ปิดตำนานผู้ก่อตั้ง กาแฟดอยช้าง ′วิชา พรหมยงค์′ เสียชีวิตกะทันหันในวัย63 ปี ที่เชียงราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2557 โรงพยาบาล อ.แม่สรวย ได้รับผู้ป่วยที่หมดสติกะทันหันเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนที่ห้องฉุกเฉิน ทราบชื่อนายวิชา พรหมยงค์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทดอยช้างคอฟฟี่ออริจินอล จำกัด ผู้ก่อตั้งกาแฟภายใต้ชื่อ "ดอยช้าง" ที่โด่งดัง ทีมแพทย์จึงพยายามใช้เครื่องช่วยหายใจแต่ปรากฎว่าไม่ได้สติ จึงได้นำส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในเขต อ.เมือง จ.เชียงราย แต่ก็เสียชีวิตไปอย่างสงบด้วยวัย 63 ปี ญาติจึงได้นำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลตามหลักศาสนาอิสลามที่บ้านพักพื้นที่ชุมชนริมกก ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย แล้วท่ามกลางบรรยากาศที่โศกเศร้าเสียใจ จากนั้นในวันที่ 24 ม.ค.ทางญาติผู้เสียชีวิตได้ทำพิธีฝังศพที่สุสานอิสลาม ชุมชนเด่นห้า เทศบาลนครเชียงราย
จากการสอบถามนายปณชัย พิสัยเลิศ หรืออาเดล อดีตผู้ใหญ่บ้านดอยช้างผู้ซึ่งร่วมกันก่อตั้งกาแฟดอยช้างมากับนายวิชา ทราบว่าก่อนเสียชีวิตนายวิชาไม่ได้มีเหตุบ่งชี้หรือเจ็บป่วยใดๆ มาก่อนโดยยังคงไปทำงานที่ทำงานบนดอยช้างตามปกติ กระทั่งช่วงสายของวันที่ 23 ม.ค.เวลาประมาณ 09.00 น.ได้ออกมาทำงานที่อาคารของบริษัทบนดอยช้างและเตรียมพักรับประทานอาหารเช้าโดยนายวิชาก็นั่งรออาหารที่โต๊ะด้วยอาการปกติ แต่ปรากฎว่าเมื่อคนเสิร์ฟนำอาหารไปถึงนายวิชาก็ล้มลงหมดสติ ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลดังกล่าว
สำหรับนายวิชาเป็นชาวกรุงเทพฯ และได้เดินทางไปตามป่าเขาพื้นที่ จ.เชียงราย และประเทศเพื่อนบ้านเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน กระทั่งได้มีโอกาสพบปะกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ทำให้ได้ทราบว่าพื้นที่แห่งนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายและเป็นเอกลักษณ์แต่อยู่ห่างไกลและมีฐานะยากจน ต่อมามีโครงการหลวงเข้าไปพัฒนาภาคเหนือด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านบนพื้นที่สูงปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่นเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งได้ผลดีมาก ต่อมาจึงมีหน่วยงานกรมประชาสงเคราะห์และองค์กรไทย-เยอรมัน นำเมล็ดกาแฟไปให้ชาวบ้านชาวอาข่าและลีซูรวมจำนวน 40 หลังคาเรือนทำการปลูกบนดอยช้าง ซึ่งผลผลิตถือว่าดีแต่มีปัญหาเรื่องการตลาดและถูกพ่อค้ากดราคาลง การขนส่งลงมาขายพื้นราบก็ยากลำบาก ขณะนั้นมีเนื้อที่เพาะปลูกเหลือเพียงประมาณ 500 ไร่ ทำให้เขาต้องการพัฒนาพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 500 ไร่ดังกล่าวให้ได้ราคาดี เพราะช่วงนั้นขายให้พ่อค้าได้กิโลกรัมละเพียงประมาณ 10 กว่าบาท แต่เขาสังเกตุเห็นว่าเมื่อพ่อค้านำลงไปขายที่พื้นราบกลับทำราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 50-60 บาท จึงร่วมกับชาวบ้านพัฒนาเพื่อส่งขายตรง โดยคำนวนว่ากาแฟ 1 ไร่เก็บเกี่ยวกาแฟได้ประมาณ 100 กิโลกรัมหรือไร่ละ 5,000-6,000 บาท โดยอาศัยเครือข่ายเพื่อนฝูงและนักธุรกิจในการพัฒนาผลผลิตและศึกษาตลาดควบคู่กับส่งตัวอย่างกาแฟที่ปลูกบนดอยช้างไปยังผู้ทรงภูมิทั้งในและต่างประเทศ
จนกระทั่งผู้รับซื้อต่างๆ ระบุว่ากาแฟบนดอยช้างมีคุณภาพเกรดเอ เขาจึงได้ร่วมกับชาวบ้านขยายพื้นที่ปลูกและศึกษาจากนักวิชาการฝ่ายต่างๆ เพิ่มเติม จนสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึงไร่ละประมาณ 300 กิโลกรัม จากนั้นพัฒนาการตลาดและพัฒนาระบบการผลิตเรื่อยมาด้วยเงินทุนเพียงประมาณ 350,000 บาท กระทั่งปัจจุบันมีสถานที่ปลูกและโรงงานแปรรูปกาแฟดอยช้างบนดอยช้างจนสามารถแปรรูปกาแฟ ภายใต้โลโก้กาแฟดอยช้างที่เป็นรูปศีรษะคนซึ่งคุ้นตานักดื่มกาแฟซึ่หมายถึงรูปของผู้เฒ่าผู้แก่ที่รวมกันมาตั้งแต่ต้นบนดอยช้างนั่นเอง
ปัจจุบันมีไร่กาแฟบนดอยช้างที่ไม่น้อยกว่า 20,000 ไร่ และกลายเป็นกาแฟส่งออกของผลผลิตทั้งหมดกว่า 70% ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยได้ปีละกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท มีโรงผลิตกาแฟและบรรจุหีบห่อรวมทั้งสถาบันกาแฟบนดอยช้าง ฯลฯ โดยเริ่มต้นมาจากหมู่บ้านเพียงเล็กๆ เพียงหมู่บ้านเดียว
ด้านนายปณชัย พิสัยเลิศ หรืออาเดล อดีตผู้ใหญ่บ้านดอยช้างผู้ซึ่งร่วมกันก่อตั้งกาแฟดอยช้างมากับนายวิชา กล่าวว่าการเสียชีวิตของนายวิชาถือว่ากะทันหันจึงสร้างความเศร้าโศกเสียใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างมาก ซึ่งนับจากนี้ไปผู้คนที่ยังคงชื่นชมและเคารพในตัวท่านก็ยังสามารถขึ้นไปติดตามผลงานเกี่ยวกับกาแฟและการพัฒนาอื่นๆ บนดอยช้างของท่านได้เหมือนเดิม สำหรับกิจการเกี่ยวกับกาแฟดอยช้างก็ยังคงเดินหน้าต่อไปเหมือนเดิม