เปิดคำพูดบุญทรง อดีตรมว.พาณิชย์ ขายข้าวจีทูจี ลวงโลก

เปิดคำพูดบุญทรง อดีตรมว.พาณิชย์ ขายข้าวจีทูจี ลวงโลก

เปิดคำพูดบุญทรง อดีตรมว.พาณิชย์ ขายข้าวจีทูจี ลวงโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทีมข่าว Sanook! News ค้นคำให้สัมภาษณ์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนถูกป.ป.ช. ฟันกรณีไม่พบการขายข้าวแบบจีทูจีจริงตามที่เคยกล่าวอ้าง ทั้งที่เคยบอกว่าขายได้แล้วถึง 42,000 ล้านบาท

จากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ กรณีการไม่มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จริง เพราะไม่พบการส่งข้าวออกนอกราชอาณาจักร และมีมติแจ้งข้อกล่าวหานายบุญทรง เตมิยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ทุจริตขายข้าวและเป็นผู้ดำเนินการเจรจาการขายข้าวและเป็นผู้ดำเนินการขายข้าวให้รัฐบาลจีน รวมทั้งหมด 15 คน รวมถึง มีมติให้ไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เนื่องจากพบว่าอาจมีมูลความผิดกรณีละเว้นต่อหน้าที่ที่จะยุติความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว แม้จะมีข้อท้วงติงถึงปัญหาและอุปสรรคแล้ว แต่ละเลยไม่ยับยั้ง

เราลองย้อนไปดูคำพูดของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กรณี ซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวชี้แจงวิธีการระบายสต็อกข้าวของรัฐบาลที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้รับจำนำมาจนถึงปัจจุบันว่า การซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล( จีทูจี) โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้มีการทำสัญญาไปแล้ว 7.32 ล้านตัน จากปริมาณที่รัฐบาลได้ลงนามบันทึกความเข้าใจไว้กับประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย จีน โกดิวัวร์ ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ รวม 8 ล้านตัน จนถึงขณะนี้ได้ทำสัญญา 6 สัญญา และได้ทยอยส่งมอบแล้วตั้งแต่ม.ค.-ก.ย. 55 ปริมาณ 1.46 ล้านตัน หรือคิดเป็น 20% ของปริมาณการทำสัญญา และคาดว่าจะส่งมอบได้เพิ่มในช่วง ต.ค.-ธ.ค. อีก 3 แสนตัน ส่วนที่เหลืออีก 5.56 ล้านตันจะทยอยส่งมอบไปจนถึง ปี 2556

"เอ็มโอยูระบุกรอบปริมาณและระยะเวลาไว้กว้างๆ ภาพรวม 8 ล้านตัน ส่งมอบภายใน 3-5 ปี หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องทำตามนโยบายหลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลประเทศต่างๆ ไว้ 8 ล้านตัน ก็เป็นหน้าที่ที่ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะต้องมาเจรจาจัดทำสัญญาซื้อขายกับประเทศเหล่านั้น ได้ข้อสรุปและนำไปสู่การทำสัญญาซื้อขายและเปิดแอล/ซี ดังนั้น จึงถือว่าคำแถลงของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่ได้พูดไปเป็นเรื่องจริง"นายบุญทรงกล่าว

ขณะเดียวกันก็จะต้องเจรจาขายข้าวกับประเทศที่มีเอ็มโอยูต่อไปอีก 2 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพราะยังไม่การตกลง เพียงแต่ก่อนหน้านี้ได้มีการทำสัญญาขายให้กับอินโดนีเซียไปก่อนช่วงต้นปี 300,000 ตัน ซึ่งก็นับรวมอยู่ในยอด 7.32 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม นายบุญทรง กล่าวว่า ชนิดข้าวที่ขายไปมีหลายชนิด และมีการนำเงินที่ได้จากการขาย 42,000 ล้านบาทคืนให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) แต่ก็ไม่สามารถให้ข้อมูลรายละเอียดของสัญญาการซื้อขาย และเปิดเผยแอล/ซีได้

ขณะที่ นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า รูปแบบการขายหรือวิธีการเป็นการขายหน้าคลัง โดยประเทศผู้ซื้อจะเป็นผู้กำหนดว่าจะให้บริษัทใดมารับ เพื่อนำไปปรับปรุงและส่งมอบให้ตน พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาการรับมอบ แต่ทางกรมฯ ไม่มีการระบุในสัญญาว่าจะต้องส่งออกไปต่างประเทศหรือไม่ ภายในเมื่อไหร่ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศผู้ซื้อและผู้ปรับปรุงข้าว และมีผู้ตรวจสอบเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์เวย์เป็นผู้ตรวจสอบ

"ทางเราได้เงินมาก็แสดงว่าขายได้แล้ว ส่วนราคาก็มีการคุยกันไว้แล้ว โดยมีการกำหนด optimum prices คำนวณมาจากเกณฑ์ต่างๆ หลายเกณฑ์ ซึ่งเป็นราคาที่ทั้งสองฝ่ายแฮปปี้ ก็ขาย แต่บอกไม่ได้ อยากขอให้โอกาสในการทำงานต่อไป เพราะหากสื่อมวลชนยิ่งเขียนข่าวก็จะยิ่งทำให้ประเทศที่กำลังจะทำสัญญาซื้อขายตื่นตระหนกและจะไม่ซื้อไทย หันไปซื้อข้าวจากเวียดนามแทน หากเกิดปัญหาเช่นนี้ก็ให้มารับผิดชอบร่วมกัน เพราะเป็นผลเสียของประเทศชาติ"นางปราณีกล่าว

ทั้งนี้ ทางกรมการค้าต่างประเทศแจ้งว่า ตัวอย่างการทำเอ็มโอยูแต่ละประเทศมีหลายฉบับ เช่น ฟิลิปปินส์ มีกำหนดจะซื้อข้าวไทย 3 ปี ปีละไม่เกิน 1 ล้านตัน และอีกฉบับก็จะชดเชยข้าวในการลดภาษีอาฟต้าอีก 3 แสนตัน ส่วนบังกลาเทศอีก 3 แสน อินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้ 3 แสน โกดิวัวร์ 2.4 แสนตัน ส่วนจีนไม่ได้ระบุ เป็นต้น

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:59:23 น.

 

แถลงการณ์ฉบับเต็ม ป.ป.ช.

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook