เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมกทม.และปริมณฑล

เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมกทม.และปริมณฑล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายงานสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล (อัพเดทล่าสุดวันที่ 3 ตุลาคม 2556)



(ภาพจาก innnews)

น้ำท่วมปทุมธานี ระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เพิ่มสูงขึ้น และฝนที่ตกหนัก ทำให้น้ำได้ไหลซึมเข้าท่วมพื้นที่หน้าโบสถ์ ของวัดจันทน์กะพ้อ (พระอารามหลวง ชั้นตรี) ม.3 ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ติดริมน้ำเจ้าพระยา ทำให้น้ำซึมเข้าด้านหลังวัด ท่วมบริเวณพื้นโบสถ์แล้ว ทางวัด จึงต้องตั้งเครื่องสูบน้ำเอง โดยจะสูบน้ำ 3 เวลา คือ เช้า กลางวัน และเย็น ส่วนในตอนกลางคืน จะปิดเครื่องไว้ เนื่องจากไม่มีคนดูแล ซึ่งตอนนี้ทางวัดก็ต้องดูแลและช่วยเหลือกันเอง ตามสภาพที่สามารถช่วยเหลือกันได้ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานราชการใด เข้าไปให้ความช่วยเหลือ

น้ำท่วมฉะเชิงเทรา ภาพถ่ายทางอากาศในพื้นที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า ในคลอง 17 คลอง 16 ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากคลอง 13 และ กรุงเทพมหานครซึ่งน้ำหลากมาตามคลอง 14/ 15 ตำบลบึงน้ำรักษ์และจากคลองแสนแสบ ไปเชื่อมคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต พบว่า ปริมาณน้ำเอ่อล้นขึ้นท่วมสองฝั่งแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว ที่บางส่วนเกษตรกรเก็บเกี่ยวไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ปัญหาที่พบคือน้ำในลำคลองระบายได้ช้าเนื่องจากมีผักตบชวาหรือวัชพืชจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณช่วงที่เป็นสะพานข้ามคลอง
ขณะที่นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่อำเภอราชสาส์น เพื่อตรวจสภาพน้ำที่เริ่มท่วมขัง โดยเฉพาะในเขตตำบลดงน้อย มวลน้ำจากทางจังหวัดปราจีนบุรี ได้ไหลเข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านฝั่งขวาของถนนสายพนมสารคาม - บ้านสร้าง น้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรทั้งสวนมะม่วง นาข้าวหมอมะลิ เสียหายเป็นบริเวณกว้าง ขณะที่บางช่วงของถนน น้ำได้ไหลล้นท่วมถนนข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้รถยนต์สัญจรไปมายากลำบาก แต่ชาวบ้านในละแวกนั้น กลับมีความสุขกับการได้เหวี่ยงแหจับปลาที่มากับสายน้ำขายสร้างรายได้ บางคนก็ออกมาเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน บางรายก็นำสินค้าโดยเฉพาะข้าวเหนียวไก่ย่าง ส้มตำ มาขาย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปโดยอัตโนมัติ


น้ำท่วมนนทบุรี ที่ชุมชนชาวบ้านอิสลาม ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายปรีดา เชื้อผู้ดี นายกอบต.ท่าอิฐ และนายธานี โพธิ์เที่ยง รองนายกอบต.ท่าอิฐ ได้ออกสำรวจบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาหวั่นน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พบว่าบ้านชุมชนอิสลามและมัสยิดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหลายหลังคาเรือนได้รับผลกระทบแล้ว โดยระดับน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุดคืนวานนี้(1ต.ค.) สูงถึง 2.30 เมตร ทำให้ชาวบ้านต้องรีบขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง เนื่องจากน้ำที่ชั้นล่างของบ้านสูงถึง 80 ซม.

รายงานสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล (อัพเดทล่าสุดวันที่ 2 ตุลาคม 2556)

น้ำท่วมปทุมธานี สถานการณ์ หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาย่าน อ.สามโคก เขตติดกับ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้น้ำได้เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน มีชาวบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาเดือดร้อนแล้วหลายครัวเรือน โดยเฉพาะที่ตำบลท้ายเกาะ อ.สามโคก น้ำได้ท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำแล้ว
นางพิมพ์ ปวีณ์ อยู่บ้านเลขที่ 35/5 หมู่ 3 ต.ท้ายเกาะ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เลขาฯชมรมร้านอาหารจังหวัดปทุมธานี และเจ้าของร้านอาหารครัวท้ายเกราะ กล่าวว่า ต.ท้ายเกาะ เป็นชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกคันกั้นน้ำ เป็นตำบลแรกของ อ.สามโคก ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะนี้น้ำเจ้าพระยาได้เอ่อล้นท่วมมาราว 2 อาทิตย์แล้ว ทำให้บ้านและร้านอาหารที่อยู่ติดแม่น้ำของตนเองได้รับผลกระทบเสียหาย น้ำท่วมสูงกว่า 40-50 ซม. แล้วต้องเก็บของขึ้นที่สูงและเตรียมเรือไว้ให้พร้อมเพราะเกรงว่าสถานการณ์น้ำจะสูงเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากน้ำเหนือไหลบ่าและเขื่อนต่างๆ เร่งระบายน้ำ

 

 

(ภาพจาก innnews)

นนทบุรี สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ท่าน้ำนนทบุรี อ.เมือง จ.นนทบุรี หลังมีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนน้ำได้เพิ่มระดับสูงขึ้นกว่าทุกวัน โดยอยู่ที่ 2.02 เมตร จนน้ำซึมเข้าสู่ถนนด้านหน้าหอนาฬิกา นายวันชัย เพ็ชรเนียม อำนวยการส่วนการโยธาและสุขาภิบาล เทศบาลนครนนทบุรี ได้ให้เจ้าหน้าที่วางแนวกั้นกระสอบทราย จำนวน 30,000 ถุง วางแนวแบริเออร์ซีเมนต์ จำนวน 100 ตัว ระยะทาง 200 เมตร ตลอดริมเขื่อนท่าเรือข้ามฝาก จ.นนทบุรี พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 ตัว ในการระบายน้ำที่ซึมผ่านใต้เขื่อนเข้าสู่ด้านในแนวกระสอบทราย แต่ถ้าน้ำเพิ่มสูงถึง 2.30 เมตร น้ำจะล้นเขื่อนท่าน้ำเมืองนนทบุรีทันที ทางด้านหน้าวัดต่าง ๆ ที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำได้ล้นตลิ่งเข้าถึงแนวกระสอบทรายที่วางกั้นไว้แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ยังทำแนวป้องกันเขื่อนตลอดริมแม่น้ำระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร จากคลองบางเขน กทม. ถึง คลองบางตลาด อ.ปากเกร็ด มีประตูระบายน้ำ 10 แห่ง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติที่แต่ละประตู เมื่อน้ำเพิ่มระดับสูงขึ้น คาดว่าเมืองนนทบุรีไม่น่าจะมีปัญหากับน้ำที่จะปล่อยมาจากเขื่อนอย่างแน่นอน

รายงานสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล (อัพเดทล่าสุดวันที่ 1 ตุลาคม 2556)


(ภาพจากสำนักข่าวไทย)

ผู้ว่า กทม. ดูน้ำอยุธยามั่นใจไม่ท่วมกรุงเทพฯ
(1 ต.ค.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อนพระรามหก เขตอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำเต็มเขื่อนและเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำป่าสักผ่านเขื่อนพระรามหกไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาและไหลผ่านกรุงเทพไปออกอ่าวไทย ขณะเดียวกันเขื่อนพระรามหกยังผันน้ำบางส่วนเข้าคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูน้ำพระนารายณ์ที่จะไหลไปในพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออก
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่ายังไม่น่ากังวลหรือหนักใจ เพราะปริมาณน้ำไม่มากเท่าปี 2554 ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ คลายความกังวลได้ เพราะกรมชลประทานและ กทม.ร่วมกันบริหารจัดการน้ำอย่างดี เชื่อว่าน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน ขณะนี้มีความพร้อมรับมือแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านได้ถึง 2,900 ลบ.ม./วินาที แต่ปัจจุบันไหลผ่านกรุงเทพฯ เพียง 2,300 ลบ.ม/วินาทีเท่านั้น ห่วงอย่างเดียวคือฝนตกหนักในพื้นที่ต้องเร่งสูบออกในทันที เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง.


(ภาพจาก innnews)

ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่โดยรวม เก็บกักน้ำ 70% ยังไม่วิกฤติ
ศูนย์วิเคราะห์และประมวลน้ำ กรมชลประทาน รายงานสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ณ วันที่ 1 ต.ค. มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 52,169 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 70 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 28,370 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 38) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2555 (53,156 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71) น้อยกว่าปี 2555 จำนวน 987 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 634.91 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 293.01 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 22,355 ล้าน ลบ.ม.สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 48,723 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 25,224 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2555 (50,349 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 72) น้อยกว่าปี 2555 จำนวน 1,626 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 507.29 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำระบายจำนวน 144.01 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 21,428 ล้าน ลบ.ม.


(ภาพจาก innnews)

มท.1ระบุประสานกทม.ระบายน้ำผ่านเจ้าพระยา
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการรับมือพายุหวู่ติ๊บ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า จากการติดตามสถานการณ์ก็ผิดคาดที่ความเสียหายยังไม่ปรากฏชัดเจน ฝนตกไม่หนักอย่างที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลดีที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนกับเหนือตอนกลางมีน้ำมาเติมและเชื่อว่าจะมีผลทางบวกมากกว่าลบเพราะน้ำในเขื่อนยังรับน้ำได้ แต่ที่น้ำยังท่วมหนักก็มี จ.ปราจีนบุรี จ.นครนายก
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำให้รัฐมนตรีลงพื้นที่ดูแลประชาชน ซึ่งเมื่อประชุม ครม. เสร็จ จะลงไปดู อย่างไรก็ตาม สำหรับการระบายน้ำผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยาได้ประสานกับทาง กทม. ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังสามารถรับน้ำได้อยู่และทางกรมชลประทาน ก็จะเป็นผู้ควบคุมการระบายน้ำ ไม่ให้เกินในปริมาณที่รับได้

รายงานสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล (อัพเดทล่าสุดวันที่ 30 กันยายน 2556)


กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ เรื่อง "พายุ "หวู่ติ๊บ"

วันนี้ (30 ก.ย. 56) พายุไต้ฝุ่น "หวู่ติ๊บ" (WUTIP) ขึ้นฝั่งเหนือเมืองเว้ ประเทศเวียดนามแล้ว จากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชั่นตามลำดับโดยจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดนครพนมในวันพรุ่งนี้ (1 ต.ค. 56) และคาดว่าจะอ่อนกำลังลงอีกเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณรอยต่อของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ด้านตะวันออกและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งภาคเหนือด้านตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณจังหวัดนครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติ
ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยเพิ่มความระมัดระวังการเดินเรือในระยะ 1-2 วันนี้ ไว้ด้วย


(ภาพจาก innnews)

กรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) โพสต์ทวิตเตอร์ว่า สถานการณ์น้ำในกทม. ขณะนี้ยังไม่มีอะไรต้องตื่นตระหนก แต่กรุงเทพมหานครก็ไม่ประมาทไม่ได้นิ่งนอนใจครับ โดยเฉพาะ 27 ชุมชน ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ที่ยังเป็นพื้นที่ฟันหลออยู่ พื้นที่ที่ได้สร้างแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไปแล้ว 77 กม. ยังเหลืออีกประมาณ 700 ม.ที่เป็นฟันหลออยู่ ก็ได้มีคำสั่งไปยังเขตว่าต้องดูแลให้ดี ทั้ง 27 ชุมชน กทม. ได้ส่งคำเตือนไปแล้วและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้โพสต์ว่า แต่ที่ต้องจับตามองดูก็ระดับน้ำในเขื่อนป่าสัก เมื่อวันศุกร์ 27 กันยาฯ ขึ้นมา 70% ซึ่งขึ้นมาเยอะมาก เมื่อ 10 วันที่แล้ว 40% หมายความว่าฝนตกหนักในภาคกลางไม่ใช่ตอนเหนือ ดังนั้นระดับน้ำในเขื่อนป่าสักจึงสูงขึ้นมามาก แต่ว่าเขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์ยังไม่สูง เขื่อนภูมิพลก็ 40 กว่า เช่นเดียวกับเขื่อนสิริกิติ์ ตนได้เดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจประชาชนที่มัสยิดบิดาตุ้ลฮีดายะห์ อยู่ติดกับคลอง 14 เขตหนองจอก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ น้ำท่วมเกือบทุกปีเพราะเป็นพื้นที่ลุ่มมาก จึงจำเป็นต้องประสานกับกรมชลประทานซึ่งเป็นเจ้าของประตูระบายน้ำในพื้นที่นี้

รายงานสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล (อัพเดทล่าสุดวันที่ 29 กันยายน 2556)


(ภาพจาก innnews)

กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนไต้ฝุ่น 'หวู่ติ๊บ' ขึ้นฝั่งเวียดนาม 1 ต.ค.นี้ ทำให้ภาคอีสานของไทยมีฝนเพิ่มและตกหนักบางแห่ง ขณะที่วันนี้ กทม. มีฝน 70% กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานลักษณะอากาศทั่วไป เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (29 ก.ย. 56) พายุไต้ฝุ่น “หวู่ติ๊บ” (WUTIP) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 550 กิโลเมตรทางตะวันออกของเมืองเว้ (HUE) ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 16.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

Advertisement

อนึ่ง ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณ จังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย

ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเมฆมาก โอกาสมีฝนตก ร้อยละ 70 อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ช.ม.


รายงานสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล (อัพเดทล่าสุดวันที่ 28 กันยายน 2556)

(ภาพจากสำนักข่าวไทย)

กรุงเทพฯ ยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์พายุดีเปรสชั่นลูกใหม่ที่คาดว่าจะเข้าไทยสัปดาห์หน้า ทำให้ด้านเหนือของประเทศมีฝนตกมากขึ้น ขณะที่ยังไม่มีการเปิดประตูระบายน้ำเพิ่มเติมในขณะนี้ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางซื่อ เช้าวันนี้ (28 ก.ย.) ด้านนอกประตูฯ ยังคงค่อนข้างต่ำ ระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 0.70 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเมื่อเทียบกับแนวเขื่อนเจ้าพระยาที่สูง 2.50-3 เมตร เห็นได้ชัดว่ายังค่อนข้างห่าง โดยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น.

ขณะที่บริเวณใกล้เคียงอย่างวัดแก้วฟ้าจุฬามณี เขตบางซื่อ มีการนำกระสอบทรายมาวางไว้รอบบริเวณวัดติดริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันน้ำขึ้นสูงไว้แล้ว ด้านศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า น้ำเหนือที่ปล่อยมาวัดได้ 2,180 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เวลา 10.00 น. อยู่ที่ 0.79 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยน้ำจะขึ้นสูงสุดในเวลา 14.24 น. คาดการณ์ 0.81 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และอีกครั้งเวลา 20.29 น. คาดการณ์สูง 0.79 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สาเหตุที่ระดับน้ำไม่สูงมาก เพราะน้ำทะเลในช่วงนี้ไม่หนุนสูง และปริมาณฝนยังมีไม่มาก


รายงานสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล (อัพเดทล่าสุดวันที่ 27 กันยายน 2556)



(น้ำท่วมปทุมธานี ผักตบชวาเต็มคลอง ภาพจาก innnews)

ปทุมธานี ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก ชุมชนคูคตพัฒนาริมคลองหกวา คลองสองสายล่าง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เนื่องจากในคลองหกวาสายล่าง เป็นเขตกั้นคลองระหว่าเขตคูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี กับเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ที่มีผักตบชวาขึ้นแน่นในคลองเป็นจำนวนมาก ระยะทางยาวหลายร้อยเมตรเป็นช่วงๆ แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแล เป็นสาเหตุทำให้การระบายน้ำทำได้ช้าและส่งผลให้น้ำในคลองเอ่อล้นท่วมบ้านริมคลอง ซึ่งชาวบ้านได้มีการแจ้งไปทางชลประทาน และเขตพื้นที่ ทั้งกรุงเทพฯ และปทุมธานี แต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแล ทำให้ชาวบ้านต้องขอความช่วยเหลือทางสื่อต่อไป


(ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ภาพจาก สำนักข่าวไทย)


กรมชลประทาน เชื่อปีนี้กรุงเทพฯ จะไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม และได้เร่งพร่องน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเตรียมรับพายุลูกใหม่

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จ.ปทุมธานี เพื่อดูการระบายน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทานมีเป้าหมายเร่งระบายน้ำให้เหลือ 1 เมตร 20 เซนติเมตร จากระดับน้ำทะเล เพื่อรองรับปริมาณฝนจากพายุลูกใหม่ที่คาดว่าจะตกในช่วงวันที่ 28-30 กันยายนนี้.

 

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย" ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 27 กันยายน 2556 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน ยังคงแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของประเทศไทย ทำให้ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในช่วงวันที่ 28-29 กันยายน 2556 ร่องมรสุมนี้จะเลื่อนลงมาผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก จันทบุรี และตราด จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (27 ก.ย.) พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ ยังคงมีศูนย์กลางอยู่บริเวณ ด้านตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่า พายุนี้จะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในระยะต่อไป และมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 30 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยมีฝนตกหนักได้

ส่วน กรุงเทพฯและปริมณฑล มีเมฆมาก โอกาสมีฝนตก ร้อยละ 70 อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ช.ม.

