ดับฝันรัฐบาลปู เงินกู้ 2 ล้านล้าน ลอยหาย!!
ศาลรัฐธรรมนูญดับฝันรัฐบาล "ปู" นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทันที หลังองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคดี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีผลให้ร่างนี้ตกไป
พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท (ตัวเลขจริงคือ 2.2 ล้านล้านบาท) ถือเป็นไม้เด็ดก้อนใหญ่ที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือ เพราะเป็นการกู้เงินเพื่อการลงทุน "ลอตใหญ่สุด" เท่าที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเคยมี และเป็นการรวบระบบงบประมาณของประเทศเอาไว้ในพ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน โดยรัฐบาลจะใช้เงินกู้ก้อนมหาศาล ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับระยะเวลา 7 ปี (ปี 2556-2563) ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นใจจองรัฐบาลนี้ว่าจะอยู่ต่อยาว อีก 2 สมัยซ้อน ครอบคลุมการใช้เงินก้อนนี้จนหมด และไม่สะดุด
หากกางแผนดูว่ารัฐบาลปู จะนำเงินกู้ 2ล้านล้าน ไปลงทุนด้านไหนบ้าง พบว่าส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกระทรวงคมนาคมทั้งสิ้น โดยกระทรวงการคลังได้ร่วมกับสำนักงบประมาณ ในการจัดทำรายละเอียดแผนการลงทุนครอบคลุม 5 ด้าน ประกอบไปด้วย
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งด้วยระบบราง 1,185,692 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง, โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ 14 สาย และ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งในเมืองรวม 13 โครงการ
2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางบก 429,794 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างสะพานและอุโมงค์ข้ามทางรถไฟ 25 จุด, โครงการสะพานข้ามทางรถไฟ 83 แห่ง, โครงการพัฒนาสถานีขนส่งและเปลี่ยนถ่ายสินค้า 16 แห่ง และ โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง
3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางน้ำ 126,435 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างท่าเรือ 5 แห่ง
4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางอากาศ 66,989 ล้านบาท
5.โครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ 392,786 ล้านบาท
โดยแหล่งเงินที่จะใช้ในการกู้ ประกอบด้วยกู้เงินภายในประเทศ ประมาณ 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 91%, เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 57,128 ล้านบาท คิดเป็น 3% และการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ประมาณ 144,569 ล้านบาท คิดเป็น 7%
อย่างไรก็ตามโครงการต่างๆ ที่ใช้เงินจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นอกจากถูกมองว่าล็อคสเปกโครงการไว้แล้ว ยังถูกมองว่าการจัดทำโครงการเป็นไปอย่างเร่งด่วน บางโครงการมีรายละเอียดเพียงไม่กี่แผ่น แต่กลับจะใช้เงินของคนทั้งประเทศในระดับหมื่นล้านบาท
ที่สำคัญการใช้เงินจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท คล้ายกับการใช้อำนาจพิเศษทางกลไกรัฐสภา เปลี่ยนรูปแบบในการจัดทำงบประมาณ แทนที่จะออก "พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี" ตามปกติ ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียด ต่างจากการใช้เงินกู้แบบพิเศษ ซึ่งมีช่องในการนำเงินไปดำเนินโครงการได้สะดวกกว่า
ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมาในวันนี้ จึงนับว่าเป็นอีก "โจทย์" ที่รัฐบาลต้องแก้เกม ซึ่งดูเหมือนขณะนี้รัฐบาลมี "โจทย์" ให้แก้รอบตัวอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะมีโจทย์ใดโจทย์หนึ่ง ที่จะทำให้รัฐบาล "ปู" หลุดอำนาจก็ได้