ไทยพรีเมียร์ลีกสะพัดหมื่นล้าน เสื้อกีฬาโตพรวด

ไทยพรีเมียร์ลีกสะพัดหมื่นล้าน เสื้อกีฬาโตพรวด

ไทยพรีเมียร์ลีกสะพัดหมื่นล้าน เสื้อกีฬาโตพรวด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอล : "ไทยพรีเมียร์ลีก" บูมสร้างเม็ดเงินหนุนเวียนกว่า 1 หมื่นล้านต่อฤดูกาลแข่งขัน ดันยอดขายเสื้อกีฬาโตกระฉูด อุตฯสิ่งทอส้มหล่นรับจ้างผลิตปีละไม่น้อยกว่า 2 แสนตัว "สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด" เพิ่มเป้าขายเสื้อทั้งปีกว่า 4 แสนตัว ปั๊มรายได้กว่า 200 ล้าน

นายองอาจ ก่อสินค้า ประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด กล่าวว่า กระแสความนิยมในการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี สามารถสร้างเม็ดเงินหนุนเวียนในธุรกิจต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อฤดูกาลแข่งขัน กระจายเข้าสู่ธุรกิจทุกภาคส่วนของแต่ละจังหวัดที่ทำการแข่งขัน ตั้งแต่ธุรกิจค้าขายรายย่อยรอบสนาม, ธุรกิจโอท็อป, ธุรกิจโรงแรมที่พัก, ธุรกิจขนส่งมวลชน และธุรกิจท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากกลุ่มแฟนคลับของแต่ละสโมสรที่ต้องออกไป เยือนทีมต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจเสื้อผ้ากีฬา

นายประสพ จิรวัฒน์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไนซ์ แอพพาเรล กรุ๊ป ผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มอันดับ 1 ของไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ความต้องการเสื้อกีฬาในประเทศเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยทางบริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากสโมสรฟุตบอลในประเทศ 4 แห่ง คือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เชียงราย ยูไนเต็ด, แบงค็อก ยูไนเต็ด และทีมอาร์มี ยูไนเต็ด จำนวน 200,000 ตัว มูลค่าประมาณ 80-100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1% ของการผลิตทั้งหมดของกลุ่มไนซ์

"แม้ว่าสัดส่วนยังไม่มาก แต่ถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เพราะเดิมทีมสโมสรในประเทศจะผลิตกับรายย่อย แต่เพิ่งจะนิยมมาสั่งซื้อจากกลุ่มโรงงานรับผลิตขนาดใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา เพราะสโมสรคำนึงถึงคุณภาพการผลิต เนื้อผ้า การวางแพตเทิร์นเป็นเกรดเดียวกับรูปแบบสากล หรือแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาชั้นนำของต่างประเทศ อาทิ ไนกี้ อาดิดาส ซึ่งสามารถจำหน่ายราคาระดับเดียวกับต่างประเทศ"

นายวัลลภ วิตนากร ประธานบริหารไฮเทคกรุ๊ป ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กระแสการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เพราะกลุ่มสโมสรฟุตบอลในประเทศได้หันมาว่าจ้างผลิต (OEM) ชุดกีฬาไทย เพราะเชื่อมั่นคุณภาพการตัดเย็บ และคุณภาพวัตถุดิบผ้าตามแบบสากล โดยมียอดการสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัว/ปี

โดยปี 2556 กลุ่มไฮเทคกรุ๊ปรับผลิตทีมสโมสรอินทรีเพื่อนตำรวจ ประมาณ 20,000-30,000 ตัว และผลิตให้กับสโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี 40,000 ตัว แต่ในปีนี้กลุ่มบางกอกกล๊าสเปลี่ยนผู้สนับสนุนจึงย้ายการผลิตเสื้อไปที่โรง งานจีนแทน

นายวัลลภกล่าวอีกว่า รายได้จากการส่งออกกลุ่มชุดกีฬา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของยอดส่งออกเครื่องนุ่งห่มในภาพรวม ส่วนรายได้จากการผลิตเสื้อผ้าสำหรับไทยพรีเมียร์ลีกรวม 900-1,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1% ของกลุ่มสินค้าชุดกีฬา

ด้านนางสาวคนึงหา แซ่ตั่น ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด เปิดเผยว่า กระแสบูมของไทยพรีเมียร์ลีกในปัจจุบันส่งผลให้ตลาดกีฬาในเมืองไทยเติบโตขึ้น มาก โดยซูเปอร์สปอร์ตจะเน้นตอกย้ำการสร้างแบรนด์สำหรับการเป็นผู้นำตลาดร้านค้า ปลีกสินค้าและอุปกรณ์กีฬา ซึ่งลูกค้าหรือแฟนคลับของไทยพรีเมียร์ลีกสามารถเลือกซื้อเสื้อทีมและสินค้า ของทีมสโมสรที่ตัวเองชื่นชอบได้

ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนทำการตลาดอย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแล้ว รวมทั้งมีการคุยกับทีมไทยพรีเมียร์ลีกอย่างต่อเนื่องเพื่อทำกิจกรรมและส่ง เสริมการขายร่วมกัน เพราะกระแสของไทยพรีเมียร์ลีกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างยอดขายในร้านเติบโตกว่า 100% โดยสัดส่วนดังกล่าวมาจากยอดขายเสื้อทีมถึง 60%

นอกจากนั้น ซูเปอร์สปอร์ตได้วางแผนการตลาดเชิงรุกสำหรับสินค้าไทยพรีเมียร์ลีก ด้วยการจัดโซนการวางสินค้าไทยพรีเมียร์ลีกไว้ในโซน "Soccer Zone" นำร่องกระจายใน 46 สาขาทั่วประเทศในปีนี้ จากปัจจุบันมีกว่า 80 สาขา

นอกจากกลุ่มแฟนบอลชาวไทยจะนิยมซื้อสินค้าไทยพรีเมียร์ลีกแล้ว ยังมีชาวต่างชาติซื้อสินค้าของทีมที่ตนเองเชียร์ไปเป็นของที่ระลึกด้วย กระแสของฟุตบอลไทยค่อนข้างแรงดังไกลไปถึงต่างประเทศแล้ว

ภาพจาก FB BURIRAM UINTED

ขณะที่นาย เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากสร้างทีมฟุตบอลมานานกว่า 4 ปี ปัจจุบันสโมสรมีรายได้จากการขายสินค้าที่ระลึกให้กับแฟนคลับ และผู้ที่เข้ามาซื้อที่ร้านจำหน่ายบริเวณด้านหน้าในสนามไอ-โมบายสเตเดียม ไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาทต่อวัน โดยเฉพาะเสื้อทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีราคาขายเริ่มต้นตัวละ 590 บาท ในปี 2557 ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 4 แสนตัว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 236 ล้านบาท

ปัจจุบันสามารถจำหน่ายเสื้อได้ แล้วกว่า 1.2 แสนตัว ซึ่งเท่ากับยอดขายของปี 2556 ทั้งปี โดยไม่รวมสินค้าประเภทอื่น ๆ ที่วางจำหน่าย เช่น กางเกง หมวก นาฬิกา เข็มกลัด ผ้าพันคอ สายรัดข้อมือ พวงกุญแจ กระเป๋าเป้ และลูกฟุตบอล เป็นต้น

"มูลค่าธุรกิจกีฬา ถ้าเป็นสปอร์ตอย่างเดียวอาจจะไม่ใหญ่ แต่พอเป็นสปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เมื่อนำมารวมกับมอเตอร์สปอร์ตจะมีมูลค่ามหาศาลมาก แต่ละปีสามารถสร้างรายได้และทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมูลค่าหลายพันล้านบาท ยกตัวอย่างทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท" นายเนวินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บรรยากาศการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของทีมสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด บริเวณด้านหน้าสนามไอ-โมบายสเตเดียมมีความคึกคักมาก ส่วนใหญ่จะซื้อเสื้อติดมือกลับไปหลายตัว เพราะกระแสความนิยมในแบรนด์บุรีรัมย์ ยูไนเต็ดสูงมาก ปัจจุบันได้กลายเป็นของฝากของเมืองบุรีรัมย์ไปแล้ว และหากเป็นวันที่มีการแข่งขันฟุตบอล จะมีประชาชนเดินทางไปเลือกซื้อสินค้าที่ระลึกก่อนถึงช่วงเวลาแข่งขันเป็น จำนวนมาก สินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุด ได้แก่ เสื้อฟุตบอล ที่มีให้เลือกหลากหลายทุกขนาดและทุกวัย

นายองอาจ ก่อสินค้า ประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด กล่าวว่า กระแสความนิยมในการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อฤดูกาลแข่งขัน กระจายเข้าสู่ธุรกิจทุกภาคส่วนของแต่ละจังหวัดที่ทำการแข่งขัน ตั้งแต่ธุรกิจค้าขายรายย่อยรอบสนาม, ธุรกิจโอท็อป, ธุรกิจโรงแรมที่พัก, ธุรกิจขนส่งมวลชน และธุรกิจท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากกลุ่มแฟนคลับของแต่ละสโมสรที่ต้องออกไป เยือนทีมต่าง ๆ จะมีการจองแพ็กเกจท่องเที่ยวล่วงหน้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook