ เหลือชุมชนตลาดเก่าเทศบาลกบินทร์น้ำทรงตัวสูง 1 เมตร ขณะที่ตลาดท่าประชุม อำเภอศรีมหาโพธิ น้ำลงอีก 30 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรีระดับน้ำสูงประมาณ 60 เซนติเมตร.
(น้ำท่วมอ่างทอง ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมอ่างทอง บริเวณหมู่ที่ 6 ต.บ้านแห อ.เมือง จ.อ่างทอง เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแห ได้นำสารอีเอ็ม ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการบำบัดน้ำเน่าเสียไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย เนื่องจากขณะนี้น้ำที่ท่วมขังบริเวณดังกล่าวได้เริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแห เป็นห่วงชาวบ้านเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำเน่า โดยนำลงเรือไปเทลงในน้ำเพื่อบำบัดและอีกส่วนหนึ่ง ใช้รถบรรทุกสารอีเอ็มนำไปเทบริเวณที่มีพืชผลทางการเกษตรเสียหาย ส่งกลิ่นเน่าเหม็นโดยจะทยอยทำไปเรื่อยๆจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะดีขึ้น
(น้ำท่วมอ่างทอง ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมอ่างทอง สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณหมู่ที่ 5 และ หมู่ที่ 6 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ประชาชนหลายรายเริ่มมองว่า เข้าสู่ขั้นวิกฤติแล้ว เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของการทำกิน ซึ่งตอนนี้ขาดรายได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ประมาณ 1.30 ซ.ม. อย่างไรก็ตาม องค์การบริหารส่วน ต.โผงเผง ได้ร่วมมือกับ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.อ่างทอง นำเต็นท์ที่พักชั่วคราวมาวางไว้บนถนน พร้อมรถสุขาเคลื่อนที่ เพื่อนช่วยเหลือประชาชนแล้ว
(น้ำท่วมอยุธยา ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมอยุธยา สถานการณ์ น้ำท่วมบริเวณ หมู่ที่ 1 ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล จ.พระนครศรียุธยา ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับ จ.อ่างทอง ในวันนี้เริ่มเข้าสู่วันที่ 17 แล้ว ที่ประชาชนบริเวณริมสองฝั่งคลองบางหลวง ซึ่งเป็นคลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม ที่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ มาร่วม 2 สัปดาห์ ขณะที่ประชาชนหลายราย เปิดเผยว่า ตอนนี้ต้องเผชิญกับปัญหาในการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้ อีกทั้ง การเดินทางเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
(น้ำท่วมปราจีน ภาพจาก Thai PBS)
น้ำท่วมปราจีนบุรี เทศบาลเมืองปราจีนบุรีกำลังเร่งระบายน้ำในพื้นที่ราบลุ่มต่ำ เนื่องจากยังคงมีระดับน้ำท่วมขัง 20-30 ซม. ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 ตร.กม. โดยเทศบาลได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 ตัว ติดตั้งบริเวณประตูน้ำคลองไผ่ ก่อนจะสูบลงทุ่งรอบเมือง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน น้ำถึงจะลดเป็นปรกติ ทั้งนี้ สถานการณ์ในการภาพรวมทั้งอ.เมือง, อ.ศรีมหาโพธิ และอ.กบินทร์ ถือว่าเริ่อมคลี่คลายแล้ว ขณะเดียวกัน พื้นที่รับน้ำต่อไป คือ อ.บ้านสร้าง เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ระบุว่า เริ่มปรับตัวกับการการอยู่กับน้ำได้บ้างส่วน
(น้ำท่วมอยุธยา ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมอยุธยา จาการเปิดเผยของ นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า น้ำที่ท่วมบ้านเรือนประชาชนสูงและท่วมเป็นวงกว้างนานกว่า 20 วัน ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้าน เริ่มขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด เนื่องจากการเดินทางลำบากที่จะออกมาจับจ่าย บางบ้านต้องอพยพมาอาศัยริมถนนหลับนอน และยังดีที่มีหน่วยงานและหลายหน่วยงานมาแจกเครื่องอุปโภคบริโภคให้ประทังชีวิต
โดยขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำโดย นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. ลงพื้นที่แจกสิ่งของจำนวน 350 ชุด ที่หมู่ 2 ต.บางบาล อ.บางบาล ที่ถูกน้ำท่วมสูง
(เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ภาพจาก สปริงนิวส์)
น้ำท่วมอยุธยา นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า วันนี้ (2 ก.ย.) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ปล่อยน้ำที่ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไหลมาตามแม่น้ำป่าสัก จนถึงเขื่อนพระรามหก บวกกับน้ำคลองชัยนาท - ป่าสักที่ไหลมาบรรจบ ทำให้เขื่อนพระรามหก ต้องปล่อยน้ำลงแม่น้ำป่าสักตอนล่างมากถึง 509 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนในเขต อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และอ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มขึ้นอีก 10-20 เซนติเมตร โดยชุมชนริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ จะได้รับผลกระทบในช่วงนี้
(น้ำท่วมพิษณุโลก ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมพิษณุโลก หลังจากที่พนังกั้นน้ำแม่น้ำวังทอง ในพื้นที่ ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พังเสียหายจมน้ำทะลักเข้าท่วม 3 หมู่บ้าน คือที่ หมู่ 2, 8 และ 14 โดยน้ำได้เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนฟาร์มหมูและพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ล่าสุดทางเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยทหารและประชาชนช่วยกันนำบิ๊กแบ็กเข้าซ่อมแซมพนังกั้นน้ำและคันคลองที่แตกชำรุดได้เป็นผลสำเร็จ ขณะนี้ยังไม่มีปริมาณน้ำและฝนตกลงมาเพิ่มแต่อย่างใด ส่งผลให้ระดับน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ ต.วังพิกุล อ.วังทอง ลดระดับลงอย่างช้า ๆคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 7 - 10 วัน
(น้ำท่วมสระบุรี ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมสระบุรี นายชรัส บุญณสะ ปลัดจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ทางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ปล่อยน้ำจากเดิม 200 ลูกบาศก์เมตร เป็น 400 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังไม่มีผลกระทบอะไรมากนักแต่ถ้ามีการปล่อยน้ำในระดับ 600 ลูกบาศก์เมตร จะมีผลกระทบแน่นอนเพราะจะทำให้น้ำบ่าเข้าท่วมริมตลิ่งบ้านเรือนประชาชน ใน อ.วังม่วง เป็นพื้นที่แรก จากนั้นเส้นทางน้ำจะผ่านไปที่ อ.แก่งคอย อ.วิหารแดง อ.เมือง อ.เส้าไห้ ก่อนเข้าสู่ จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อไป
(น้ำท่วมปราจีน ภาพจาก Thai PBS)
น้ำท่วมปราจีนบุรี สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจ.ปราจีนบุรี ระดับน้ำเริ่มที่จะลดลงแล้ว แต่ในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ยังถูกน้ำท่วมสุงที่ระดับ 30 เซนติเมตร ในส่วนของอ.ศรีมหาโพธิ และอ.กบินทร์บุรี ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ถนนส่วนใหญ่น้ำแห้งแล้ว รถเล็กสามารถสัญจรได้เกือบปกติแล้ว อาคารริมถนนเริ่มกลับมาทำความสะอาด ขนกระสอบทรายขึ้นแล้ว ยกเว้นพื้นที่ลุ่มต่ำของเทศบาลต.ศรีโพธิ ที่อยู่ริมแม่น้ำปราจีนบุรี ที่ยังคงมีน้ำท่วมสูง 30 เซนติเมตร สถานการณ์ในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี พื้นที่เศรษฐกิจน้ำลดลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะที่บางชุมชนในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำยังคงท่วมสูง เช่น หมู่บ้านทรัพย์ไพลิน น้ำยังคงท่วมที่ 50-80 เซนติเมตร
รายงานสถานการณ์ "น้ำท่วมภาคกลาง" ในแต่ละจังหวัด อัพเดทล่าสุดวันที่ 1 ตุลาคม 2556
(น้ำท่วมปราจีน ภาพจาก สำนักข่าวไทย)
