นายกฯแถลงนิรโทษทางออกปท.ปัดกม.การเงิน
นายกรัฐมนตรี แถลง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทางออกประเทศ ปัดเป็นกฎหมายการเงิน ขอ ส.ว. ใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบยึดปรองดองประโยชน์ประเทศ
ภายหลังการประชุม ครม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลง
จุดยืนของรัฐบาล ต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์ สร้างความปรองดองให้เกิดในประเทศ และปล่อยให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการก้าวก่ายการทำงานของสภา และมองว่าหลายประเทศก็มีการใช้หลักนิรโทษกรรม เป็นการหาทางออกความขัดแย้งของประเทศ แต่กลับกลายเป็นว่า มีการนำประเด็นดังกล่าวมาบิดเบือนว่าเป็นกฎหมายการเงิน และนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี จึงขอให้ทุกฝ่ายเปิดใจให้อภัยการใช้หลักเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ เพื่อออกจากการติดหล่มความขัดแย้ง และให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าความเจ็บปวดส่วนตัว
ทั้งนี้ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของ ส.ว. ไม่มีใครสามารถแทรกแซงได้
โดยขอให้ ส.ว. ใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ ดำเนินการตามขั้นตอน บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยใช้หลักพื้น
ฐานการสร้างความปรองดอง คำนึงถึงประโยชน์ประเทศ โดยรัฐบาล และ ส.ส. ที่ร่วมพิจารณาร่าง ก็พร้อมน้อม
รับการตัดสินใจของ ส.ว. ไม่ว่าจะออกมาในแนวทางใด
ฉบับเต็มนายกฯ แถลงเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ฉบับเต็มนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมแสดงท่าทีต่อกระแสคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ระบุว่า"กราบเรียนพี่น้องประชาชนที่เคารพรัก ดิฉันขอใช้เวลากับพี่น้องประชาชนเพียงเล็กน้อย ขออนุญาตเรียนว่า จากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ร่วมสิบกว่าปีแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งที่ผ่านมานั้นได้สร้างความบอบช้ำให้กับประเทศอย่างมาก ซึ่งเมื่อดิฉันได้รับการเลือกตั้งและเข้ามา ดิฉันก็เชื่อว่าคนไทยทุกคนมีความคิดเห็นตรงกันว่า หากความขัดแย้งดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ได้ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่รัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารประเทศ ดิฉันก็ได้ประกาศที่จะใช้นโยบายอย่างชัดแจ้งว่า เราจะร่วมสร้างความปรองดองของคนในชาติโดยยึดหลักนิติธรรม และต้องการเห็นกลไกของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ให้เป็นไปอย่างสมดุล ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐบาลนั้น ก็ต้องการเห็นความปรองดอง ความสมานฉันท์ของคนในชาติอย่างไม่ลดละ จนในที่สุด เมื่อเร็วๆ นี้ดิฉันก็ได้เสนอแนวทางในการสร้างเวทีปฏิรูปทางการเมืองร่วมกับทุกฝ่าย ที่มีทั้งความคิดเห็นที่แตกต่าง และก็เป็นความคิดเห็นที่มาจากหลากหลาย ซึ่งเป็นกลไกในหลายๆ กลไกที่หวังว่าจะได้ร่วมกันสร้างความปรองดอง และความสมานฉันท์ใดแต่ขณะเดียวกัน ภายใต้กลไกที่สมดุลของอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยนั้น ก็จะทำให้เห็นได้ในหลายๆ เวลาว่า เมื่อฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างกฎหมายต่างๆ นั้น หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ในซีกของรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวดิฉัน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้ก้าวก่ายกลไกที่ทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเลย จนกระทั่งดิฉันเองกลับถูกกล่าวหาว่า ละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ดิฉันต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่สำหรับการที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้ว ในหลายๆ ประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองถึงขั้นรุนแรง มีการเสียชีวิต การสูญเสียทรัพย์สินนั้น ก็มีการนิรโทษกรรมมาก่อน และเป็นบทเรียนที่ประเทศไทยต้องศึกษา และหลักของนิรโทษกรรมนั้น ก็เป็นทางออกๆ หนึ่งที่ควรจะพิจารณา เพราะหากทุกฝ่ายเรียนรู้ที่จะให้อภัยซึ่งกันและกันแล้ว ดิฉันเชื่อว่าความขัดแย้งย่อมลดลง และประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้แต่ที่น่าเสียใจอย่างยิ่งว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ก็ได้มีพี่น้องประชาชนจำนวนนับร้อยที่ต้องสูญเสียชีวิต