ฮัสซัน ตอยิบแทคทีมนำพูโลBIPPยกระดับเจรจาไทย

ฮัสซัน ตอยิบแทคทีมนำพูโลBIPPยกระดับเจรจาไทย

ฮัสซัน ตอยิบแทคทีมนำพูโลBIPPยกระดับเจรจาไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'ฮัสซัน ตอยิบ' แทคทีมพูโล คุยสันติภาพครั้งที่ 5 หวังยกระดับการเจรจา ย้ำ 5 ข้อเรียกร้อง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ยัน ยังไม่คุยเรื่องเขตปกครองพิเศษ จนกว่าการพูดคุยสันติภาพจะมีเสถียรภาพกว่านี้

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 2 ก.ย. รายการโลกวันนี้ของสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน ออกอากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คลื่น 91.50 ออกอากาศเสียงเทปคำให้สัมภาษณ์ของ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย โดยนายฮัสซันให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันที่ประเทศมาเลเซีย นายฮัสซัน ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเอกสาร 38 หน้าของ บีอาร์เอ็น ที่อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของ บีอาร์เอ็น ที่ส่งให้ตัวแทนฝ่ายไทย นายฮัสซัน ระบุว่า การที่ บีอาร์เอ็น อ้างเรื่องเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยากับ กทม. ในเอกสาร 38 หน้าดังกล่าวนั้น ไม่ได้ความหมายว่า บีอาร์เอ็น ต้องการให้มีการปกครองพิเศษเหมือนกับเมืองพัทยา หรือ กทม. แต่สิ่งที่เรียกร้อง คือ สิทธิในการกำหนดใจตนเอง ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย

นายฮัสซัน ยืนยันว่า ปัจจุบัน บีอาร์เอ็น จะยังไม่พูดคุยประเด็นเขตปกครองพิเศษในการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทย เนื่องจากการพูดคุยสันติภาพดังกล่าว ยังไม่มีเสถียรภาพเพียงพอ ทั้งนี้ บีอาร์เอ็น จะพูดคุยประเด็นนี้ก็ต่อเมื่อการพูดคุยสันติภาพมีเสถียรภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้

เรื่อง แท็คทีม 15 คนเดินหน้าสู่การเจรจา

นายฮัสซัน กล่าวว่า หากรัฐไทย จะเดินหน้าพูดคุยสันติภาพกับ บีอาร์เอ็น ต่อไป ทางกลุ่ม จะดำเนินการ ดังนี้

1. บีอาร์เอ็น จะดำเนินการพูดคุยสันติภาพต่อไปภายใต้กรอบของฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการสานเสวนาสันติภาพ ที่ลงนามเมื่อวันที่ 28 ก.พ.56 และจะมีการพูดคุยสันติภาพตามตารางที่แนบไว้กับเอกสาร 38 หน้า

2. การพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 5 นี้ หรือครั้งต่อไป บีอาร์เอ็น จะมีการเปลี่ยนคณะพูดคุยสันติภาพ ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ในคณะพูดคุยสันติภาพต่อไปด้วยหรือไม่

3. การพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 5 นี้ BRN จะมีคณะพูดคุยสันติภาพ 15 คน มาจากตัวแทน BRN จำนวน 4 คน ตัวแทนองค์กรปลดปล่อยสหปาตานี หรือ พูโล  2 คน  ตัวแทนจากขบวนการแนวร่วมอิสลามเพื่อปลดปล่อยปาตานี (BIPP) 1 คน นักประวัติศาสตร์ 1 คน นักเศรษฐศาสตร์ 1 คน นักกฎหมาย 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์ 3 คน ตัวแทนนักเคลื่อนไหว 1 คน และตัวแทนนักศึกษา 1 คน ซึ่งคณะพูดคุยสันติภาพชุดนี้นำโดย BRN

4. BRN พร้อมที่จะพูดคุยเรื่องขั้นตอนและมาตรการลดปฏิบัติการความรุนแรง

5. BRN ยืนยันว่า จะไม่มีการเรียกร้องเพื่อแบ่งแยกดินแดน

6. ข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ของ BRN เป็นประเด็นสำคัญในการที่พูดคุยสันติภาพต่อไป เพื่อจะยกระดับการพูดคุยสันติภาพเป็นการเจรจาในอนาคต เพื่อนำไปสู่การวางอาวุธของทั้ง 2 ฝ่าย  และนำไปสู่การทำข้อตกลงสันติภาพ (Peace Agreement) ของทั้ง 2 ฝ่าย

นายฮัสซัน กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเรียกร้องข้อที่ 4 ที่ว่าด้วย สิทธิความเป็นเจ้าของชาวมลายูปาตานี มีใจความสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของชาวมลายูปาตานี ดังนี้

1. สิทธิขั้นพื้นฐานและความยุติธรรมสำหรับสังคมมลายูปาตานี

2. รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิของชาวมลายูปาตานี

3. สิทธิในการปกครองด้วยตนเอง รวมเป็นถึงสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

4. รัฐไทยต้องให้โอกาสและเปิดช่องทางแก่ชาวมลายูปาตานี ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ได้ปกครองตนเอง ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดอยู่ภายใต้ของกรอบรัฐธรรมนูญไทย ปี 2550

นายฮัสซัน กล่าวด้วยว่า สำหรับคำอธิบายของข้อเรียกร้องข้อที่ 4 มีดังนี้

1. รัฐบาลต้องยอมรับว่า สังคมมลายูปาตานีเป็นประชาคมซึ่งมีเอกภาพและเป็นประเด็นที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาของประเทศไทย

2. รัฐต้องยอมรับว่าในประวัติศาสตร์ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เคยเป็นรัฐอิสลามมาก่อน ซึ่งมีผู้ปกครองและผู้อาศัยเป็นชาวมลายูปาตานี ที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม และถูกสยามยึดไป ในปี ค.ศ.1786

ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงนี้ ประชาคมมลายูปาตานี สามารถที่จะเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของได้ขณะเดียวกันรัฐไทยต้องยอมรับว่า ชาวมลายูปาตานี มีสิทธิความเป็นเจ้าของในดินแดนปาตานีแห่งนี้ และต้องนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในรัฐสภาของไทยด้วย

3. BRN ยืนยันว่า จะไม่เรียกร้องการแบ่งแยกดินแดน และเรื่องนี้ต้องเข้าพิจารณาในรัฐสภาด้วย

4. เรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของของมลายูปาตานี ต้องมีการพูดคุยอย่างละเอียดกันต่อไป เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตกลงกัน

ประเด็นที่ต้องคุย รวมเขตปกครองพิเศษ นายฮัสซัน กล่าวว่า สำหรับเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของของมลายูปาตานี มีประเด็นที่ต้องพูดคุยด้วยกันดังนี้

1. ต้องยอมรับสถานะของประชาคมมลายูปาตานี

2. เขตปกครองพิเศษ (Special Administrative Region)

3. ต้องมีตัวแทนพิเศษที่เป็นชาวมลายูปาตานีในรัฐสภาไทย

4. ผู้ว่าราชการในพื้นที่ต้องเป็นคนมุสลิมมลายูปาตานี โดยมีรองผู้ว่าฯ 2 คน โดยเป็นตัวแทนคนไทยพุทธ 1 คน และตัวแทนจากส่วนกลางอีก 1 คนที่เป็นมุสลิม

5. ในพื้นที่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้มีหัวหน้าตำรวจระดับจังหวัดเป็นชาวมลายูปาตานี รวมถึง ตำรวจส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นชาวมลายูปาตานีด้วย

6. ข้าราชการในพื้นที่ส่วนใหญ่ ต้องเป็นชาวมลายูปาตานี

7. กอฎี หรือ ดาโต๊ะยุติธรรม และสำนักงานกอฎีในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา ปัตตานี และสงขลา ต้องมีหน้าที่ดูแลกิจการศาสนาอิสลามในพื้นที่ ส่งเสริมเรื่องหลักศรัทธา การใช้กฎหมายอิสลามจริยธรรมและการศึกษาอิสลาม

8. สื่อวิทยุและโทรทัศน์ต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอ ต้องสนับสนุนให้มีหนังสือพิมพ์ นิตยสารภาษามลายูอักษรยาวีด้วย

9. ภาษีที่เก็บได้จากชาวมลายูปาตานี รัฐต้องส่งคืนให้ชาวมลายูปาตานี เพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่ นอกจากนี้ รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางแก่พื้นที่อย่างเท่าเทียมกับภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเผยแพร่เทปดังกล่าวแล้ว ทางสถานีวิทยุได้เปิดสายให้ผู้ฟังแสดงความคิดเห็น ปรากฏว่า มีผู้เข้าสาย 26 สาย ส่วนใหญ่เห็นค่อนข้างเห็นพ้องกับข้อเรียกร้องของ นายฮัสซัน ตอยิบ โดยมีบางส่วนแสดงความเห็นว่า ก่อนหน้านี้ข้อเสนอของ BRN เป็นเรื่องที่คลุมเครือ แต่การอธิบายของนายฮัสซันครั้งนี้ ได้ให้ความกระจ่างมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้แสดงความเห็นยังแสดงความเป็นกังวลต่อท่าทีของฝ่ายไทยว่า จะมีความจริงใจในการเดินหน้าพูดคุยสันติภาพมากน้อยเพียงใด บางคนยังไม่มั่นใจว่า รัฐจะเปิดเวทีรับฟังชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา

 

 

 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook