เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสาน
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานในแต่ละจังหวัด (อัพเดทล่าสุดวันที่ 3 ตุลาคม 2556)
(น้ำท่วมนครราชสีมา ภาพจาก มติชนออนไลน์)
น้ำท่วมนครราชสีมา เจ้าหน้าที่สำนักบำรุงทาง นครราชสีมาที่ 3 ได้ช่วยกันขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ขึ้นบนที่สูง และบางส่วนก็กำลังใช้รถตักดินขนาดเล็ก ขุดดินที่อยู่บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 81/1 บ้านท่าอ่าง ม.1 ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เพื่อช่วยเปิดทางระบายน้ำให้กว้างขึ้น ภายหลังจากที่ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ในพื้นที่ ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย มีฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืน ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาระบายไม่ทัน จนเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนดังกล่าว
(น้ำท่วมศรีสะเกษ ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมศรีสะเกษ สถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ เขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หลายชุมชนได้ถูกน้ำท่วมอย่างหนัก ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก บางส่วนต้องทิ้งบ้านเรือนและทรัพย์สินอพยพมาอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่ทาง จ.ศรีสะเกษ ได้จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งล่าสุด แนวโน้มของระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง วันละประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วนระดับน้ำห้วยสำราญ ที่สถานี M 9 สะพานขาว จ.ศรีสะเกษ อยู่ที่ 11.78 เมตร สูงกว่าตลิ่งอยู่ 2.78 เมตร
(น้ำท่วมนครราชสีมา ภาพจาก มติชนออนไลน์)
น้ำท่วมนครราชสีมา น้ำได้ไหลเข้าท่วมสถานที่ราชการ ฯ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับลุ่มน้ำมูล ความเสียหายล่าสุด ได้ประกาศภัยพิบัติน้ำท่วม 150 หมู่บ้าน 12 ตำบล โดยมี ต.นิคมสร้างตนเอง และ ต.หนองระเวียง ที่ไม่ถูกน้ำท่วม และ พื้นที่เกษตร 16,200 ไร่ ทางราชการระดมกำลังให้ความช่วยเหลือ โดยให้แต่ละ อปท. จัดตั้ง ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยชั่วคราว
ขณะที่ที่ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา น้ำได้ไหลล้นทะลักจากลำมาศ และ แม่น้ำมูล เข้าท่วมพื้นที่เทศบาลตำบลชุมพวง โดยเฉพาะตลาดสด และ ร้านค้า ระดับน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องขนย้ายสิ่งของมีค่ากันจ้าละหวั่น ขณะนี้ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม 48 หมู่บ้าน 8 ตำบล 16,200 ไร่
(น้ำท่วมขอนแก่น ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมขอนแก่น นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จำเป็นจะต้องระบายน้ำในอัตราเฉลี่ยวันละ 16 ล้าย ลบ.ม. ไปจนถึงวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้ระดับน้ำอยู่ในเส้นควบคุม ซึ่งจากปริมาณน้ำที่ปล่อยดังกล่าว ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนประสบปัญหาน้ำท่วมในระยะนี้ แต่ยังต้องเฝ้าระวังกับพายุฝนและปริมาณน้ำจากพื้นที่จังหวัดข้างเคียง ที่เริ่มทยอยไหลเข้าสู่พื้นที่ จ.ขอนแก่น อย่างต่อเนื่องแล้วด้วยเช่นกัน
(น้ำท่วมอำนาจเจริญ ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมอำนาจเจริญ นายสมพงษ์ จารุจิตร อายุ 64 ปี ราษฎร อาชีพทำนา อยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ 8 ต.คำพระ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ แจ้งว่า นาข้าวในเขต ต.คำพระ ที่ถูกน้ำท่วมนาน 7 วัน ขณะนี้เริ่มตาย ลำต้นเน่า เนื้อที่กว่า 500 ไร่ ทางราษฎรขอให้ทางราชการช่วยเหลือ ด้าน นายวีระวัฒน์ ชื่นวาริน ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ประกาศแจ้งไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ที่น้ำท่วมไร่นา ได้เร่งสำรวจ ส่งข้อมูลความช่วยเหลือมาทางอำเภอ เพื่อรวบรวมไว้ให้การช่วยเหลือราษฎรต่อไป
น้ำท่วมนครราชสีมา เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรเร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทำการบรรจุกระสอบทราย เพื่อนำมาวางกั้นที่บริเวณด้านข้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอำเภอพิมาย ที่เก็บโบราณวัตถุ หลังจากที่ระดับน้ำภายในลำน้ำมูลที่ไหลผ่านบริเวณด้านข้างของพิพิธภัณฑ์ มีระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเย็นของ 2 วันที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำภายในลำน้ำมูลมีระดับที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 5 - 6 เซนติเมตร ส่งผลให้ล่าสุดระดับน้ำภายในลำน้ำมูลมีระดับน้ำที่อยู่ห่างจากขอบตลิ่งของพิพิธภัณฑ์ปริมาณ 20 เซนติเมตร ก็จะเอ่อล้นไหลเข้าท่วมพิพิธภัณฑ์
ขณะที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำเหนือประตูระบายน้ำอยู่ 153.11 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่สูงกว่าปีกกำแพงเขื่อนระบายน้ำ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการเปิดประตูระบายทั้ง 6 บาน อีกทั้งยังได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อผันน้ำลงคลองส่งน้ำ จำนวน 2 บาน สูง 50เซนติเมตร และประตูระบายน้ำที่ระบายลงสู่ลำน้ำเค็ม อีกจำนวน 3 บาน มีระดับความสูง 50 เซนติเมตร มี ทั้งนี้เพื่อทำการเร่งระบายน้ำไม่ให้ปริมาณน้ำไหลท่วมในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลพิมายจนส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น
น้ำท่วมยโสธร ปริมาณในแม่น้ำชีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 4-5 เซนติเมตร ทำให้ปริมาณน้ำบางส่วนได้ไหลเข้าท่วม บ้านกุดกง หมู่ 14 ตำบลเขื่องคำ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร โดยเฉพาะชาวบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ตามแนวตลิ่งลำน้ำชีถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตรชาวบ้านต้องขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปไว้ที่สูงเป็นการชั่วคราวก่อนรวมทั้งท่วมพื้นที่นาข้าวเป็นบริเวณกว้าง ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่จุดวัดระดับน้ำที่บริเวณท่าคำทอง ด้านหลังวัดศรีธรรมาราม อยู่ที่ 8.40 เมตร ซึ่งจุดวิกฤตอยู่ที่ 10เมตร ปริมาณน้ำก็จะเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ทันที
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานในแต่ละจังหวัด (อัพเดทล่าสุดวันที่ 2 ตุลาคม 2556)
น้ำท่วมนครราชสีมา สถานการณ์น้ำท่วมยังคงวิกฤต โดยเฉพาะที่ อ.ชุมพวง ซึ่งรับน้ำจากลำปลายมาศ และลำน้ำมูล ต่อจากอำเภอพิมาย ส่งผลให้ลำน้ำมูลเอ่อล้นเข้าท่วมหมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นบริเวณกว้าง อีกทั้งบริเวณสะพานข้ามลำน้ำมูล ได้ถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 50 เซนติเมตร และไหลเชี่ยว จนรถเล็กไม่สามารถผ่านไปได้ ขณะที่โรงเรียนพิกุลทอง ในเขตเทศบาลตำบลชุมพวง ก็ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร จนทางโรงเรียนต้องปิดทำการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งมีหมู่บ้านและชุมชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว 48 หมู่บ้าน จาก 8 ตำบล และมีพื้นที่การเกษตรเสียหายแล้วกว่า 16,200 ไร่
น้ำท่วมศรีสะเกษ ชุมชนโนนทรายทอง ต.เมืองเหนือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ แม้ว่าน้ำจะลดลงบ้างแต่ยังคงท่วมขังประมาณ 1 เมตร และน้ำที่ขังเริ่มเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น ส่วนชาวบ้านที่น้ำลดหายท่วมบ้าน เริ่มเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนของตัวเอง แต่ยังไม่กล้าขนข้าวของเข้าไปเพราะเกรงว่าน้ำอาจจะมาอีกระลอก
ส่วนพระภิกษุสงฆ์วัดป่าโนนทราย ซึ่งน้ำท่วมขัง ต้องเดินลุยน้ำที่เน่าเสียออกมาบิณฑบาตในตอนเช้าร่วม 100 เมตร และต้องเดินลุยน้ำกลับเข้าวัดเมื่อบิณฑบาตแล้ว และปลาในกระชังหลุดลอยไปกับน้ำทั้งหมด
(น้ำท่วมอุบลราชธานี ภาพจาก สำนักข่าวไทย)
น้ำท่วมอุบลราชธานี สถานการณ์แม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลราชธานี ที่สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง ระดับน้ำเพิ่มอีก 7 เซนติเมตร ยังล้นตลิ่งกว่า 2 เมตร มีผลต่อลำน้ำสาขา โดยเฉพาะลำน้ำมูลน้อยล้นตลิ่งท่วมถนนสรรพสิทธิ์ เขตเทศบาลนครอุบลราชธานีเชื่อมถนนบายพาส ในระดับ 30 เซนติเมตร ระยะทาง 500 เมตร รถเล็กสัญจรลำบากและควรหลีกเลี่ยง ขณะที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสรุปผลกระทบจากน้ำท่วมว่า ล่าสุดประชาชนอพยพเพิ่มขึ้นเป็น 3,570 ครอบครัว 11,000 คน หน่วยงานให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นมอบถุงยังชีพแล้ว 35,000 ถุง
(น้ำท่วมสุรินทร์ ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมสุรินทร์ สถานการณ์น้ำในหลายอำเภอ ได้ลดระดับและคลี่คลายลงในหลายพื้นที่ แต่พื้นที่โรงเรียนบ้านทุ่งนาค ม.7 ต.เมืองลีง อ.จอมพระ พบว่าปริมาณน้ำได้เอ่อล้นลำน้ำชี เข้ามาท่วมโรงเรียนระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร อาคารเรียนปฐมวัย อนุบาล 1 - 2 และโรงอาหารถูกท่วมท่วมทั้งหมด มีโต๊ะเก้าอี้ หนังสือบางส่วนเสียหาย ทุ่งนาและถนนรอบโรงเรียนถูกน้ำตัดขาด ต้องใช้เรือสัญจรได้ทางเดียว ส่วนระดับน้ำในแม่ล้ำมูลในพื้นที่ อ.ชุมพลบุ, ท่าตูม และ อ.รัตนบุรี อยู่ต่ำกว่าระดับตลิ่งประมาณ 2 - 3 เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังอยู่ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
น้ำท่วมยโสธร ชาวบ้านบ้านบุ่งหวายและบ้านดอนขะยอม ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ต้องนำโค-กระบือ ของตนเองออกไปเลี้ยงให้เล็มหญ้าตามริมถนนที่เชื่อมหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง หลังจากที่พื้นเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านรวมทั้งพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร จนไม่สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปเลี้ยงได้ ส่งผลให้โค-กระบือของชาวบ้านไม่มีแหล่งอาหาร ชาวบ้านจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำไปเลี้ยงเล็มหญ้าตามริมถนนไปชั่วคราว
น้ำท่วมอุบลราชธานี สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ตำบลไร่ใต้อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำที่เคยท่วมบ้านเรือนราษฏร์สูงกว่า 2 เมตรในขณะนี้ได้ลดลงแล้วกว่า 1 เมตร แต่การเข้าออกภายในหมู่บ้านยังคงใช้เรือและรถทางการเกษตรในการสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน ซึ่งมีชาวบ้านบางครอบครัวที่น้ำลดลงได้กลับเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนและเข้าอยู่บ้านตามปกติแล้ว ส่วนสถานการณ์แม่น้ำมูลในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้ได้เริ่มทรงตัว โดยระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย.
น้ำท่วมร้อยเอ็ด สถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำชีเพิ่มระดับเอ่อล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมหมู่บ้านและนาข้าวตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ กว่า 18,000 ไร่ อาทิ บ้านพันขาง บ้านโพธิ์ชัน บ้านกุดเรือ หนักสุดบ้านโพธิ์ตาก หมู่ 6 น้ำไหลบ่าเข้าท่วมถนนในหมู่บ้าน บ้านเรือนราษฎร วัดเลิงท่าสว่างโพธิ์ตาก ระดับน้ำสูง 50-80 ซ.ม. ท่วมนาข้าวเสียหายกว่า 3,000 ไร่ ระดับน้ำสูงกว่า 1.50 เมตร
(น้ำท่วมนคราชสีมา ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมนครราชสีมา หลังจากที่เมื่อคืนที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำมูลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอพิมาย น้ำมูลได้เอ่อเข้าท่วมพื้นที่สนามกีฬา และโรงครัว นักเรียนต้องช่วยกันขนย้ายโต๊ะ เก้าอี้ขึ้นสู่ที่สูง ขณะเดียวกันบริเวณหน้าศูนย์ประสานงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ก็มีระดับน้ำสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ส่วนบริเวณบ้านพักตำรวจ และสถานีตำรวจภูธรพิมาย มีน้ำเอ่อจากปากท่อระบายน้ำ ท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามทางเขื่อนพิมายก็ได้เปิดประตูระบายน้ำเต็มที่ พร้อมทั้งใช้เครื่องดันน้ำจำนวน 4 เครื่อง เพื่อช่วยดันน้ำออกจากลำน้ำมูลได้เร็วขึ้น ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่เหนือเขื่อนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานในแต่ละจังหวัด (อัพเดทล่าสุดวันที่ 1 ตุลาคม 2556)
(น้ำท่วมศรีสะเกษ ภาพจาก มติชนออนไลน์)
น้ำท่วมศรีสะเกษ สถานการณ์น้ำท่วมในเขต อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ระดับน้ำลดลงเฉลี่ยวันละ 15 ซม.ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะเข้าสู่สภาวะปกติในวันที่ 15 ต.ค.56 โดยระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสะพานขาว อยู่ที่ 12.39 ม.สูงกว่าตลิ่งอยู่ 3.37 ม.ซึ่งขณะนี้ จ.ศรีสะเกษ ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ จำนวนทั้งสิ้น 22 อำเภอ 204 ตำบล 2,621 หมู่บ้าน และ 15 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 107,589 ครัวเรือน ที่บริเวณชุมชนหนองหมู ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ระดับน้ำท่วมยังคงท่วมสูงจนเกือบถึงหลังคาบ้าน โดยชุมชนแห่งนี้มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูง จำนวน 130 หลังคาเรือน ชาวบ้านต้องพากันนำเอาเรือมาใช้ในการเดินทางเข้าออกระหว่างที่พักอาศัยชั่วคราวที่บริเวณริมถนน
(น้ำท่วมกาฬสินธุ์ ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมกาฬสินธุ์ สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่หลังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำชี ซึ่งได้รับน้ำจาก จังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบบริเวณสะพานลำชี รอยต่อระหว่าง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และบริเวณฝ่ายวังยาง ตำบลลำชี อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ปริมาณน้ำแม่น้ำชี มีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ต้องเร่งพร่องน้ำวันละ 45.32 ล้าน ลบ.ม. เพื่อป้องกันน้ำล้นพนังกั้นน้ำ
(น้ำท่วมชัยภูมิ ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมชัยภูมิ น้ำชียังคงท่วมสูงอย่างต่อเนื่องหนัก เพิ่มขึ้นใน 5 อำเภอ ที่ อ.หนองบัวระเหว, บ้านเขว้า, จัตุรัส, เนินสง่า และ อ.เมืองชัยภูมิ ซึ่งล่าสุดมวลน้ำชีก้อนใหญ่ได้ทะลักเข้าท่วมขยายวงกว้างใน อ.จัตุรัส จนขณะนี้ปริมาณน้ำท่วมสูงเริ่มล้นออกมายังถนนสายหลักเชื่อมระหว่างจังหวัด สายประตูสู่สายอีสานมิตรภาพโคราช-ชัยภูมิ สายสีคิ้ว-ชัยภูมิ ช่วง ต.ละหาน อ.จัตุรัส ถนนหลายช่วงน้ำเริ่มล้นเข้าท่วมถนนออกมาสูงกว่า 30 - 40 ซ.ม. ปิดถนนสองช่องจราจร แล้วจนรถเล็กทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้
น้ำท่วมยโสธร ปริมาณน้ำชีที่จุดวัดระดับน้ำบริเวณท่าคำทอง วัดได้ 8.30 เมตรขณะที่ริมตลิ่งจุดวิกฤตอยู่ที่ 10 เมตร ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา น้ำชีเริ่มไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านที่บ้านคุยตับเต่า หมู่ที่ 5 ตำบลขุมเงิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ริมตลิ่งแม่น้ำชีชาวบ้านต้องช่วยกันขนย้ายสิ่งของ ส่วนมากออกไปไว้ที่สูงเพื่อความปลอดภัย และจัดเตรียมเรือพายไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ขณะที่ผู้นำชุมชนทั้ง 2 ตำบล ได้ประกาศแจ้งเตือนชาวบ้านในเขตตำบลเขื่องคำ และตำบลขุมเงิน อำเภอเมืองยโสธร ที่ปลูกบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำชี เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และตลิ่งทรุด พร้อมกับให้คอยสังเกตปริมาณน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความไม่ประมาท
น้ำท่วมนครราชสีมา สถานการณ์น้ำในลำน้ำมูล เขตอำเภอพิมาย มีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่รับน้ำจากพื้นที่อำเภอต่างๆ อาทิ อ.เมือง, สีคิ้ว, สูงเนิน, ขามทะเลสอ, ปักธงชัย และโนนสูง ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ติดกับลำน้ำมูล โดยเฉพาะชุมชนตะวันตกวัดเดิม หมู่ 1 และชุมชนสระพลุ่ง หมู่ 1 เขตเทศบาลตำบลพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร จำนวนกว่า 10 หลังคาเรือน ชาวบ้านต้องนำเรือท้องแบน และแพถังน้ำมัน เข้าไปขนข้าวของภายในบ้านออกมาข้างนอกกันอย่างทุกลักทุเล
(น้ำท่วมอุบลราชธานี ภาพจาก สำนักข่าวไทย)
น้ำท่วมอุบลราชธานี ระดับน้ำแม่น้ำมูลใน จ.อุบลราชธานี ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เข้าท่วมหลายชุมชน จนชาวบ้านต้องอาศัยสองฝั่งถนนเป็นที่พักชั่วคราว โดยเฉพาะย่านสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี อ.วารินชำราบ น้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนราษฎรมากกว่า 30 ชุมชน บางจุดสูงถึง 3 เมตร โดยระดับแม่น้ำมูลจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ เนื่องจากน้ำจาก จ.นครพนม จะไหลมาสมทบ ก่อนระดับน้ำจะทรงตัวและค่อยๆ ลดระดับลง
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานในแต่ละจังหวัด (อัพเดทล่าสุดวันที่ 30 กันยายน 2556)
(น้ำท่วมนครราชสีมา ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมนครราชสีมา นางปิยะฉัตร อินสว่าง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางจังหวัดได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว 20 อำเภอ 112 ตำบล 889 หมู่บ้าน มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 100,249 ไร่ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมหมู่บ้านเบสต์โฮม หมู่ 10 ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา หลังจากได้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ของกองทัพภาคที่ 2 จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำขนาดกลาง ของเทศบาลตำบลหัวทะเล จำนวน 2 เครื่อง ระดมสูบตลอดทั้งคืน ล่าสุดระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งชาวบ้านสามารถเดินเข้า-ออกหมู่บ้านได้เกือบจะปกติแล้ว
น้ำท่วมอำนาจเจริญ หลังจากที่ชาวบ้านดอนว่าน ต.หัวตะพาน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ที่โดนน้ำท่วมขังมานานร่วม 9 วัน นาข้าวโดนน้ำท่วมเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงต้องรวมกลุ่มกันออกหาปลาตามแหล่งน้ำหลากมาวางขายสร้างรายได้งามวันละ 500-1,000 บาท บางวันได้ถึง 1,500 บาท เนื่องจากปลาที่มากับน้ำท่วมมีเป็นจำนวนมาก มีทั้งปลาที่ออกจากบ่อเลี้ยง มาจากน้ำหลากและที่สำคัญเป็นการคลายเครียดจากนาข้าวที่ท่วมตายเป็นจำนวนมากและเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย
น้ำท่วมบุรีรัมย์ สถานการณ์น้ำชี ทั้งน้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรักและน้ำฝนจากอิทธิพลพายุดีเปรสชั่น ได้ไหลหลากเข้าท่วมไร่นา ถนน วัดโรงเรียน บ้านเรือนราษฎร ในเขตพื้นที่ อ.บ้านกรวด กระสัง อำเภอสตึกและน้ำได้ท่วมอีกหลายอำเภอรวมรายงานน้ำท่วม 12 อำเภอ 65 ตำบล 618หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนกว่า 37,400 ครัวเรือน นาข้าวกว่า 79,000 ไร่
พืชไร่กว่า 9,700 ไร่ ถนน 27 สาย ฝาย 5 แห่ง ขณะนี้สถานการณ์โดยรวม
น้ำท่วมอุบลราชธานี วันนี้(30 ก.ย.)สะพานเสรีประชาธิปไตยวัดระดับน้ำมูลได้ 8.80 เมตร ขณะที่ระดับน้ำโขงที่บริเวณปากแม่น้ำสองสีวัดได้ 9.19 เมตร ระดับน้ำมูลอยู่ที่ 10.15 เมตร น้ำยังระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้สะดวก ในช่วงของวันที่ 2 กันยายน ปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีน้ำจากจังหวัดนครพนมไหลมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี แต่จะไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด ขณะที่ทางสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ได้รายงานตัวเลขผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้าแล้ว 700 รายและมีสัตว์มีพิษเป็นงูกะบากกัดชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมที่อำเภอเดชอุดมจำนวน 1 ราย
มหาสารคาม ระดับน้ำในแม่น้ำชีจังหวัดมหาสารคามเพิ่มขึ้นสูงเนื่องจากน้ำจากจังหวัดชัยภูมิปล่อยลงมาทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี เตรียมย้ายสิ่งของออกห่างจากริมฝั่ง ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่ฝายมหาสารคาม และฝายวังยาง มีระดับอยู่ร้อยละประมาณ 50 ยังเหลืออีกกว่า 4 เมตร น้ำจึงจะล้นตลิ่ง
สกลนคร ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่งของจังหวัดสกลนคร ประกอบด้วย เขื่อนน้ำพุง 40 เปอร์เซ็นต์ของความจุ,เขื่อนน้ำอูน มีปริมาณน้ำ 80 เปอร์เซ็นต์ของความจุ และหนองหารมีปริมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่ต้องเปิดบานประตูน้ำหนองหารหรือประตูน้ำสุรัส เร่งระบายน้ำออกจากทะเลสาบหนองหาร 100 เปอร์เซ็นต์ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากต้องเร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามาในช่วง 2-3 วันนี้ โดยเฉพาะปริมาณน้ำในหนองหารจะต้องให้เหลือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เพื่ออุปโภคบริโภคในพื้นที่รอบหนองหาร
ยโสธร ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่จุดวัดระดับน้ำท่าคำทองด้านหลังวัดศรีธรรมมาราม ระดับน้ำอยู่ที่ 8.30 เมตร ขณะที่จุดวิกฤตอยู่ที่ 10 เมตร ทางด้านเทศบาลเมืองยโสธร ได้เร่งนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 เครื่อง ไปติดตั้งที่บริเวณบุ่งน้อย-บุ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำของทางเทศบาลเมืองยโสธรและอยู่ติดกับริมฝั่งแม่น้ำชี เพื่อเป็นการเตรียมรับมือน้ำท่วมถ้าหากมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำชีไหลเข้าท่วมในพื้นที่ พร้อมกับได้นำกระสอบทรายไปอุดตามรอยรั่วของประตูระบายตามริมตลิ่งแม่น้ำชีตลอดแนวเพื่อป้องกันไม้ให้น้ำไหลซึมเข้าตามประตูระบายต่างๆได้
(น้ำท่วมสุรินทร์ ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมสุรินทร์ หลายหมู่บ้านใน จ.สุรินทร์ น้ำยังท่วมขัง สูงเกือบ 50 ซ.ม. ขณะที่น้ำเริ่มเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุรินทร์ จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หลายพื้นที่กลับสู่ภาวะปกติ แต่ยังพบว่ามีอีกหลายหมู่บ้าน ในพื้นที่ ต.เกาะแก้ว ต.กระออม อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำจากพื้นที่ต่าง ๆ ของ ต.สุรินทร์ ก่อนจะไหลลงไปสู่ลำห้วยทับทัน พบว่ายังถูกน้ำท่วมขังทางเข้าหมู่บ้าน ระดับสูง 30-50 เชนติเมตร การสัญจรเข้าออกหมู่บ้าน เป็นไปด้วยความลำบาก ชมรมนักวิทยุและโทรทัศน์จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นำถุงยังชีพมามอบให้กับชาวบ้านป่าเวย ต.เกาะแก้ว บ้านแขม ต.สระโน บ้านตีนเกวียน บ้านโนนทราย ต.กระออม อ.สำโรงทาบ ที่น้ำยังท่วมล้อมหมู่บ้าน นาข้าวเสียหาย ไร่อ้อย ไร่มันสำปะลังถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นจำนวนมาก และน้ำเริ่มเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานในแต่ละจังหวัด (อัพเดทล่าสุดวันที่ 29 กันยายน 2556)
(น้ำชียังทะลักไม่หยุด ชัยภูมิจมแล้ว 11 อำเภอ ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมชัยภูมิ น้ำชียังทะลักไม่หยุด ชัยภูมิจมแล้ว 11 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน กว่า 200,000 คน สถานการณ์ล่าสุด จ.ชัยภูมิ น้ำชียังท่วมลามเป็นวันที่ 6 แล้ว ในหลายอำเภอเกือบทั้งจังหวัด จาก16 อำเภอ
โดย นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เร่งลงสำรวจพื้นที่ให้การช่วยเหลือบ้านเป็นการด่วนแล้ว หลังเกิดฝนตกหนักที่ต้นน้ำชี เขต อ.หนองบัวแดง ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ที่เขื่อนลำคันฉู และเขื่อนลำปะทาว หลากเข้าท่วมในหลายอำเภอมาต่อเนื่องอย่างรวดเร็วใน 6 อำเภอ ล่าสุด ทาง จ.ชัยภูมิ ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยถูกน้ำท่วมหนัก เพิ่มอีกรวมแล้ว 11 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองชัยภูมิ, เกษตรสมบูรณ์, คอนสาร, จัตุรัส, บ้านเขว้า, บำเหน็จณรงค์, ภูเขียว, หนองบัวแดง, เทพสถิต, หนองบัวระเหว และ อ.เนินสง่า ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรเสียหายรวมมากกว่า 100,000 ไร่ มีหมู่บ้านถูกน้ำท่วมเสียหายหนักใน 62 ตำบล กว่า 500 หมู่บ้าน ประชากรเดือดร้อนมากกว่า 200,000 คน ใน 58,000 ครอบครัว และสิ่งปลูกสร้างทางราชการเสียหาย เป็นสะพานขาดรวม 12 แห่ง ฝายอ่างเก็บน้ำแตกเสียหาย 22 แห่ง ถนนสัญจรสายหลักขาด 14 สาย ขณะที่ ในตัวเมืองยังมีน้ำทะลักมาจากเขื่อนลำปะทาว ท่วมเสียหายแล้ว 6 ชุมชน ระดับน้ำยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องอีก และถนนสายหลัก ๆ ที่ใช้สัญจรในหมู่บ้าน ถูกตัดขาดเกือบหมดแล้ว
น้ำท่วมอุบลฯ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมวลน้ำเหนือที่ไหลลงมาสมทบ ทำให้บางจุดมีปริมาณน้ำสูงกว่า 1 เมตร ขณะที่มีรายงานว่า มวลน้ำจากลำน้ำชี ที่ไหลมาจาก จ.ร้อยเอ็ด จ.มหาสารคาม และ จ.สุรินทร์ ได้ไหลเข้ามาสมทบกับแม่น้ำมูลที่ จ.ศรีสะเกษ ส่งผลทำให้ลำห้วยเสียว ซึ่งเป็นลำน้ำสาขามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านใน อ.ศิลาลาด วิตกกังวลเกรงว่าน้ำจะเอ่อล้นไหลเข้าท่วมไร่นาและบ้านเรือน จึงเร่งทำคันกั้นน้ำ และช่วยกันเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำใน จ.ศรีสะเกษ นั้น ยังไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากยังคงมีประกาศเตือนและมีฝนตกหนักในพื้นที่อยู่ จึงอาจจะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ ที่เคยถูกน้ำท่วมเดิมได้อีกครั้งเป็นรอบที่ 2
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานในแต่ละจังหวัด (อัพเดทล่าสุดวันที่ 28 กันยายน 2556)
(ภาพจาก innnews)