และอีกหลายพันคนที่ได้รับความบาดเจ็บและมาจากการรุนแรงที่มาจากความขัดแย้งที่มีต้นตอจากความคิดล้มล้างรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้นการนิรโทษกรรมไม่ได้หมายความว่าจะให้เราลืมบทเรียนอันเจ็บปวด เราทุกคนต้องเรียนรู้ เราทุกคนต้องเข้าใจ เพื่อไม่ให้ลูกหลานของเรานั้นต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้อีก และขณะเดียวกัน เราก็ต้องร่วมมือกันทำให้ประเทศของเรานั้นต้องเดินหน้าได้ เราจะมาติดหล่มจนประเทศชาติจะต้องอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งต่อไปไม่ได้ และหากจะให้บ้านเมืองสงบ การให้อภัยนั้น ก็ต้องปราศจากอคติ ไม่ใช้อารมณ์ และเปิดใจกว้างให้ทุกฝ่ายของความขัดแย้ง ได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งดิฉันเข้าใจว่า หลายๆ อย่างเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่เราต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าความเจ็บปวดส่วนตนมาจนถึงวันนี้ เราก็พบว่าร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จแล้วนั้น ได้มีการนำเสนอสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกลไกปกติของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างหนัก จนทำให้เกิดข้อขัดแย้งของคนในชาติหลายกลุ่ม หลายสถาบัน หรือแม้กระทั่งพรรคการเมืองด้วยกัน ตลอดจนพี่น้องประชาชน ในหลายๆ พื้นที่อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า มีคนไทยหลายกลุ่มยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และยังไม่พร้อมที่จะให้อภัย ทั้งยังมีท่าทีที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
ดิฉันไม่อยากเห็นการนำพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้เกิดข้อถกเถียง หรือมีการให้ข้อมูลที่สับสน และถูกบิดเบือน โดยมีเจตนาที่จะล้มล้างรัฐบาล และระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งการบิดเบือนนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงิน ถ้าหากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ดิฉัน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องลงนาม ซึ่งดิฉันไม่เคยลงนามใดๆ เลย ที่สำคัญมีความพยายามที่จะบิดเบือนว่า กฎหมายจะกลบเกลื่อนการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก็เป็นคนละประเด็นกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายที่ยกเลิกให้ผู้ที่ได้รับผลพวงจากทางการเมือง การรัฐประหารที่ไม่อยู่ในหลักของนิติธรรม รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินดิฉันขอยืนยันว่า รัฐบาลนี้จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และจะไม่ใช้เสียงข้างมากมาฝืนความรู้สึกของประชาชนโดยเด็ดขาด เพราะรัฐบาลของดิฉันเป็นรัฐบาลของประชาชนทุกคน ย่อมต้องฟังทั้งเสียงที่สนับสนุน และเสียงคัดค้าน เป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้ ก็คือการสร้างความปรองดองและทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้วิถีทางประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม โดยใช้เหตุและผล ไม่ใช่การใช้อารมณ์ภายใต้บรรยากาศของความขัดแย้งที่ปะทุอยู่นี้ รัฐบาลเห็นว่าทุกฝ่ายน่าที่จะหยุดคิด หยุดกระทำ ที่จะสร้างความแตกแยกต่อไป
ทั้งนี้ ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากถือว่าตามขั้นตอนของกระบวนการกฎหมาย ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของวุฒิสภา ดิฉันจึงใคร่ขอเสนอว่า ให้วุฒิสภา โดยวุฒิสมาชิก ซึ่งเป็นทั้งตัวแทนที่มาจากการแต่งตั้ง และตัวแทนวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งเป็นกลุ่มที่มาจากกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ได้กรุณาใช้ดุลพินิจอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า วุฒิสมาชิกนั้นไม่มีใครก้าวก่ายได้ ให้ได้โปรดใช้ดุลพินิจพิจารณาโดยอาศัยพื้นฐานของความปรองดอง ความเมตตาธรรม กับผู้ที่เดือดร้อน และผู้ที่เจ็บปวดมาเป็นเวลานาน ให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค ซึ่งการพิจารณาพระราชบัญญัตินี้ ได้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และไม่ว่าวุฒิสภาจะตัดสินอย่างไร จะไม่เห็นด้วย จะยับยั้งกฎหมาย หรือจะมีการแก้ไขก็ตาม ดิฉันเชื่อว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนผ่านพระราชบัญญัติฉบับนั้นไปแล้ว จะยอมรับการตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผล เพื่อความปรองดองของคนในชาติทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันเป็นเป้าหมายหลักที่เราต้องช่วยกันรักษาไว้ เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทยทุกคนสุดท้ายนี้ ดิฉันขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ทำงานอย่างหนัก ในฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อสนับสนุนแนวทางปรองดอง ซึ่งถือว่าทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ อย่างเต็มกำลังสุดความสามารถแล้วเพื่อประเทศชาติ และขอใช้เวลาต่อจากนี้ไป เป็นเวลาของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ ในการพิจารณาแนวทางด้วยความเป็นธรรม ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่มีอคติ ไม่มีอารมณ์ ด้วยใจที่เปิดรับ และเห็นอกเห็นใจกัน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของความปรองดองที่ประชาชนคนไทยต้องการ ขอบคุณค่ะ"
ขอบคุณ : สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
'สุรชัย'ยันส.ว.ใช้ดุลพินิจรอบคอบถกนิรโทษ
บรรยากาศการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ล่าสุดขณะนี้ยังคงอยู่ในการพิจารณากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามมาตรา 190 โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวถึง กรณีที่นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ให้สมาชิกวุฒิสภา ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ว่า เป็นเรื่องปกติ เมื่อเรื่องมาถึงวุฒิสภา ก็ต้องทำหน้าที่ และกฎหมายฉบับนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้น วุฒิสภาจะพิจารณาอย่างรอบคอบ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ทั้งนี้ ขอฝากถึงประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านว่า วุฒิสภาจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ของประเทศ จึงขอให้มั่นใจการทำงานของวุฒิสภา โดยขณะนี้ สมาชิกวุฒิสภาหลายกลุ่ม กำลังหารือกัน เพื่อให้มีมติในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ส.ว.ทุกคน ไม่รู้สึกกดดันที่หลายฝ่ายคาดหวังการทำหน้าที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ดังกล่าว และยืนยันทุกคนมีความเป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้พรรคการเมือง
ส.ว.อุตรดิตถ์ เผย 20 ส.ว.เลือกตั้ง ค้านนิรโทษ
บรรยากาศการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ยังพิจารณาบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลต่อการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ IGM ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ขณะที่ นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิษฐ์ เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับ ส.ว. เลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 20 คน ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ และมีความเป็นไปได้สูงที่วุฒิสภา จะมีมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะไม่สมควรที่จะให้กฎหมาย ซึ่งไม่ชอบธรรมผ่านออกไปและมีผลบังคับใช้ได้ พร้อมยืนยันว่า วุฒิสภาจะเป็นตัวยุติปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ด้วยการทำหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลาง รวมทั้งจะเป็นเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ส.ว.เลือกตั้ง ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมาโดยตลอด แต่สำหรับเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้
บรรหารชี้นายกแถลงนิรโทษทำอุณหภูมิกม.ลด
นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วย นายนิกร จำนง และ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ติดตามการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี ต่อจุดยืนในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยู่ที่ทำการพรรค เชื่อว่า ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี จะทำให้อุณหภูมิทางการเมืองลดลง และกลุ่มผู้ชุมนุมจะเข้าใจว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล และหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ส.ว. ว่าจะเห็นด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ซึ่งตนไม่สามารถทราบผลล่วงหน้าจะออกมาอย่างไร ทั้งนี้ ตามขั้นตอนยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้ข้อยุติ และไม่น่าจะทันสมัยประชุมนี้
นอกจากนี้ เชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่น่าจะทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา แต่ยอมรับว่ามีหลายเรื่องที่รัฐบาลทำโดยไม่ได้ปรึกษาตน เพราะเป็นเพียงแค่พรรคเล็ก ซึ่งในอนาคตคิดว่าอาจจะต้องพูดคุยกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองขณะนี้ คิดว่าทุกฝ่ายยังสามารถพูดคุยกันได้