ม.จุฬาฯแถลงการณ์ให้วุฒิสภาฯยับยั้งร่างพ.ร.บ.นิรโทษ

ม.จุฬาฯแถลงการณ์ให้วุฒิสภาฯยับยั้งร่างพ.ร.บ.นิรโทษ

ม.จุฬาฯแถลงการณ์ให้วุฒิสภาฯยับยั้งร่างพ.ร.บ.นิรโทษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ ๑ เรียกร้องให้วุฒิสภาซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยับยั้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไว้ก่อน และส่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาทบทวนใหม่

แถลงการณ์ของคณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่ 1 เรื่อง ข้อขัดแย้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

ตามที่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... อย่างรีบเร่ง รวบรัด และมีเนื้อหาแตกต่างไปจากร่างที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการเอาไว้ในวาระที่ 1 ทำให้บุคคลที่จะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขยายออกไปครอบคลุมถึงผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตาย และขยายระยะเวลาของการนิรโทษกรรมออกไปจนทำให้นักการเมืองที่กระทำการทุจริตคอรัปชั่นจะได้รับประโยชน์จากร่างกฎหมายฉบับนี้อีกด้วย การพิจารณาร่างกฎหมายด้วยวิธีการดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่า การจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ให้แนวทางเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไว้ว่า “...ไม่สามารถดำเนินการโดยปราศจากขอบเขต แต่ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและมาตรฐานที่เป็นสากล ... จะต้องมิใช่การนิรโทษกรรมตนเอง (Self-Amnesty) ที่ผู้มีส่วนในการกระทำความผิดบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดของตนเอง หรือการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมเป็นการทั่วไป (Blanket Amnesty) หรือครอบคลุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยปราศจากเงื่อนไข แต่จะต้องมีการกำหนดความผิดที่จะนิรโทษกรรมและเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมอย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจง โดยพิจารณาแยกแยะลักษณะการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศและตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย”  

อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้วและไม่สามารถย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นได้ในปัจจุบัน คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงขอเรียกร้องให้วุฒิสภาซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยับยั้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไว้ก่อนและส่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ ทั้งนี้ คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด

4 พฤศจิกายน 2556


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook