ไร้ญาติขอยื่นประกันหนุ่ม19ฆ่ายกครัว
ผกก.ประตูน้ำจุฬาฯ เผย ยังไม่มีญาติมาติดต่อขอประกันตัว หนุ่ม 19 ฆ่ายกครัว ส่งตัวเรือนจำ อ.ธัญบุรี ต่อแล้ว
พ.ต.อ.ตระกูล เกียวประเสริฐ ผกก.สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า กรณีหนุ่มวัย 19 ปี ก่อเหตุมาตุฆาต ปิตุฆาต และน้องชายตัวเอง ซึ่งเป็นครอบครัวตัวเอง รวม 3 ศพ ที่ จ.ปทุมธานี นั้น ล่าสุดยังไม่มีรายงานว่ามีญาติคนใดติดต่อศาลขอยื่นประกันตัวแต่อย่างใด โดยศาลได้ตั้งวงเงินประกันตัวไว้ที่ 500,000 บาท และขณะนี้ได้ส่งตัวไปคุมขังต่อที่ เรือนจำอำเภอธัญบุรี
นอกจากนี้ สำนวนคดีดังกล่าวเหลือรอผลสรุปทางนิติวิทยาศาสตร์ และพิสูจน์หลักฐาน ส่งเอกสารมาประกอบสำนวนเท่านั้น ซึ่งโดยปกติจะส่งมาให้ภายใน 1 เดือน เพื่อที่ตำรวจจะสรุปสำนวนส่งต่อศาลต่อไป
ด้าน นายเรืองศักดิ์ สุวารี ผอ.ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง กล่าวถึงการควบคุมตัวผู้ต้องหาคดีฆ่ายกครัว 3 ศพ ว่าถูกส่งเข้ามาควบคุมที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลของทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง เบื้องต้นหลังถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในแดนแรกรับ เจ้าหน้าที่ได้จัดให้อยู่ห้องควบคุมเล็กซึ่งแยกออกมาจากห้องควบคุมใหญ่ โดยมีเพื่อนผู้ต้องขังประมาณ 10 ราย เป็นเพื่อนร่วมเรือนนอน โดยพบว่า ผู้ต้องหามีอาการเครียดจัด จึงได้สั่งการให้ผู้คุมดูแลอย่างใกล้ชิด ป้องกันไม่ให้ถูกผู้ต้องขังด้วยกันทำร้าย รวมทั้งป้องกันไม่ให้ทำร้ายตัวเอง จากนั้นได้ให้นักสังคมสงเคราะห์ของเรือนจำเข้าไปพูดคุยเพื่อให้ได้ระบายความรู้สึกออกมา เพื่อลดอาการเครียดและปรับสภาพจิตใจให้ใช้ชีวิตในเรือนจำได้
ขณะที่ น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึง คดีวัยรุ่น 19 ปี ก่อเหตุยิงพ่อ-แม่ และน้องชาย เสียชีวิตในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และโยนความผิดให้น้องชายว่าเป็นผู้สังหาร จากการวิเคราะห์เบื้องต้น เชื่อว่า ผู้ก่อเหตุไม่ได้มีภาวะทางจิตหรือป่วยทางใจ แต่คาดว่าน่าจะมาจากการดื่มสุราประกอบกับอารมณ์ที่รุนแรง ทำให้ก่อเหตุโดยขาดความยั้งคิดและมีเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจในครอบครัวจากการที่ผู้ต้องหาระบุ ผู้ปกครองติดกล้องวงจรปิดที่คอนโด เพื่อดูพฤติกรรมตนเอง ทั้งนี้ควรนำตัวผู้ต้องหาตรวจสอบสารเสพติด และวิเคราะห์บุคลิกภาพ เพราะเข้าข่ายบุคลิกภาพแปรปรวน มีพฤติกรรมที่เรียกว่า อันธพาล เลือดร้อน แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ส่วนหนึ่งต้องดูพื้นฐานการเลี้ยงดูปลูกฝังของครอบครัวด้วย
ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาให้การว่า ให้พ่อ แม่ และน้องกินยานอนหลับนั้น เภสัชกร ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กล่าวว่า ปัจจุบันยานอนหลับที่มีการใช้มีอยู่ 2 ลักษณะคือ 1.ยานอนหลับเฉพาะที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ในสถานพยาบาลและร้านขายยาต้องมีใบสั่งเท่านั้น เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วและแรง จัดเป็นวัตถุเสพติดประเภทที่ 2 2.ยานอนหลับที่ผสมในตัวยาอื่นทั่วไป เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้หวัด แก้ปวดหัว ก็มีการผสมยานอนหลับ แต่ออกฤทธิ์ช้า 1 ช.ม.ขึ้นไป และขึ้นอยู่กับปริมาณการรับประทานยา การสั่งซื้อ ก็ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่กรณีดังกล่าวไม่สามารถระบุได้ชัดเจนต้องรอละเอียดจากตำรวจก่อน