อสส.สั่งฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพคดีสั่งสลายแดง99ศพ
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลง อสส. มีความเห็นสั่งฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ในคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ช่วงกระชับพื้นที่ พ.ค.53
นายนันทศักดิ์ พูลสุข โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศอฉ. ในคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อเดือน เม.ย.- พ.ค. 2553
โดยอัยการสูงสุด เห็นว่า การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองนั้น มีพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล เอกสาร ในการออกคำสั่งให้ เจ้าหน้าที่ ศอฉ. ปิดล้อมสกัดกั้นการเข้าร่วมชุมนุม ขอคืนพื้นที่ โดยให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนได้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่เกินจำเป็น อัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งฟ้อง นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ ในข้อหา ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล
และจากนี้ไป จะแจ้งผลคำสั่งให้ผู้ต้องหารับทราบ ก่อนจะนำตัวมาส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งคาดว่า น่าจะดำเนินการภายหลังปิดสมัยประชุมสภา เนื่องจาก ผู้ต้องหาเป็น ส.ส. และมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง
รองโฆษก อสส.ยันคดี "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ไร้ใบสั่งการเมือง
นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงการที่ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศอฉ. ในคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อเดือน เม.ย. - พ.ค. 2553 โดยยืนยันว่า ในการสั่งคดีของอัยการสูงสุด ไม่มีใบสั่งทางการเมือง 100% เนื่องจากอัยการได้พิจารณาไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏตามสำนวนที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งมาให้อัยการ
หลังจากที่ อัยการสูงสุด มีคำสั่งในคดีดังกล่าวออกไปแล้ว อัยการย่อมเตรียมรับมือกับกระแสสังคมที่อาจวิพากษ์วิจารณ์ไปในรูปแบบต่างๆ เพราะการสั่งคดีย่อมถูกใจบุคคลบางกลุ่ม และไม่ถูกใจกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม จะต้องเตรียมรับสถานการณ์ทั้งกระแสวิจารณ์และการชื่นชม