น้ำท่วมปราจีนบุรี นพ.พงศธร สร้อยคีรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยระดับน้ำท่วมในบริเวณโรงพยาบาลว่า ล่าสุด (1 ต.ค.) น้ำได้ขึ้นมาอีก 10 เซนติเมตร เป็น 45 เซนติเมตร ส่วนตัวอาคารได้ยกสูงระดับน้ำยังต่ำกว่า 1 เมตร และขณะนี้โรงพยาบาลได้ย้ายผู้ป่วยวิกฤติ 2 ราย ไปที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอกบินทร์บุรีลดลงแล้ว โดยยังเหลือผู้ป่วยทั่วไป 14 คน แต่ถ้าน้ำสูงขึ้นอีก 50-70 เซนติเมตร จำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยทั้ง 14 คน พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญ โดยได้เตรียมสถานที่ไว้แล้วที่หอประชุมอำเภอประจันตคาม และช่วงนี้งดการรักษาด้านทันตกรรมชั่วคราว ส่วนการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกหากมีผู้ป่วยหนักต้องนอนรักษาตัวจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลกบินทร์บุรี
สำหรับอำเภอประจันตคามเป็นพื้นที่รับน้ำมาจากอำเภอกบินทร์บุรี ขณะนี้น้ำทรงตัวสูงในพื้นที่ตำบลบ้านหอย หมู่ 7 บ้านเกาะแดง ถนนจมน้ำ 120 เซนติเมตร รถทุกชนิดผ่านไม่ได้ ขณะที่อำเภอกบินทร์บุรีน้ำลดเป็นปกติ โดยเฉพาะตลาดบริบูรณ์น้ำแห้งสนิท ชาวบ้านร้านค้าเริ่มทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน ส่วนอำเภอศรีมหาโพธิน้ำลดลงเล็กน้อยประมาณ 10 เซนติเมตร โดยตลาดท่าประชุมน้ำยังท่วมสูง 60 ซม. และชุมชนริมฝั่งน้ำสูงกว่า 1-2 เมตร
(น้ำท่วมอ่างทอง ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมอ่างทอง สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ม.1 ต.จำปาหล่อ อ.เมือง จ.อ่างทอง หลังจากถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้ว ชาวบ้านเริ่มประสบปัญหาเรื่องห้องน้ำ และบางบ้านต้องอยู่กันอย่างแออัดบนบ้าน จนตอนนี้เริ่มมีอาการเครียด ระดับน้ำตอนนี้สูงขึ้นกว่า 2 เมตร ขณะที่ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา มีฝนตกตลอด ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 ซ.ม.
ส่วนอีก 1 จุด ที่น้ำเริ่มไหลเข้าบ้านเรือน บริเวณประตูน้ำบางปลากด หมู่ 4 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ชาวบ้านได้ช่วยกันนำกระสอบทรายมากั้นตามคันคลอง เพื่อกั้นไม่ให้น้ำทะลักเข้าบ้านเรือนเพิ่มเติม แต่หากฝนตกติดต่อกันภายใน 2-3 วันนี้ ก็อาจจะไม่สามารถต้านทานได้
(น้ำท่วมปราจีน ภาพจาก Thai PBS)
น้ำท่วมปราจีนบุรี สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ขณะนี้ยังคงมีการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำในแม่น้ำยังคงล้นตลิ่ง และอยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งระดับน้ำอยู่ที่ 42 ซม. ขณะบางพื้นที่ในตัวเมืองมีน้ำท่วมพื้นผิวการจราจรประมาณ 5-10 ซม. ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ ในส่วนของพื้นที่ราชการ ยังมีน้ำท่วม 10-30 ซม. ทำให้การระบายเป็นด้วยความยากลำบาก โดยศาลากลางจังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 ม. ซึ่งน้ำมีลักษณะนิ่ง ไม่มีการระบายออก เช่นเดียวกับสถานีตำรวจที่ยังมีน้ำท่วมเต็มพื้นที่
(น้ำท่วมอยุธยา ภาพจาก มติชนออนไลน์)
น้ำท่วมอยุธยา พื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำถูกน้ำท่วมแล้ว 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางบาล อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอท่าเรือ และอำเภอนครหลวง รวม 99 ตำบล 584 หมู่บ้าน บ้านเรือน 29,140 หลัง ประชาชนได้รับผลกระทบ 97,324 คน มีวัดถูกน้ำท่วม 34 แห่ง โรงเรียน 27 แห่ง มัสยิด 1 แห่ง สถานที่ราชการ 4 แห่ง ซึ่งระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 1-2 เมตร และในบางแห่ง เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมาก อาจท่วมลึกมากกว่า 2 เมตร อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ อาจมีระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้นอีก 5-10 เซนติเมตร ด้วยมีฝนตกในพื้นที่ภาคกลาง
