นายกนำรมต.ถกครม.ไม่ตอบทูลเกล้าฯรธน.บอกค่อยคุย

นายกนำรมต.ถกครม.ไม่ตอบทูลเกล้าฯรธน.บอกค่อยคุย

นายกนำรมต.ถกครม.ไม่ตอบทูลเกล้าฯรธน.บอกค่อยคุย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกรัฐมนตรี ระบุ หลังการประชุม ครม. จะชี้แจงเรื่องการนำร่างแก้รัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ ขณะที่ 'อำพน' ระบุ ร่างอยู่ในการตรวจสอบของกฤษฎีกา ด้าน ''ถาวร'' ขู่ นายกฯ นำร่างแก้ รธน. ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นเรื่องมิบังควร ย้ำ ต้องฟังศาลก่อน

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเพียงสั้น ๆ ก่อนการเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม. วันนี้ จะเปิดเผยถึงกรณีการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เดินขึ้นอาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทันที

ขณะที่ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ร่างดังกล่าวคงอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนกรณีที่ กลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นหนังสือคัดค้านให้นายกรัฐมนตรี ชะลอการทูลเกล้าฯ เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ต้องให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบอย่างรอบคอบ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบไม่นาน


'วราเทพ' เผย ไม่ชัดทูลเกล้าฯ รธน.วันนี้

นายวราเทพ  รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ว่า วันนี้ ยังไม่แน่ใจว่า นายกรัฐมนตรี จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ว่าต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลภายใน 20 วัน ซึ่งมีกระบวนการที่ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะต้องจัดพิมพ์หนังสือ และตรวจสอบในเบื้องต้น รวมทั้งปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ความเห็นประกอบในการที่จะนำเสนอให้ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนาม เพื่อกราบบังคมทูล ต้องมีระยะเวลาพอสมควร ไม่ใช่ส่งมาแล้วจะส่งได้ทันที และขณะนี้เรื่องน่าจะอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คงยังไม่ถึงนายกรัฐมนตรี ส่วนที่มีผู้คัดค้านไม่ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะเข้าข่ายผิดมาตรา 154 นั้น ก็เป็นมุมมองทางกฎหมาย และเคยมีบรรทัดฐานที่ฝ่ายค้านเคยยื่นให้ตีความร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง และ

การแก้ไขมาตรา 190 และมีคำวินิจฉัยว่าการพิจารณาตามมาตรา 154 เป็นเรื่องของพระราชบัญญัติ ซึ่งเมื่อมาเปรียบเทียบกันก็น่าจะเหมือนกัน ที่ไม่น่าจะต้องด้วยมาตรา 154


ปชป.ยันนายกฯต้องรอศาลนำร่างแก้รธน.ทูลเกล้าฯ

นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว. ในวาระ 3 ยังเป็นการกระทำที่ไม่ชอบโดยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อีกทั้ง การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องตีความไว้แล้ว และแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ แต่ประธานรัฐสภากลับดำเนินการประชุมรัฐสภาต่อนั้น ถือเป็นการกระทำที่ให้ได้มาโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพราะโดยหน้าที่แล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องรับฟัง เนื่องจากต้องถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ หากนายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่ฟังศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องมิบังควรอย่างยิ่ง และถือเป็นการท้าทาย เพราะสามารถรอฟังศาลตัดสินก่อนได้ ส่วนการใช้เหตุผลว่า ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน มิเช่นนั้นจะขัดรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการใช้เหตุแห่งการอ้าง เพราะการแถลงผลงาน ยังล่าช้ามาถึง 2 ปี ส่วนกรณีที่ กลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นผิด ม.154 นั้น ตนเองไม่เห็นด้วย เพราะมาตราดังกล่าว ไม่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้


เฉลิมยันนายกไม่ต้องรับผิดหากทูลเกล้าฯรธน.ไม่ผ่าน

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุถึงกรณี ส.ส.ฝ่ายค้าน และกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ คัดค้านการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว. ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยยืนยันว่า รัฐบาลมีสิทธิ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และได้แก้เป็นรายมาตราตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งไม่แตกต่างจากรัฐบาล นายอภิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบ่งเขตเลือกตั้ง พร้อมเห็นว่ารัฐบาลมีความชอบธรรม นายกรัฐมนตรี และสภา ไม่ต้องรับผิดชอบ แม้จะอยู่ระหว่างรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลต้องทำตามกฎหมาย ทั้งนี้มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีสิทธิ์ที่จะรับคำร้อง แต่ต้องดูคำวินิจฉัยที่จะออกมา เพราะการยื่นเรื่องคัดค้าน ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการกดบัตรแทนกัน ไม่ทำให้องค์ประกอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสียไป เพราะเป็นเรื่องของบุคคล ที่ต้องรับผิดชอบการกระทำที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้เตรียมทางออกแก้ไขในเรื่องนี้ เพราะยังไม่มีคำตัดสิทธิ์ใด ๆ ออกมา ส่วนตัวเชื่อว่า เรื่องนี้จะจบลงด้วยดี และรัฐบาลก็เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ๆ ต่อไป

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุ ไม่ทราบว่า นายกรัฐมนตรี ควรจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อใด และมองว่า ไม่มีเหตุผลที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน และกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ประเทศไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557


'อภิสิทธิ์' ขอนายกรอศาลก่อนทูลเกล้าฯรธน.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องการให้ นายกรัฐมนตรี ชะลอการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. เพื่อรอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน ที่อาจจะมีคำวินิจฉัยหรือยกคำร้อง หรือสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นได้ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตนเอง และยังเหลือกรอบเวลาอีก 20 วัน ในขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ จึงไม่ควรนำกฎหมายที่มีปัญหาความขัดแย้งนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะที่ผ่านมาอาจมีปัญหาลักษณะนี้ แต่ส่วนใหญ่นายกรัฐมนตรี มักจะหลีกเลี่ยง ทั้งนี้ยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ยังตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลต้องการสร้างแรงกดดันต่อสถาบัน เพื่อทดสอบกระแสสังคมว่าจะมีการต่อต้านมากน้อยเพียงใด รวมถึง ระดมมวลชนออกมากดดัน และหวังว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่หวั่นไหวต่อความความพยายามกดดันจากซีกรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้กำลังใจ เพื่อให้ตุลาการมีความกล้าหาญในการพิจารณาคดี





แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook