ฉะเชิงเทราอ่วม! น้ำปราจีนทะลัก-อยุธยาบางบาลจม
มวลน้ำจากจังหวัดปราจีนบุรี หลากถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา แล้ว ขณะที่หน่วยทหาร เร่งป้องโครงการส่วนพระองค์ฯ ขณะที่ ิอ.บางบาล จ.อยุธยา น้ำท่วมสูง 2 เมตร ส่วน ปราจีนฯ อ.บ้านสร้างน้ำเลยระดับวิกฤติแล้ว ประจันตคาม น้ำจากคันกั้นน้ำทะลักบ้านปากแพรก
นายอดุลย์ นาคบุนบุตร อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 7/3 ม.4 ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้ มวลน้ำจากจังหวัดปราจีนบุรี ได้เริ่มไหลเอ่อเข้ามาท่วมบ้านเรือนที่อยู่พักอาศัยของตนแล้ว โดยมีระดับสูงประมาณ 50 ซ.ม. ซึ่งคนในบ้านต้องพากันวิ่งวุ่นเก็บข้าวของหนีน้ำจากบริเวณชั้นล่าง ขึ้นสู่ที่สูงบนชั้น 2 ของตัวบ้าน เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีหน่วยงานราชการใดเข้ามาดูแลพื้นที่น้ำท่วมในบริเวณนี้ ทั้งนี้ มวลน้ำเริ่มไหลเข้ามาท่วมหมู่บ้านที่อยู่ติดกับชายขอบของ จ.ปราจีนบุรี รวม 2 หมู่บ้านแล้ว คือ บ้านบางกระดาน และ บ้านบางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ติดกันกับ ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
ขณะเดียวกัน บริเวณพื้นที่โดยรอบโครงการพัฒนาส่วนพระองค์บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำบางปะกง ติดขอบจังหวัดรอยต่อกับ ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ในปีนี้ได้มีหน่วยทหารจาก มทบ.12 ค่ายจักรพงษ์ และทหารจากค่าย พล.ร.2 รอ. จ.ปราจีนบุรี ได้เร่งนำกระสอบทราย มาทำกำแพงกั้นล้อมรอบบริเวณพื้นที่โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ ไว้แล้วก่อนหน้า ป้องกันมวลน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่โครงการ
บ้านสร้างปราจีนฯน้ำเกินจุดวิกฤติแล้ว
นายคณิศร โชปัญญา หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ว่า เมื่อช่วงคืนที่ผ่านมาสภาพอากาศทั่วไปเป็นปกติ ไม่มีฝนตกแต่อย่างใด ระดับน้ำในพื้นที่ส่วนบนของจังหวัด ได้เริ่มลดลงแล้ว ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่วิกฤติ ไม่ว่าจะเป็น อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ ระดับน้ำได้เริ่มลดลงแล้ว แต่ยังมีน้ำขังในบางพื้นที่ แต่ อ.บ้านสร้าง ซึ่งเป็นอำเภอสุดท้ายที่จะรองรับน้ำและเป็นพื้นที่บ้านพักอาศัยส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับของตลิ่งค่อนข้างมาก ระดับน้ำได้เลยข้ามคันกั้นน้ำมาและเกินจุดวิกฤติไปแล้ว 62 เซนติเมตร ส่วน อ.ประจันตคาม ในขณะนี้น้ำยังห่างจากระดับตลิ่งประมาณ 7 เซนติเมตร แต่ปัญหาที่เจอคือ มีน้ำที่แตกพุ่งมาจากคันกั้นน้ำบ้านปากแพรก อ.กบินทร์บุรี โดยไม่ใช่น้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรี แต่อย่างใด ส่งผลให้พื้นที่ อ.ประจันตคาม ได้รับผลกระทบมากพอสมควร โดยจะต้องจับตาและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
น้ำวังทองซัดถนนขาดชาวบ้านทำสะพานข้าม
แม้ว่าระดับน้ำในแม่น้ำวังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก จะเริ่มลดระดับลงบ้างแล้ว โดยลดลงจากเดิม 30 เซนติเมตร แต่ระดับน้ำในแม่น้ำวังทอง ยังทรงตัวสูง และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในพื้นที่ต้นน้ำยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และจากระดับน้ำในแม่น้ำวังทอง ที่ยังทรงตัวสูง ความแรงของน้ำ ส่งผลให้ถนนบ้านดงพลวง ม.7 ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ที่เป็นแนวท่อลอดข้ามคลองเข็ก คลองที่เชื่อมมาจากแม่น้ำวังทอง ถูกน้ำพัดถนนขาด ระยะทางยาวประมาณ 5 เมตร ซึ่งสร้างความลำบากให้กับชาวบ้านอย่างมาก เพราะเป็นถนนที่เชื่อมระหว่าง ต.วังพิกุล และ ต.หนองพระ อ.วังทอง ชาวบ้านต้องช่วยกันทำสะพานไม้ชั่วคราวมาเพื่อสัญจรเป็นการชั่วคราว
ปภ.สรุปอุทกภัย24จว.นายกฯสั่งช่วยปชช.
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ถึงปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 33 จังหวัด 248 อำเภอ 1,479 ตำบล 11,895 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 846,436 ครัวเรือน 2,875,193 คน บ้านเรือนเสียหาย 14,703 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2,168,466 ไร่ ถนน 4,947 สาย สะพาน 201 แห่ง ฝาย/ทำนบ 518 แห่ง ผู้เสียชีวิต 27 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง และ มุกดาหาร ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 24 จังหวัด 185 อำเภอ 1,156 ตำบล 9,169 หมู่บ้าน 740,431 ครัวเรือน แยกเป็น น้ำป่าไหลหลาก 20 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคกลาง 3 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด และแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนล้นตลิ่ง 4 จังหวัด มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 21 อำเภอ 160 ตำบล 809 หมู่บ้าน แนวโน้มสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมเริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนขุนด่านปราการชล เนื่องจากปริมาณน้ำเกินความจุอ่าง จึงต้องเร่งระบายน้ำ
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการกระทรวงมหาดไทยกำชับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัย เร่งสำรวจสภาพความเสียหายของบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร พร้อมประเมินความเดือดร้อนของประชาชน โดยพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนหลักเกณฑ์ และระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างเคร่งครัด