น้ำท่วมปทุมธานี ชาวบ้านร้องเรียนว่า ในการเคหะ ระพีพัฒน์ คลองสี่ โครงการ 1 และ โครงการ 2 รวมทั้งชาวบ้าน หมู่ 16 ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่อาศัยอยู่ติดริมคลองระพีพัฒน์ ได้รับความเดือดร้อนจากการระบายน้ำภายในโครงการเคหะ และ การระบายน้ำผ่านท่อระบายน้ำริมถนนระพีพัฒน์ เนื่องจากพบว่ามีการทำถนนเลียบคลองระพีพัฒน์ แต่เศษปูน เศษหิน ที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการทำถนน ไปอุดตันที่ท่อระบายน้ำทำให้น้ำไม่สามารถระบายไปได้ จึงทำให้น้ำดันท่อระบายน้ำในเคหะ และดันผุดขึ้นเอ่อท่วมถนนในหมู่บ้าน จนเริ่มเน่า มีสีดำคล้ำ ส่งกลิ่นเหม็น เพราะน้ำไม่สามารถระบายออกไปได้
รายงานสถานการณ์ "น้ำท่วมภาคกลาง" ในแต่ละจังหวัด อัพเดทล่าสุดวันที่ 30 กันยายน2556
(ภาพน้ำท่วมพิษณุโลกอพยพวุ่นพนังกั้นน้ำวังทองแตก)
น้ำท่วมพิษณุโลก อพยพวุ่นพนังกั้นน้ำวังทองแตก ท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว ระดับสูงเกือบ 1 เมตร ชาวบ้านช่วยกันขนย้ายสัตว์เลี้ยง หมู ไก่ และสิ่งของในบ้านพักขึ้นสู่ที่สูง พนังกั้นริมแม่น้ำวังทอง บ้านทางลัดแตก น้ำจากแม่น้ำวังทองไหลเข้าท่วมพื้นที่หมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำสูง 1 เมตร ทหารกองทัพภาคที่ 3 และเจ้าหน้าที่กู้ภัยบูรพา กำลังช่วยเหลือชาวบ้านอพยพเป็นการเร่งด่วน โดยความแรงของกระแสน้ำในแม่น้ำวังทอง ได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชน ที่บ้านทางลัด ม.5 ต.วังพิกุล พนังกั้นริมฝั่งแม่น้ำวังทองฝั่งซ้าย พังเป็นทางยาว ส่งผลให้น้ำจากแม่น้ำวังทองที่มีระดับสูงมาก ได้ไหลเข้าสู่พื้นที่บ้านทางลัดอย่างรวดเร็ว สร้างความโกลาหลให้กับประชาชนบ้านทางลัดอย่างมาก โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำวังทอง ระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และไหลเข้าท่วมบ้านประชาชนในระดับสูงเกือบ 1 เมตร ชาวบ้านต้องช่วยกันขนย้ายสิ่งของภายในบ้านพักขึ้นมาริมถนนและชั้นสองของบ้านพัก เป็นการเร่งด่วน
นอกจากนี้ ยังมีฟาร์มหมูของ นายวิรัตน์ มั่นสายทอง อายุ 40 ปี เลขที่ 99 ม.5 บ้านทางลัด ต.วังพิกุล ที่อยู่ติดกับแม่น้ำวังทอง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และลูกหมู จำนวน 100 ตัว ที่ต่างปีนป่ายขึ้นบนหลังคา ร้องส่งเสียงดัง ชาวบ้านได้ระดมแรงช่วยกันขนย้ายหมูขึ้นสู่ที่สูง ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก
(น้ำท่วมปราจีน ภาพจาก Thai PBS)
น้ำท่วมปราจีน สถานการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองปราจีนบุรีเริ่มวิกฤตถนนหลายสายที่จมอยู่ใต้น้ำในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ลังน้ำไหลทะลักเข้าท่วมและกระจายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ขณะที่ร้านค้า, สถานที่ราชการ, โรงเรียน และรอบๆศาลจังหวัดปราจีนบุรี ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 60 เซนติเมตร บางส่วนมีการดึงแนวกั้นน้ำของทางเทศบาลมากั้นน้ำที่บริเวณบ้านของตัวเอง รวมทั้งนำรั้วเหล็กมากั้นปิดถนนเส้นแก้วพิจิตรไม่ให้รถสัญจรผ่านซอยหน้าบ้านของตัวเอง ทำให้การจราจรบริเวณเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรีรถติดมากขึ้น
(น้ำท่วมชัยนาท ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมชัยนาท หลังฝนตกหนักทำให้น้ำป่าจากยอดเขาพลอง ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ม.4 และ ม.5 ต.เขาท่าพระ อ.เมืองชัยนาท ทำให้บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมขังกว่า 100 หลังคาเรือน โดยเฉพาะบ้านที่ปลูกแบบชั้นเดียว ติดกับพื้น ต้องขอแรงเพื่อนบ้านช่วยยกของ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนอน ขึ้นวางบนที่สูง ตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำขึ้นสูง 40 ซ.ม. ในบางจุดสูงถึง 80-100 ซ.ม. ด้าน อบต.เขาท่าพระ กำลังส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป
(น้ำท่วมปราจีน ภาพจาก Thai PBS)
น้ำท่วมปราจีนบุรี มวลน้ำจากพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี ไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรีอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ล้นตลิ่งแล้ว 40 เซนติเมตร น้ำล้นไหลเข้าท่วมถนนสูงเกือบ 20 เซนติเมตร
ชาวบ้านกำลังเร่งย้ายของขึ้นที่สูง เพราะว่ากลางเมืองปราจีนบุรี มีน้ำท่วมสูง 20-30 เซนติเมตร ซึ่งคาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะยังมีมวลน้ำจากแควพระปรง จ.สระแก้ว ไหลมาเติมในแม่น้ำปราจีนบุรีอย่างต่อเนื่อง
น้ำท่วมอยุธยา ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาใน จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้มีน้ำฝนท่วมขังบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี (ทุ่งหันตรา) สูงประมาณ 10 เซนติเมตร และน้ำฝนที่ตกลงมายังทำให้น้ำในบ่อภายในสวนสาธารณะอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี (ทุ่งหันตรา) เอ่อล้นท่วมถนนบางส่วน เจ้าหน้าที่จึงได้เร่งทำการสูบน้ำออกต่อไป ขณะที่ระดับน้ำภายในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ปริมาณยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้มีระดับเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 5 -10 เซนติเมตร ทำให้บ้านเรือนประชาชนที่ติดสองฝั่งแม่น้ำปริมาณน้ำได้ท่วมบริเวณชั้นล่างของบ้านเรือนประชาชนแล้ว
(น้ำท่วมอ่างทอง ภาพจาก Thai PBS)
น้ำท่วมอ่างทอง หลังอิทธิพลพายุโซนร้อน "หวู่ติ๊บ"กระหน่ำทำให้พื้นที่จังหวัดอ่างทองมีฝนตกจำนวนมากทำให้น้ำในคลองชลประทานหมู่1 ต.จำปาหล่อ ไหลทะลักเข้าท่วมฟาร์มนกกระทาของนาย ภาคภูมิ ดีพร้อม อายุ 34 ปี ทำให้นกกระทาที่มีอายุ 15 วันต้องจมน้ำตายกว่า 20,000 ตัว ค่าเสียหายหลายแสนบาท โดยเบื้องต้นนายฉัตรชัย เย็นทรวง ปลัดอาวุโส อำเภอเมืองอ่างทองเข้าตรวจสอบทำเรืองรายงานส่งทางเจ้าหน้าที่เกี่ยวของทำการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
น้ำท่วมอุทัยธานี ถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี หลายอำเภอคลี่คลาย โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนวังร่มเกล้าระดับน้ำเข้าสู่ระดับปกติ ยังคงเหลือแต่พื้นที่ท้ายเขื่อนวังร่มเกล้า ต.หนองไผ่แบน ต.โนนเหล็ก ระดับน้ำท่วมที่เกิดจากคันกั้นน้ำพังริมแม่น้ำตากแดดพัง ยังคงท่วมขังนาข้าวเป็นบริเวณกว้าง ส่วน ในพื้นที่ ต.เนินแจง หมู่ 8 อ.เมือง ระดับน้ำยังท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ความเป็นอยู่ของประชาชนยังต้องใช้เพียงเรือในการสัญจร นาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต หมู่ 1และหมู่ 6 ตำบลท่าซุง อ.เมือง ก็ยังถูกน้ำเจ้าพระยาเอ่อเข้าท่วม บ้านเรือน และไร่ นา ของประชาชน ระดับน้ำสูง 30-50 เซนติเมตร ประชาชนยังต้องใช้เรือนในการสัญจรเข้าออกบ้านเรือน เช่นกัน
(ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมปราจีนบุรี น้ำทะลักท่วมเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี สถานที่ราชการ บางจุดน้ำสูง 60 ซม. รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ส่วนทางด้าน อ.ศรีมหาโพธิ ระดับน้ำลดลงประมาณกว่า 10 เซนติเมตร ส่วนที่ อ.กบินทร์บุรี ระดับน้ำลดลง กว่า 20 เซนติเมตร แต่อำเภอที่ยังประสบปัญหาระดับน้ำเพิ่มขึ้นคือ อ.ประจันตคาม เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำต่อจาก อ.กบินทร์บุรี อย่างไรก็ตามวันนี้คงต้องจับตาดูสถานการณ์น้ำกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อช่วงเช้าฝนตกลงมา จะส่งผลกระทบในพื้นที่น้ำท่วมมากน้อยเพียงใด
น้ำท