นายกฯFBสู้พระวิหารเต็มที่ยึดประโยชน์ไทยรักษาสันติ2ปท.

นายกฯFBสู้พระวิหารเต็มที่ยึดประโยชน์ไทยรักษาสันติ2ปท.

นายกฯFBสู้พระวิหารเต็มที่ยึดประโยชน์ไทยรักษาสันติ2ปท.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ค กรณีศาลโลกจะมีคำตัดสินปราสาทพระวิหาร บอกรัฐบาลสู้เต็มที่ ยันยึดประโยชน์ของประเทศ ย้ำรักษาสันติไทย-เขมร ยินดีรับฟังประชาชน

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ค เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลโลกจะมีคำตัดสินกรณีปราสาทพระวิหารในวันจันทร์นี้ว่า รัฐบาลได้ต่อสู้คดีมาอย่างต่อเนื่องและเต็มที่ และไม่ว่าผลของคำตัดสินของศาลโลกจะออกมาเป็นเช่นไร ไทยและกัมพูชาจะต้องเจรจาหารือกันเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย คำตัดสินของศาลโลกนั้นจะมีรายละเอียดที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลและทีมทนายจะต้องพิจารณาศึกษาด้วยความรอบคอบ โดยต้องคำนึงถึงขั้นตอนตามกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยเป็นที่ตั้ง โดยในช่วงค่ำหลังมีคำตัดสินรัฐบาลจะมีแถลงการณ์ถึงท่าทีของประเทศไทยซึ่งขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนรอรับฟัง

ทั้งนี้การที่ไทยและกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ย้ายบ้านหนีจากกันไม่ได้ ประเทศทั้งสองจึงต้องรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะต้องร่วมมือกันที่จะดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณแนวชายแดน และจะใช้แนวทางการหารือร่วมกันในสาระสำคัญของคำตัดสินตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ว่าจะ "ต้องให้เวลา" และ "เคารพในสิทธิและการแสดงออก" ของกันและกัน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายภายในของแต่ละฝ่ายให้เป็นที่เรียบร้อยก่อน

ดิฉันขอย้ำว่า ขอให้ประชาชนคนไทยเชื่อมั่นได้ว่าการดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลจะเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพร้อมที่จะรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนก่อนที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อประโยชน์สุขของประเทศไทย และสันติภาพระหว่างไทย-กัมพูชา

 

'พงศ์เทพ'มั่นใจคำตัดสินเขาพระวิหารไม่เกิน4แนวทาง

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงคดีปราสาทเขาพระวิหาร
ว่า ในวันที่ 11 พ.ย. ที่ศาลโลกจะมีคำพิพากษาคดีเขาพระวิหารนั้น ตัวแทนจากฝ่ายประเทศไทย ที่จะเข้ารับฟังคำพิพากษา ประกอบไปด้วย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติ ส่วนที่รอแถลงการณ์อยู่ที่ประเทศไทย จะเป็น นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคนอื่น มั่นใจว่า คำพิพากษานั้น จะออกมาตาม 4 แนวทางที่ทีมต่อสู้คดีได้ประเมินไว้ ไม่มีโอกาสที่จะเป็นอื่นได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำพิพากษาออกมา ทางคณะทีมต่อสู้คดี จะนำคำพิพากษามาประเมิน วิเคราะห์ ว่ามีผลกระทบกับไทยอย่างไรบ้าง แล้วจะนำให้รัฐบาลแถลงท่าทีของฝ่ายไทยให้ประชาชนรับทราบ คาดว่าจะแถลงได้ในวันที่ 11 พ.ย. เช่นกัน

 

กต. มั่นใจคดีพระวิหารลั่นทำดีที่สุดแล้ว

นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีการพิจารณาคดีของศาลโลก เรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ว่า ขณะนี้ยังไม่มีข่าวว่าผลการพิจารณาจะออกมาในรูปแบบใด โดยตนเองก็ไม่ได้มีความระแคะระคายใจและคาดการณ์ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่มั่นใจว่า ได้ทำดีที่สุดแล้ว เท่าที่ทีมของคณะทนายจะทำได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้รอฟังคำพิพากษาของศาลโลก ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลนั้นได้มีการวางกรอบดำเนินการไว้แบบกว้าง ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพื่อจะรักษาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ให้เป็นไปด้วยดีให้เกิดความสงบสุขตามเขตชายแดน

ส่วนกรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปพบ นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและความมั่นคงของกัมพูชา นั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของคดีแต่อย่างใดเพราะเป็นการไปพูดคุยตามกรอบการรักษาความสัมพันธ์ รวมถึงเน้นย้ำและกระชับความสัมพันธ์เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นปกติแบบสันติวิธี

 

7จว.ชายแดนเข้มรับมือพิพากษาพระวิหาร

สถานการณ์วันสุดท้ายก่อนศาลโลก จะมีคำตัดสินในคดีพื้นที่เขาพระวิหาร ในวันที่ 11 พ.ย. ทางด้านกลุ่มต่อต้านไม่รับอำนาจศาลโลกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ รักษาแผ่นดิน กลุ่มเครือข่ายรวมพลังปกป้องแผ่นดินไทยอีสานใต้-ตะวันออก กลุ่มกำลังแผ่นดิน ที่ยังคงเคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งทุกกลุ่มมุ่งประเด็นหลักคือ การคัดค้านไม่ยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโลก และยึดถือแนวสันปันน้ำเท่านั้น ส่วนฝ่ายปกครองของไทยในส่วนจังหวัด ที่มีพรมแดนติดกับประเทศกัมพูชา 7 จังหวัด ระยะทาง 725 กิโลเมตร ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์  บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด ได้มีการเตรียมการอย่างเต็มที่เพื่อรับมือคำพิพากษาของศาลโลก โดยเฉพาะ 3 จังหวัดหลัก คือ จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ และสระแก้ว ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะเคยมีสถานการณ์ ทั้งในกรณียิงปะทะ ระหว่างทหารของ 2 ประเทศ และการจับตัวคนไทยในพื้นที่ทับซ้อน ส่วนที่จุดผ่านแดนถาวร 3 แห่ง คือ บ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ และ ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจตระเวณชายแดน ดูแลรักษาความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นจากเดิม


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook