กปน.ถกกรมชลฯแก้ปัญหานำเค็มรุกล้ำเจ้าพระยา
การประปานครหลวง ร่วมกับ กรมชลประทาน จัดหาน้ำเติมลุ่มเจ้าพระยา ที่ประสบปัญหาน้ำน้อยและปัญหาน้ำเค็ม
นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง หรือ กปน. ร่วมกับ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมแก้ไขปัญหาน้ำลุ่มเจ้าพระยา ประสบปัญหาน้ำน้อย และเกิดปัญหาน้ำเค็ม โดย นายธนศักดิ์ เปิดเผยว่า ปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปามากจากเดิมลิ่มความเค็มจะขึ้นถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำดิบฝั่งตะวันออกของ กปน.ไม่กี่วัน และเกิดช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. แต่ในปีนี้ปัญหาน้ำเค็มมาเร็วกว่าปกติตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ จึงต้องบริหารจัดการกระบวนการผลิตน้ำประปาใหม่และรอจนกว่าลิ่มความเค็มจะลดต่ำลง จึงจะทำการสูบน้ำดิบตามปกติ รวมถึงการยกระดับน้ำในคลองประปาให้สูงขึ้น พร้อมระบุว่า ในการหารือครั้งนี้มีแนวทางเพิ่มน้ำในลุ่มเจ้าพระยา โดยนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งปีนี้มีปริมาณมากและเพียงพอผ่านคลองพระยาบรรลือ ส่วนอีกทางผ่านคลองท่าสารวังปลา-คลองจรเข้สามพัน เข้าลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ขณะที่เฟซบุ๊ก ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานวันนี้ (20 ก.พ. 57) ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา วัดได้ตามจุดต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
1.บริเวณกรมชลประทาน สามเสน วัดได้ 5.48 กรัม/ลิตร (ระยะทางจากปากอ่าวไทย ถึงสถานีวัดของกรมชลประทาน สามเสน ประมาณ 60 กิโลเมตร)
2.บริเวณท่าน้ำนนทบุรี วัดได้ 4.43 กรัม/ลิตร (ระยะทางจากปากอ่าวไทย ถึงสถานีวัดท่าน้ำนนทบุรี ประมาณ 67 กิโลเมตร)
3.บริเวณโรงสูบน้ำดิบของการประปานครหลวง หรือ โรงสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี วัดได้ 0.23 กรัม/ลิตร (ระยะทางจากปากอ่าวไทย ถึงสถานีวัดโรงสูบน้ำสำแล ประมาณ 96 กิโลเมตร)
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่กรมชลประทาน และการประปานครหลวง ได้ร่วมกันหาแนวทางในการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง และส่วนหนึ่งจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนลงมาเจือจางน้ำเค็ม ทำให้ค่าความเค็มที่โรงสูบน้ำสำแล ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ และสามารถนำไปผลิตน้ำประปา เพื่อหล่อเลี้ยงคนกรุงเทพมหานคร กว่า 10 ล้านคน ได้อย่างไม่มีปัญหาอีกครั้งหนึ่ง
หมายเหตุ - ค่าความเค็มสำหรับการผลิตน้ำประปา จะต้องไม่เกินค่ามาตรฐานที่ 0.25 กรัม/ลิตร