กรมการแพทย์เผยแนวทางป้องออฟฟิศซินโดรม
กรมการแพทย์ เผย แนวทางป้องกัน 'ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตหนุ่มสาวยุคใหม่'
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การดำเนินชีวิตของคนในสังคมเมือง มีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น ทำให้คนเรามองข้ามสุขภาพร่างกายของตัวเองไป พบว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของคนเมือง มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจาก พฤติกรรมการทำงาน คือ มีอิริยาบถในการทำงานไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน อาทิ การนั่งหลังค่อม การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานมากว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ และยังส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือและสายตา
นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคกระเพาะ เบาหวาน และความดัน เป็นต้น ส่วนอาการในด้านอารมณ์ คือ หงุดหงิดง่าย เกรี้ยวกราดกับเพื่อนร่วมงาน ให้ความสนใจแต่เฉพาะเรื่องของการทำงาน จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในที่ทำงานและครอบครัว ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวเบื้องต้น สามารถเริ่มรักษาได้ด้วยตนเอง โดยปรับพฤติกรรมลดความเครียดจากการทำงานให้มีความพอดี ด้วยการใช้เวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนให้สมดุลกัน และควรมีการผ่อนคลายในระหว่างการทำงาน
อย่างไรก็ตาม อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ให้ประชาชนให้เวลากับตัวเอง โดยหันมาดูแลสุขภาพ หมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายและตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงส่งผลให้งานออกมามีประสิทธิภาพตามไปด้วย