สธ.เตือนระวังไรอ่อนพาหะไข้รากสาดใหญ่

สธ.เตือนระวังไรอ่อนพาหะไข้รากสาดใหญ่

สธ.เตือนระวังไรอ่อนพาหะไข้รากสาดใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงสาธารณสุข เตือนระวังไรอ่อน นำโรคไข้รากสาดใหญ่มาสู่คน ในช่วงหน้าหนาวนี้ หากปล่อยไว้อาจถึงตายได้

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาว ประชาชนมักนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงและต้องเน้นย้ำให้ประชาชนที่ชื่นชอบการเที่ยวป่า ก็คือ การระมัดระวังตัวไรอ่อนกัด ซึ่งมักเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ไรชนิดนี้ทำให้เกิดโรคเรียกว่า โรคสครับไทฟัส หรือ ไข้รากสาดใหญ่ โดยตัวไรอ่อนจะอาศัยอยู่ในขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เมื่อกัดคนจะปล่อยเชื้อที่เรียกว่า ริกเก็ตเซีย เข้าสู่คน อวัยวะที่ตัวไรอ่อนมักจะเข้าไปกัด คือ ในบริเวณร่มผ้า เช่นอวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัวบริเวณใต้ราวนม รักแร้ มักพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการป่วย คือ มีไข้สูง ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดศีรษะบริเวณขมับและหน้าผากอย่างรุนแรง ผู้ป่วยร้อยละ 30-40 จะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ที่บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด ลักษณะมีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 อาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ อาจเสียชีวิตได้ โดยพื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันอกเฉียงเหนือ

ทางด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส จำนวน 9,729 ราย เสียชีวิต 7 ราย ภาคเหนือมีผู้ป่วยมากที่สุด จำนวน5,229 ราย ส่วนใหญ่มักจะเป็นจังหวัดที่มีป่าเขา รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,121 ราย ภาคใต้ 1,204 ราย และภาคกลาง 175 ราย ผู้ป่วยเกือบร้อยละ 90 อาศัยในเขตชนบท 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook