ชูชาติชี้หมายจับฝ่าฝืนพ.ร.ก.ยื่นเพิกถอนจับได้
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา 'ชูชาติ' โพสต์ FB ชี้ หลังศาลแพ่ง ไม่ถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ถูกออกหมายจับ ฝ่าฝืน พ.ร.ก. สามารถยื่นคำร้องขอศาลเพิกถอนหมายจับได้
นายชูชาติ ศรีสังข์ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng อธิบายถึงคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีที่ นายถาวร เสนเนียม ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวกเป็นจำเลยนั้น โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ไม่ได้ขอให้เพิกถอนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามรัฐธรรมนูญ ศาลไม่มีอำนาจเพิกถอนพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติ การเพิกถอน หรือยกเลิกพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติเป็นอำนาจของรัฐสภา คำพิพากษาของศาลแพ่งระบุว่า นอกจากมีผูกพันโจทก์และจำเลยแล้วให้มีผลผูกพันถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ในการปฏิบัติและประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมกับโจทก์ด้วย
โดยศาลแพ่งห้ามให้จำเลยทั้ง 3 คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศรส และ
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. นำประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีผลบังคับต่อโจทก์และประชาชน นับแต่วันที่ลงในประกาศและข้อกำหนด รวมทั้งห้ามมิให้จำเลย กระทำการดังต่อไปนี้ อาทิ ห้ามเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม ไม่ให้ยึดอายัด สินค้า อุปโภคบริโภค ที่ใช้ในการสนับสนุนการชุมนุม ห้าม ตรวจค้น รื้อถอน สิ่งปลูกสร้างของผู้ชุมนุม ตลอดจนไม่ให้ ห้ามผู้ชุมนุมซื้อขายสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้ในการชุมนุม รวมถึงปิดการจราจรเส้นทางคมนาคม อีกทั้งสั่งไม่ให้ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ห้ามสั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคม นอกจากนี้ยังห้ามสั่งผู้ชุมนุมห้ามใช้อาคาร และห้ามมีคำสั่งห้ามบุคคลเข้าและออกพื้นที่การชุมนุม
ทั้งนี้ กล่าวโดยสรุปคือ ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง จำเลยทั้ง 3 ไม่อาจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้เพื่อห้ามมิให้โจทก์และประชาชนทำการชุมนุมกันต่อไป ผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกคนไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.อีกต่อไป ผู้ที่ถูกศาลอาญาออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ก็สามารถไปขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับได้ และต่อจากนี้ไปเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขอให้ศาลออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ไม่ได้อีก