สอดคล้องกับ นายสัญญา ชีนิมิตร รองปลัด กทม. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม.ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ถือว่ายังไม่มีความน่ากังวล ทั้งนี้ ในเรื่องการระบายน้ำ ต้องดูระดับน้ำเจ้าพระยาก่อนว่ามีระดับสูงเพียงใด หากพบว่าระดับน้ำสูง ก็อาจต้องปล่อยมายังพื้นที่ชั้นใน ซึ่งต้องดูขีดความสามารถของพื้นที่ลุ่มต่ำว่า สามารถรับได้มากน้อยเพียงใด สำหรับชุมชนนอกเขื่อนกั้นน้ำ 27 ชุมชน ที่ได้แจ้งเตือนให้เตรียมพร้อมนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ


รายงานสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล (อัพเดทล่าสุดวันที่ 26 กันยายน 2556)

น้ำท่วมปทุมธานี ตัวแทนชาวบ้านจาก 10 ตำบลเขตอ.องครักษณ์ จ.นครนายก กว่า 200 คน รวมตัวประท้วง ที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2โครงการรังสิตใต้ สำนักชลประทานที่ 11 คลอง 13 ต.พืชอุดม อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยกลุ่มชาวบ้านเรียกร้องขอให้หยุดเดินเครื่องสูบระบายน้ำในคลองหกวา เขต อ.ลำลูกกา ระบายออกจังหวัดนครนายกชั่วคราว เพราะชาวบ้านฝั่ง องครักษ์ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากน้ำเอ่อเข้าท่วมนาข้าว และพืชเกษตร ของชาวบ้าน 10 ตำบล ยืนยันจะให้ระบายน้ำออกทะเล แต่ขอให้หยุดเดินเครื่อง 15 วัน และเร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวา หญ้าในคลอง ตั้งแต่คลอง 13-17 เพื่อจัดการเส้นทางการระบายน้ำและขอให้แปลงนาข้าวได้เร่งเก็บเกี่ยวข้าวก่อน

โดยขณะนี้ชาวบ้านเข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำฯ เพื่อหาข้อยุติ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปชาวบ้านยังคงปักหลักรวมตัวอยู่ หากไม่ได้ข้อสรุปคาดเย็นนี้จะมีกลุ่มชาวบ้าน อ.องครักษ์ จ.นครนายก เข้ามาสมทบอีก



(อุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 ภาพจาก Thaipbs)

กรุงเทพมหานครกทม.ยืนยันอุโมงค์ยักษ์ ทำงานเต็มประสิทธิภาพ แต่กังวลหากปริมาณน้ำเหนือมากอาจต้านไม่อยู่ พร้อมยืนยัน อุโมงค์ระบายน้ำสามารถรองรับน้ำจากคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นคลองสายหลักสำคัญของกรุงเทพฯ ได้ นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า อุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 เป็นอุโมงค์ที่ใช้ในการระบายน้ำจากคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าวไปสู่คลองพระโขนง และระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 5-6 กิโลเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร และสามารถระบายน้ำ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เช่น บางกะปิ, ลาดพร้าว, วังทองหลาง, บึงกุ่ม. ห้วยขวาง, สะพานสูง และพื้นที่ใกล้เคียง 50 ตารางกิโลเมตร

ซึ่งขณะนี้อุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 เดินเครื่องเต็มกำลังทั้ง 4 เครื่อง ทั้งนี้ กทม.เร่งระบายน้ำเหนือเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมกับมอบหมายให้สำนักนโยบายควบคุมการระบายน้ำ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันกรุงเทพฯกังวลในเรื่องของมวลน้ำเหนือขนาดใหญ่ที่จะไหลผ่านมายังพื้นที่กทม. เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีขีดความสามารถในการรับน้ำได้ไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากเกินกว่านี้จะเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่ง ส่วนการคาดการณ์ปริมาณฝนตกในช่วงนี้มีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น เพราะกรุงเทพฯยังอยู่ในร่องความกดอากาศต่ำ ทำให้มีฝนตกจนถึงสิ้นเดือนก.ย. แต่ กรุงเทพฯต้องการอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ให้ครบทั้ง 6 แห่งให้มีความครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ

 

(น้ำท่วมปทุมธานี ภาพจากสำนักข่าวไทย) 

ปทุมธานี สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาด้านจังหวัดปทุมธานี น้ำเอ่อท่วมชุมชนซอยคุ้งน้ำ ม.7 ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก ในระดับ 30 เซนติเมตร กว่า 100 หลังคาเรือน รวมถึงพืชสวนหลายแห่ง ชาวบ้านได้นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ขึ้นไปจอดไว้ริมถนนสามโคกสายในฝั่งตะวันออกนายปราโมทย์ คุ้มรักษา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสะแก ม.2 ต.สามโคก อ.สามโคก กล่าวว่า หลังจากน้ำไหลเข้าท่วมโรงเรียนจึงได้ขอความช่วยเหลือจากเทศบาลตำบลสามโคกนำกระสอบทรายวางกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากโรงเรียนจนแห้งสนิทแล้ว และเปิดสอนได้ตามปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวังน้ำอย่างใกล้ชิด เพราะโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ต่ำติดแม่น้ำเจ้าพระยา

กรุงเทพฯ มวลน้ำเหนือได้ไหลลงมาตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ สู่แม่น้ำเจ้าพระยา สมทบกับน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง อาทิ อ่างทอง ปทุมธานี มีน้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างแล้ว ขณะที่ทางกรุงเทพมหานคร ก็ได้มีการสั่งจับตาพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกรงว่ามวลน้ำเหนือที่ไหลลงมานั้น จะทะลักเข้าท่วมพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

 

รายงานสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล  (อัพเดทล่าสุดวันที่ 24 กันยายน 2556)

ปทุมธานี ขณะนี้ระดับน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ได้เพิ่มสูงมากขึ้นเนื่องจากมีน้ำไหลมาจากองครักษ์ จังหวัดนครนายก และน้ำจากคลองซอยต่าง ๆ ตั้งแต่คลองหนึ่ง ถึงคลองสิบห้า ฝั่งทิศเหนือ ที่ติดกับคลองระพีพัฒน์ ได้มีการเปิดประตูน้ำระบายลงคลองรังสิต ทำให้ระดับน้ำในคลองเพิ่มขึ้นทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนที่ปลูกอยู่ริมคลอง ทำให้ทางเทศบาลนครรังสิต ได้เร่งตั้งเครื่องสูบน้ำตามชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่จำนวน 90 เครื่อง สูบน้ำภายในชุมชนลงคลองรังสิต

ปทุมธานี น้ำสูงขึ้นกว่า 20 ซม.ต่อหนึ่งวัน โดยสภาพน้ำได้เข้าท่วมพื้นที่โรงเรียนวัดมะขาม และวัดมะขาม พร้อมวัดศาลเจ้า ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและอาหารร้านค้า ทำให้ทางเจ้าหน้าที่เทศบาล ได้ใช้ผ้าใบปูพื้นนำกระสอบทรายวางทับกั้นเป็นคันกั้นน้ำให้รอบวัดในขณะนี้ ซึ่งทางเทศบาลได้เร่งตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ส่วนทางด้านถนนทางแขวงการทางได้ยกระดับถนน สูงขึ้นกว่า 60 ซม. ตลอดทั้ง อ.เมือง และ อ.สามโคก แต่มีบางพื้นที่ ไม่มีงบประมาณยกถนน อาจทำให้น้ำท่วมเขตติดต่อปทุมธานี โดยเฉพาะสนามบินดอนเมืองเหมือนปี 54 ได้

นนทบุรี นายปรีดา เชื้อผู้ดี อบต.ท่าอิฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเตือนชาวบ้านให้เฝ้าระวังน้ำท่วมหลังทราบจากทางราชการว่าจะมีการเปิดประตูระบายนำปล่อยนำ20-30ซ.ม.ซึ่งตอนนี้นำเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่องและชุมชนตรงนี้เป็นชุมชนใหญ่มีชาวมุสลิมเกือบ2หมื่นคนประมาณ 8,000หลังคาเรือนแต่ที่น่าเป็นห่วงคือหมู่ที่5-หมู่ที่10ประมาณ2500หลังคาเรือนที่นำเริ่มท่วมหนักขึ้นเพราะส่วนใหญ่เป็นที่ตำและติดริมแม่นำเจ้าพระยาวันนี้จึงได้ออกมาเตือนชาวบ้านให้เตรียมพร้อมคอยฟังข่าวสารจากหน่วยงานราชการและยกสิ่งของขึ้นที่สูง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้