น้ำท่วมอุบลราชธานี สถานการณ์น้ำเริ่มทรงตัวขณะสาธารณสุขจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนหลังน้ำลด 40 จุด นายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ที่บริเวณเขตนครอุบลราชธานี ระดับน้ำเริ่มทรงตัว หากฝนไม่ตกลงมาอีก คาดว่า ระดับน้ำคงจะเริ่มลดลงไปตามธรรมชาติ และในส่วนของงานสาธารณสุขนั้น ได้จัดเจ้าหน้าที่ตั้งจุดบริการประชาชน 40 จุด และที่เป็นห่วงมากก็คือ เมื่อน้ำลดแล้ว มักจะพบโรคที่ตามมาหลายชนิด อาทิ โรคเท้าเปื่อย ทางเดินหายใจ ฉี่หนู และโรคทางสุขภาพจิต เหล่านี้เป็นต้น หากพบผู้ป่วย ก็ให้เจ้าหน้าที่รีบดำเนินการช่วยเหลือทันที ก่อนที่จะนำส่งแพทย์ ที่ผ่านมา มีราษฎรได้รับบาดเจ็บสาหัสแล้ว 25 ราย เล็กน้อย 560 ราย และพบผู้ป่วย ด้วยโรคน้ำกัดเท้า จำนวน 342 ราย ไข้หวัด 729 ราย กระเพาะอาหาร 181 ราย ปัญหาสุขภาพทางจิต 488 ราย และเครียดจากน้ำท่วมสวนยางพารา ได้กินน้ำกรดเพื่อที่จะฆ่าตัวตาย 1 ราย แต่แพทย์ช่วยเหลือได้ทัน
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานในแต่ละจังหวัด (อัพเดทล่าสุดวันที่ 27 กันยายน 2556)
(น้ำท่วมร้อยเอ็ด น้ำป่าซัดสะพานขาด ภาพจาก Thai PBS)
ร้อยเอ็ด สะพานคอนกรีตที่เชื่อมระหว่างต.เหล่าน้อย และต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ถูกน้ำซัดจนขาดเป็นระยะทางยาวกว่า 50 เมตร หลังป่าน้ำจากเทือกเขาภูพานไหลมาสมทบกับแม่น้ำยัง ทำให้กระแสน้ำไหลแรงจนสะพานไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำ ชาวบ้านทั้งสองตำบลไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้
(น้ำท่วมนครราชสีมา ทำนาข้าวจมบาดาล ภาพจาก มติชนออนไลน์)
นครราชสีมา สถานการณ์น้ำที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ อ.พิมาย พบว่าระดับน้ำยังคงเกินความจุกักเก็บ 152 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเปิดประตูระบายทั้ง 6 บาน ปริมาณน้ำที่เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 19 ล้าน ลบ.ม. ชาวนาบ้านใหม่ไทรงาม หมู่ที่ 16 ต.ในเมือง อ.พิมาย ประสบปัญหานาข้าวที่กำลังตั้งท้องและใกล้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวกลายเป็นพื้นที่รองรับน้ำ หลังปริมาณน้ำลำน้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมนาข้าวระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร กินพื้นที่กว่า 1 พันไร่ อาจจะได้รับความเสียหายทั้งหมดหากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
(น้ำท่วมกาฬสินธุ์ทำถนนพัง ภาพจาก innnews)
กาฬสินธุ์ น้ำป่าไหลหลากทำถนนเชื่อมต่อหมู่บ้านเสียหายอย่างน้อย 200 เส้นทาง ประชาชนสัญจรด้วยความยากลำบาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระดมเข้าซ่อมแซม ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ประกาศให้พื้นที่ 18 อำเภอ เป็นพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมเพื่อเตรียมการเฝ้าระวัง
(น้ำท่วมนครราชสีมา ภาพจาก Thai PBS)
น้ำท่วมนครราชสีมา น้ำในลำน้ำลำบริบูรณ์ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนใน ต.หมื่นไวย อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทำให้ชาวบ้านต้องเร่งทำคันกั้นน้ำและขนย้ายทรัพย์สินไปไว้ที่สูง
น้ำท่วมกาฬสินธุ์ หลังจากที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 18 แห่งมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 74 ล้านลบ.ม.เฉลี่ย 83 % ทั้งนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง มีปริมาณน้ำล้นอ่างออกมาเฉลี่ย 10 -20 เซนติเมตร และต้องเฝ้าระวังเตือนภัยพื้นที่หมู่บ้านของประชาชนที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำอย่างใกล้ชิด ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เขื่อนลำปาว ล่าสุดมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นที่ 948.20 ล้าน ลบ.ม.หรือ 47.89 % ซึ่งยังคงสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก
น้ำท่วมบุรีรัมย์ สถานการณ์น้ำท่วมบ้านสวายสอ หมู่ 8 และบ้านสวรรค์น้อย หมู่ 6 ต.ชุมแสง อ.กระสัง ที่ถูกน้ำชีเอ่อล้นตะลิ่งหลากเข้าท่วมบ้านเรือน ถนน ทุ่งนา ถูกน้ำท่วมล้อมรอ