4องค์กรวิชาชีพสื่อยื่น กสท.ค้านประกาศ ม.37
ตัวแทน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นจดหมาย บอร์ด กสท. ทบทวนและแก้ไข ประกาศ มาตรา 37
ตัวแทน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นจดหมายถึง บอร์ด กสท. และ บอร์ด กสทช. ขอให้ทบทวนและแก้ไข (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการฯ ซึ่งอาจขัดแย้ง กับ รธน. ม. 29 และ ยังขัดแย้ง กับ ประกาศ กสทช. ฉบับอื่นๆ ซึ่งใน ร่างฯ ฉบับนี้ กสทช. เขียนข้อกำหนดให้บทบาทหน้าที่กับตัวเองและพนักงาน กสทช. ในการใช้ดุลยพินิจ การสั่งระงับการออกอากาศรายการโทรทัศน์ได้ทันที เพราะ กสทช. ไม่ได้ดำเนินการในการออกประกาศฯ ฉบับดังกล่าว ด้วยความเข้าใจในกระบวนการทำงานด้านข่าวและรายการ
โดยในการยื่นจดหมายคัดค้านในครั้งนี้มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ รับจดหมายก่อนจะมีการประชุม บอร์ด กสท เพื่อพิจารณา เตรียม ผ่านร่างฯ ประกาศกำกับเนื้อหารายการวิทยุโทรทัศน์ ในวันนี้
4 องค์กรวิชาชีพสื่อสื่อ ยื่นค้านประกาศ ม.37 ต่อ บอร์ด กสท. (ฉบับเต็ม)
วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
เรื่องขอให้ทบทวนและแก้ไข (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.....
เรียน พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์
พลโทดร.พีระพงษ์ มานะกิจ
พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์
อ้างถึง ๑. แถลงการณ์เรื่อง ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อเตรียมยื่นจดหมายให้ กสทช. ทบทวนและแก้ไข(ร่างประกาศการกำกับเนื้อหารายการ ตาม ม.๓๗ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖
๒. แถลงการณ์ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ เรื่องคัดค้าน (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ของ กสทช. ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖
๓. แถลงการณ์ ๔ องค์กรวิชาชีพสื่อ เรื่องการแสดงความคิดเห็นเพื่อไม่รับ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ..... ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖
ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดทำ(ร่าง)ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ...โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มาตรา 5 และมาตรา 37แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โดยเผยแพร่และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียท่ามกลางเสียงคัดค้านขององค์กรวิชาชีพสื่อ 4 องค์กร และสื่อมวลชนในวงกว้างเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ซึ่งองค์กรสื่อทั้ง ๔ องค์กรได้แสดงความคิดเห็นแนะนำและคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องโดยในครั้งล่าสุดนั้น องค์กรสื่อทั้ง ๔องค์กรได้จัดทำความคิดเห็นเป็นหนังสือตามแบบแสดงความคิดเห็นที่ กสท.จัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงหลักการ เหตุผล และความไม่ชอบด้วยกฎหมายของ(ร่าง)ประกาศฯดังกล่าวมายัง กสท.แล้ว แต่จนถึง ปัจจุบันแม้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะได้จัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ...ฉบับใหม่ ขึ้นมาแทนฉบับเดิมที่ได้รับการคัดค้านไปแล้วก็ตาม แต่จากการตรวจสอบเนื้อหาของร่างประกาศฯฉบับที่จะนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ กสท. ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน2556 ในรายละเอียดแล้วพบว่ายังมิได้มีเนื้อหาต่างจากร่างประกาศฉบับเดิมอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใดเพราะใช้วิธีนำเนื้อหาในหมวดที่ 2 เรื่อง มาตรการในการออกอากาศรายการ ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่กำกับดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมบางส่วนมาเพิ่มเติมไว้ในหมวดที่1 แทน โดยยังคงเนื้อหาหมวดที่ 3 เรื่องการกำกับดูแล ไว้เช่นเดิมซึ่งยังคงเป็นการให้อำนาจผู้รับใบอนุญาต ผู้อำนวยการสถานี รวมถึง คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถสั่งด้วยวาจาหรือหนังสือระงับการออกอากาศรายการได้ทันทีทั้งนี้ภายหลังจากที่ กสท. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้ว กสท.กลับมิได้แสดงหรือเปิดเผยให้สาธารณะชนทราบว่ากสท.ใช้ดุลยพินิจประการใดในตัดสินใจที่จะรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากในประเด็นใดหรือไม่เพียงใดและด้วยเหตุใด อย่างโปร่งใสเป็นธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กรตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นที่ กสทช.จะต้องมีกลไกเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลสื่อมวลชนทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551 แต่ร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการฯ ฉบับใหม่ที่ผ่านการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวยังคงมีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ที่ระบุว่า"การกำจัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพมิได้”
นอกจากนี้การที่ กสทช.อ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 29เป็นเหตุผลหนึ่งในการร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหาฯก็อาจจะเป็นการใช้สิทธิเกินความจำเป็นและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและผู้บริโภคในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารประกอบกับ การใช้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553ถึงแม้ว่าจะใช้อำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบประกาศหรือคำสั่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็ตามแต่บทบัญญัติในวรรคที่สามของมาตราดังกล่าวก็ยังคงจำกัดการใช้อำนาจหน้าที่ของกสทช.ไว้ ว่า"การใช้อำนาจหน้าที่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม และกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม" โดย(ร่าง)ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ. .... กสทช.กลับกำหนดข้อความให้อำนาจหน้าที่กับตัวเองและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการระงับการออกอากาศได้ทันทีซึ่งอาจเข้าข่ายการใช้อำนาจหน้าที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ซึ่งในมาตรา 37ของพระราชบัญญัติกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ที่ให้อำนาจหน้าที่นั้นกับผู้รับใบอนุญาตเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน (ร่าง)ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ. .... ยังอาจขัดหรือแย้งกันเองกับประกาศของ กสทช. ฉบับอื่น เช่น ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555ในหมวด 2 เรื่องสิทธิและหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต ตามข้อ 10 ที่ระบุว่า"ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการคัดเลือก จัดหากํากับดูแลรายการ เนื้อหารายการใด ๆรวมถึงการประกาศหรือการโฆษณาที่ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ ฯลฯ จากประกาศดังกล่าว กสทช.เป็นผู้กำหนดให้ใช้มาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อเป็นตัวกำหนดเนื้อหารายการแต่(ร่าง)ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ. .... กลับเขียนเป็นเนื้อหารายการที่ต้องห้ามมิให้ออกอากาศโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมมาเป็นตัวกำหนดเนื้อหารายการซึ่งอาจเป็นการขัดหรือแย้งกันเองของประกาศกสทช.ซึ่งจะสร้างความสับสนในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่า กสทช.มิได้ดำเนินไปด้วยความเข้าใจในกระบวนการทำงานด้านข่าวและรายการและยังมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
องค์กรสื่อทั้ง 4 องค์กรจึงมีความเห็นร่วมกันที่จะยื่นจดหมายให้ คณะกรรมการ กสท. และ คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาทบทวนและปรับแก้ไขร่างประกาศดังกล่าวด้วยความรอบคอบเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างเพื่อให้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวสามารถใช้เป็นเครื่องมือของ กสทช.ในการกำกับดูแลสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง และหากกสทช.เห็นควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าวองค์กรสื่อทั้ง 4องค์กรยินดีให้ความร่วมมือส่งตัวแทนเข้าร่วมเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