นักกฎหมายจี้สื่อทบทวนเสนอข่าวละเมิดสิทธิเด็ก
นักกฎหมาย นักจิตวิทยา 'จี้' สื่อทบทวนบทบาท การนำเสนอข่าวกระทบสิทธิเด็ก - นายกสมาคมอาชญากรรม ระบุ ต้องแก้ที่นายทุน คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากกว่าธุรกิจ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นักกฎหมาย มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวในเวทีสัมนา เรื่อง "พี่ได้ภาพ พี่ได้ข่าว แต่สร้างรอยร้าวในใจหนู" ซึ่งจัดโดย นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม ว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กของสื่อมวลชนในปัจจุปัน มีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุอาจมาจากช่องทางในการนำเสนอมีมากขึ้น ทำให้สื่อมีจำนวนเพิ่มขึ้นควบคุมได้ยาก และการที่ไม่เคยมีบทลงโทษสื่อมวลชนที่กระทำความผิด จึงไม่มีความหลาบจำ สำหรับรูปแบบการละเมิดที่พบบ่อยๆ คือ การละเมิดโดยภาพ เช่น ภาพข่าวเด็กทารกถูกแม่นำมาทิ้งเสียชีวิต โดยไม่มีการบังภาพ, การละเมิดโดยเนื้อหาสาระของการนำเสนอ เช่น กรณีดาราวัยรุ่นหญิงชื่อดังเสพยาเสพติด แม้จะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ต้องยืนยันในหลักการความเป็นสื่อ ที่ต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของเด็ก และการละเมิดโดยกระบวนการข่าว เช่น การสัมภาษณ์เด็กที่ถูกละเมิดสิทธิซ้ำๆ ทางที่ดีควรนำเสนอสาเหตุ หรือการป้องกันปัญหา มากกว่ามุ่งเสนอโศกนาฎกรรมของเด็ก
พร้อมระบุว่า การเสนอภาพข่าวที่ถูกละเมิดทางเพศ หรือการเสนอภาพซ้ำของเด็กที่ใช้กำลังทะเลาะเบาะแว้งตบตีกัน อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อจิตใจ ต่อครอบครัว ต่อการศึกษาของเด็ก หรือแม้แต่ต่อการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม โดยสื่อต้องทำความเข้าใจในกรณีนี้ด้วย
ด้าน น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า อยากให้สื่อมวลชนทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ทุกวันนี้ ต่อคดีเด็กและเยาวชน ว่า นำเสนอเพียงเพื่อขายข่าวหรือไม่ เพราะเป็นการทำงานในมิติเดียว คือ นำเสนอในแง่มุมที่เด็กถูกกระทำซ้ำไปซ้ำมา ก็จะยิ่งตอกย้ำสภาพจิตใจเด็ก ส่วนกรณีสวมหมวกคลุมโม่งเด็ก ออกมานั่งพูดคุย แม้จะไม่ใช่การแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ แต่ก็ถือเป็นความผิด สื่อมวลชนไม่ควรที่จะนำเสนอภาพ หรือสัมภาษณ์ แม้เด็กนั้นจะอยู่ในฐานะผู้เสียหาย หรือผู้กระทำผิดก็ตาม เพราะหากที่ดูเจตนาแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเด็กทั้งสิ้น อาจเกิดอาการเครียดและนำไปสู่โรคซึมเศร้าในระยะยาวได้
ขณะที่ นายไพโรจน์ เทศนิยม นายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย มองว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กทุกวันนี้ ไม่รุนแรงเหมือนในอดีต เนื่องจากผู้สื่อข่าวมีความรู้มากขึ้น รู้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประกอบกับการรณรงค์ให้ความรู้จากหลายหน่วยงาน อุปกรณ์การทำข่าวที่ทันสมัยมากขึ้น กล้องดิจิตอลสามารถตกแต่งภาพได้ แต่ปัญหาหลักเกิดจากนายทุนสื่อแต่ละสำนักมากกว่าการควบคุมดูแลจรรยาบรรณสื่อมวลชน จึงต้องหารือกับกลุ่มนายทุนเจ้าของสื่อนั้นๆ ไม่มองเป็นเพียงธุรกิจอย่างหนึ่ง แต่ควรคำนึงถึงจรรยาบรรณและหลักสิทธิมนุษยชน ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ไม่มุ่งนำเสนอภาพ ภาษาข่าวที่ตื่นเต้น หวือหวา เพียงเพื่อหวังยอดขายเพียงอย่างเดียว