มาตรา 190 กลืนบ้าน กินเมือง

มาตรา 190 กลืนบ้าน กินเมือง

มาตรา 190 กลืนบ้าน กินเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป่านกหวีดให้ดังลั่นกันไปทั้งบ้านเมืองเพื่อแสดงสัญลักษณ์ต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่กำลังเป็นกระแสสังคมของคนไทยที่ได้รวมพลังกันออกมาแสดงความคิดเห็นกับกฎหมายฉบับนี้ ทำให้รัฐบาลต้องออกแถลงการณ์เพื่อถอดถอนกฎหมายนิรโทษกรรมอีก 6 ฉบับที่ยังเหลืออยู่ในรัฐสภา เพื่อลดความตึงเครียดให้กับบ้านเมือง แต่ขณะที่คนไทยกำลังง่วนอยู่กับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอยู่นั้น หารู้ไม่ว่าเสียงนกหวีดที่ดังไปทั่วเมืองได้กลบเสียงจากรัฐสภาที่ได้ผ่านความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 วาระ 3 เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเมื่อเที่ยงวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน ด้วยคะแนนเสียง 381 ต่อ 165 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง อย่างเงียบ ๆ แต่ในอนาคตกฎหมายฉบับนี้อาจแสดงแสนยานุภาพที่ไม่เงียบก็เป็นได้ เพราะอำนาจของมันมีอยู่ล้นเหลือขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะนำไปก่อประโยชน์ หรือโทษต่อประเทศไทยเท่านั้นเอง ฟังอย่างนี้แล้วหลายคนอาจสงสัยและไม่เข้าใจว่ามันจะร้ายแรงขนาดนั้นได้เชียวหรือ......

รัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติไว้เกี่ยวกับอำนาจของคณะรัฐมนตรีเรื่องการเปลี่ยนแปลงเขตแดนหรือพื้นที่นอกอาณาเขตของไทยและการออกพระราชบัญญัติ หรือ หนังสือสัญญาการค้ากับต่างประเทศ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาและรัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน รวมทั้งก่อนดำเนินการทำหนังสือสัญญากับนานาชาติต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

แต่เนื้อหาสาระสำคัญนี้ได้ถูกแก้ไขโดยให้อำนาจฝ่ายบริหารตัดสินใจได้เต็มที่ คณะรัฐมนตรีไม่ต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่ต้องชี้แจงต่อรัฐสภา รวมทั้งก่อนลงนามในหนังสือสัญญาเพื่อให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญา

ด้วยเหตุผลนี้เองฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจึงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะบริหารโดยไม่ถูกตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชน รวมทั้งเป็นการกีดกันไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลสามารถแบ่งผลประโยชน์จากการนำทรัพยากร ก๊าซธรรมชาติหรือปิโตรเลียมในอ่าวไทยไปทำสัมปทานกับต่างชาติได้ โดยไม่ต้องเห็นชอบจากรัฐสภาและประชาชน หรือ จะนำข้าวจากโครงการรับจำนำไปแลกรถไฟความเร็วสูงจากจีนแบบขาดทุนก็ทำได้

แต่ข้อดีของผลพวงกฎหมายนี้ก็มีเช่นกัน คือฝ่ายบริหารสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับสมัยยุคดิจิตอลโดยไม่ต้องรอพิจาณาถึงหกสิบวัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่รัฐบาลแล้วล่ะว่าจะใช้อำนาจที่ได้มาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติหรือเพื่อสนองนโยบาย กลืนบ้าน กินเมือง ของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่หวังแต่จะกอบโกยผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก อนาคตประเทศไทยคงต้องฝากไว้กับรัฐบาลทุกสมัยที่มีอำนาจใช้กฎหมายในมาตรานี้.....

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.blacksheep.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook