ย้อนชีวิต ร.ต.อ.เฉลิม ผู้ก่อกบฏ สู่บทบู๊ มือปราบ กำนันสุเทพ
ในวัยหนุ่มเขาเป็นผู้ต้องหา "กบฏ" ถูกจองจำขังเดี่ยวไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน นาน 7 วัน 7 คืน
เคยคิดว่าชะตาตนเองอาจถึงที่ตายก่อนวัยอันควร เพราะข้อหาที่เขาได้รับมีบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต
ห้องขังสี่เหลี่ยมที่เขาใช้หลับนอน 7 วัน 7 คืน ก็เป็นห้องเดียวกับที่อดีตนายพล พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ อดีตหัวหน้ากองคณะรัฐประหารโค่นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อปี 2520 แต่ล้มเหลว พล.อ.ฉลาดถูกจับ และถูกตัดสินยิงเป้า เป็นกบฏคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตจนถึงบัดนี้
ในวัยกลางคนเขาต้องหนีหัวซุกหัวซุน ลี้ภัยไปไกลถึงแถบสแกนดิเนเวียดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน
แต่กราฟชีวิตดิ่งวูบราวกับอาทิตย์อัสดงเพราะพิษรัฐประหาร
ต่างจากตอนนี้ เขาไม่ได้ถูกตามล่าเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่อยู่ในสถานะ "ผู้รุกไล่" มากกว่าเป็นผู้ "ถูกไล่ล่า"
เพราะ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กำลังรุกไล่-กดดัน ศัตรูการเมืองของพรรคเพื่อไทย ซุ้มการเมืองที่เขาสังกัด
คน คนนั้นคือ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย ที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ตามหมายจับที่อนุมัติโดยศาลอาญาในข้อหา "กบฏ"
ครั้น "กบฏสุเทพ" มิได้มีชะตากรรม ต้องประหวั่นพรั่นพรึงนึกถึงความตายเหมือน "กบฏเฉลิม" เพราะ "สุเทพ" ยังได้รับการโอบอุ้มจากมวลมหาประชาชนอย่างเนืองแน่น ยังขึ้นไฮด์ปาร์กบนเวที กปปส.ทุกวัน ทุกคืน
ผู้ต้องหากบฏเมื่อ 33 ปีก่อน ส่งสัญญาณถึงผู้ตกเป็นกบฏวันนี้ว่า "จากนี้ต่อไปเวทีไหนคนน้อย ผมจะตะปบทันที ผมทำในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ นายสุเทพเคลื่อนไหวในข้อหากบฏ ไม่มีใครกลัวใคร แต่ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นที่ตั้ง ต่อไปอะไรที่จับกุมได้ต้องดำเนินคดี"
และยังประกาศกร้าวว่าจะขอ พื้นที่คืนจากกลุ่ม กปปส. 5 แห่งภายในสัปดาห์เดียว คือ ทำเนียบรัฐบาล-แจ้งวัฒนะ-ราชดำเนิน-กระทรวงมหาดไทย-กระทรวงพลังงาน
เป็น ปฏิบัติการบนภาระ-หัวโขน ผอ.ศรส. "ร.ต.อ.เฉลิม" ต้องทำ ทำตามหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงาน ในฐานะนักการเมืองผู้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี แม้เขาจะเข้าใจหัวอกของผู้ถูกเป็นจำเลย "กบฏ" ก็ตาม
ย้อน กลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน จุดหักเหของ "ร.ต.อ.เฉลิม" นายตำรวจหนุ่มฝีมือดีผู้เป็นสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม มีอำนาจสืบสวนสอบสวนได้ทั่วราชอาณาจักร ต้องผันตัวจากข้าราชการตำรวจมาเป็นผู้ต้องหากบฏก็เพราะพิษการเมือง
เมื่อ วันหนึ่งมีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ "ร.ต.อ.เฉลิม" นำทัพไปปราบบ่อนของผู้มีอิทธิพลรายหนึ่ง แม้เขาคัดค้านว่าผู้มีอิทธิพลรายนั้นมีอำนาจมาก เงินมาก ถึงขั้นมีแบงก์ 500 โยนใส่ตาย 5 ชาติก็ไม่หมด
แต่ "ร.ต.อ.เฉลิม" ต้องจำนนต่อคำสั่งของผู้เป็น "นาย"
หลัง ทลายบ่อนพนันราบคาบ วันรุ่งขึ้นเขาถูก "พล.อ.เล็ก แนวมาลี" รมว.มหาดไทย ขณะนั้นเรียกเข้าพบ พร้อมตั้งข้อหาว่ารับแผนมาเพื่อต้องการล้มเศรษฐกิจไทย เขาถูกด่านับชั่วโมงจนรู้สึกโกรธแค้นเพราะเป็นข้อหาที่ตัวเองรับไม่ได้
นับ จากวันนั้น "ร.ต.อ.เฉลิม" มักพูดเสมอว่า ที่เขาได้เป็น รมว.มหาดไทย ในยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เพราะเขาภาวนาว่าถ้ามีวาสนาเขาจะมายืนตรงจุดเดียวกับที่ "พล.อ.เล็ก" ด่าเขาในอดีต
เหตุการณ์ วันนั้นทำให้เขาถูกสั่งย้ายด่วนภายใน 24 ชั่วโมง ไปเป็นหัวหน้าแผนก 8 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 8 อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช อยู่ที่นั่นนาน 1 ปี 3 เดือน 2 วัน
กระทั่งเขาถูกเรียกกลับมาอยู่ใน ตำแหน่งเดิม แต่ก็อยู่ได้เพียง 3 วันมีการเตะสกัดให้เขาไปอยู่แผนก 5 กอง 7 เป็นสารวัตรปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ เขาอยู่ที่นั่น 6 เดือนก็ถูกเรียกกลับมาเป็นสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปรามอีกครั้ง
เพราะพิษการเมืองทำให้เขาระเหเร่ร่อน แต่ด้วยความที่มีพวกเป็นทหารเพราะเคยจบนายสิบทหารบกมาก่อนทำให้เขามีคอนเน็กชั่นฝั่งสีเขียวหลายคน และเขาก็ถูกชวนให้ร่วมก่อการยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ร่วมกับกลุ่มทหารยังเติร์ก จปร.7
ครั้นโชคไม่เข้าข้าง แม้เขาปฏิบัติภารกิจลุล่วง นำตำรวจกองปราบฯสามร้อยยอดบุกยึดกรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และช่อง 3 แต่ฝ่ายเขากลับพ่ายแพ้ เพราะ พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรี ไหวตัวทัน หนีไปตั้งหลักที่ จ.นครราชสีมาทำให้เขาต้องเข้าคุก ถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏ เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเรียกในภายหลังว่า "กบฏเมษาฮาวาย"
ต่อมารัฐบาล พล.อ.เปรมได้ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เขาจึงพ้นมลทิน แต่ชีวิตเขาไม่ได้หวนคืนราชการตำรวจอีกเลยนับจากวันนั้น ทั้งที่ถูกทาบทามให้กลับไปรับราชการอีกครั้ง
แม้วันนี้ "ร.ต.อ.เฉลิม" ไม่ได้เป็น "กบฏ" แต่ต้องทำหน้าที่จับ "กบฏ"
"กบฏ" ที่เคยร่วมชายคาเมื่อครั้งอาศัยซุ้มการเมืองชื่อพรรคประชาธิปัตย์ สร้างชื่อ ครองเก้าอี้ ส.ส.เป็นครั้งแรกในชีวิต
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