สธ.เผยโพลห่วงคนไทยชินชากับคำหยาบในม็อบ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย เป็นห่วงสุขภาพจิตคนไทย ชินชากับคำหยาบคาย ในระหว่างม็อบการเมือง เสื่อมโทรมลง
น.พ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ล่าสุด กรมสุขภาพจิต ได้ลงพื้นที่สำรวจภาวะสุขภาพจิตของประชาชนต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 17-19 มกราคม ที่ผ่านมา จำนวน 308 ราย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งผู้ที่เคยเข้าร่วมชุมนุมและไม่เคยเข้าร่วมชุมนุม พบว่า ในภาพรวม ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.60 มีความเครียดน้อย ขณะที่ ประชาชน ร้อยละ 7.40 มีความเครียดอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ผู้ที่เคยเข้าร่วมชุมนุมยังคงมีความเครียดมากกว่าผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุม และสาเหตุของความเครียด อันดับ 1 มาจากการเดินทาง รองลงมา คือ การรับข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ และการได้รับฟังคำพูดที่รุนแรง
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า จากการสอบถามถึงสื่อและระยะเวลาในการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง พบว่า ประชาชน ร้อยละ 93.80 รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุด รองลงมา คือ สื่อวิทยุ คิดเป็นร้อยละ 71.80 โดยส่วนใหญ่เปิดรับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 42.50 รองลงมา เปิดรับ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 39.00 ตามลำดับ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจในครั้งนี้ คือ ความรู้สึกของประชาชนต่อการใช้คำพูดรุนแรงและมีเจตนาให้เกิดความเกลียดชัง พบว่า ประชาชนเกินครึ่ง ร้อยละ 53.20 รู้สึกไม่ชอบฟังและเครียด รองลงมา ร้อยละ 25.30 มีความรู้สึกเฉยๆ และรู้สึกว่าสะใจดี
แพทย์แนะไม่ควรนำเด็กอายุต่ำกว่า15ปีเข้าร่วมม็อบ
น.พ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึง กรณีมีการนำเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ว่า หากผู้ปกครองต้องการเข้าร่วมเพื่อแสดงออกจริง ควรประเมินอายุ วุฒิภาวะ และการควบคุมสติอารมณ์ของบุตรเป็นหลัก
ขณะที่เด็กควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี อยู่ในกลุ่มวัยรุ่น หรือเยาวชน และผู้ปกครองต้องมีการวางเงื่อนไข 2 ประการ คือ การบริหารความเสี่ยง รวมทั้งการคุ้มครองความปลอดภัยและการบริหารความเครียด หากประเมินแล้วเห็นว่าอยู่ในกลุ่มเด็กที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย หรือการชุมนุมอาจมีความเสี่ยงต่อความรุนแรง พ่อแม่ไม่ควรอนุญาตให้เข้าร่วมเขตพื้นที่การชุมนุม
นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีสุนทรียสนทนาเพื่อลดความเครียด โดยยึดหลักจุดร่วมที่ไม่มีข้อขัดแย้ง สนทนาในหัวข้อไม่ใช้ความรุนแรง และหมั่นตั้งสติสมาธิทุกวัน เพื่อพัฒนาและรู้จักการควบคุมอารมณ์ตนเอง