เปิดใจ มิสเตอร์ โปสต์แมน บุรุษไปรษณีย์รุ่นแรก
เมื่อนึกถึงการติดต่อสื่อสารของคนในยุคปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นโทรศัพท์มือถือที่มีระบบเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า หรือแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ตที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะเนื่องจากไม่เป็นการเสียเวลาและยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้การส่งข้อมูลสะดวกสบาย ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น
แต่ยังมีการสื่อสารอีกประเภทหนึ่งที่น้อยคนจะให้ความสนใจ ทั้งๆ ที่ในอดีตถือเป็นช่องทางสื่อสารหลักที่สำคัญเลยทีเดียว นั่นคือ การส่งไปรษณีย์ ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากพาคุณย้อนอดีตกลับไปในสมัยที่กิจการไปรษณีย์ไทยกำลังเฟื่องฟู โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน "โปสต์แมน" หรือบุรุษไปรษณีย์รุ่นเก๋าในยุคสมัยนั้น มาร่วมเล่าประสบการณ์การทำงาน รวมทั้งวิธีการทำงานในยุคที่กิจการไปรษณีย์ไทยกำลังเจริญรุ่งเรืองอีกด้วย
"ลุงหลอด" หรือ หลอด ชื่นบุญ อดีตบุรุษไปรษณีย์ในวัย 75 ปี ได้กล่าวถึงการเข้ามาทำงานในสมัยนั้นว่า เมื่อก่อนทำอาชีพเป็นชาวนาอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ก่อนที่จะมาบวชเป็นพระจนจบนักธรรมชั้นเอก และเมื่ออายุ 22 ปี บังเอิญได้ไปเห็นประกาศรับสมัครบุคคลของกรมไปรษณีย์ ซึ่งรับบุคคลที่จบตั้งแต่นักธรรมชั้นโทหรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 ลุงหลอดจึงไปลองสมัครงาน และได้เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานส่งจดหมาย ได้เงินเดือนประมาณ 450 บาท แต่ว่า 3 เดือนจึงจะจ่ายครั้งหนึ่ง ในสมัยนั้น "โปสต์แมน" หรือบุรุษไปรษณีย์ มีประมาณแค่ 100 คน ซึ่งจะแบ่งออกเป็นแต่ละประเภท เช่น ใครส่งที่ไหนบ้าง ก็จะแบ่งกันตามระยะๆ ไปทั่วกรุงเทพมหานคร
ลุงหลอด กล่าวอีกว่า ตอนทำงานพักอยู่แถวสำเหร่ เวลามาทำงานก็นั่งรถเมล์ สาย 10 สาย 87 มาทำงาน โดยทุกๆ เช้าจะมีรถมาคอยรับไปรษณีย์และจดหมายจากที่ไปรษณีย์กลางไปส่งตามจุดต่างๆ แล้วเดินไปส่งตามตรอกตามซอยที่ได้มีการกำหนดกันไว้ แต่ถ้าใครส่งจดหมายหมดแล้ว สามารถกลับบ้านได้เลยโดยไม่ต้องเข้าที่ทำงาน ซึ่งลุงหลอดส่งตั้งแต่ สี่แยกบางขุนพรหม วัดเอี่ยมวรนุช สามเสน เลยไปจนถึงเทเวศ ซอย 1 ถึงซอย 3 ถนนประชาธิปไตย ในสมัยนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่นิยมส่งจดหมายมากเท่าไหร่ จึงมักมีแต่จดหมายสอบถามเรื่องสารทุกข์สุกดิบมากกว่า แต่ในช่วงเทศกาลจะมีการส่งจดหมายเยอะกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ จะมี ส.ค.ส.เยอะมากเป็นพิเศษ รองลงมาจะเป็นหมายเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง
"การส่งจดหมายหรือไปรษณีย์ในสมัยก่อน จะส่งครั้งหนึ่งประมาณ 200 ฉบับ โดยการใส่โค้ทสะพาย เรียกว่า "โปสต์" มีฝาปิด โดยใช้วิธีการเดินส่งตามบ้าน แต่ถ้าจดหมายไม่มีผู้รับ จะต้องนำจดหมายที่มีปัญหาต่างๆ เข้ามาที่ทำงาน แล้วเขียนหมายเหตุลงไปว่ามีปัญหาอะไร แล้วจึงส่งให้สายตรวจคอยตรวจดูจดหมายอีกทีหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบจะเป็นจดหมายไล่ที่ จดหมายทวงหนี้ จดหมายธนาคารต่างๆ ซึ่งบางบ้านไม่รับ เลยต้องนำกลับมาเขียนหมายเหตุใหม่ แล้วค่อยส่งให้สายตรวจอีกที" ลุงหลอด เล่า
ลุงหลอดบอกกับเราอีกว่าตอนหลังสอบเปลี่ยนตำแหน่งได้กลายมาเป็นนายตรวจใหญ่ ก่อนเกษียณก็มาสอบเปลี่ยนตำแหน่งอีกทีเป็นพนักงานคัดเลือกจดหมาย ซึ่งถ้าให้นับระยะเวลาการทำงานทั้งหมดตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงเกษียณก็เป็นเวลา 29 ปี 8 เดือน ซึ่งพอถึงวันนี้ไม่ได้ทำงานแล้ว ก็ยิ่งทำให้รู้สึกคิดถึงอาชีพบุรุษไปรษณีย์มาก เพราะรู้สึกว่ายังมีความสุขในการทำงานอยู่เสมอแต่คงทำไม่ได้เพราะอายุมากแล้ว
แม้วันนี้ลุงหลอดจะไม่ได้เป็นพนักงานไปรษณีย์แล้ว แต่เชื่อว่าความรักและผูกพันในอาชีพ และการไปรษณีย์ยังคงมีอยู่ เพราะแววตาและรอยยิ้มของลุงแสดงออกให้เราเห็นอย่างนั้นจริงๆ
เรื่อง... "ศิรัญญา สถิตโภคิน,กรกิต ศุภกรทิพย์"