ใคร? ต้องรับผิดชอบ หากเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ

ใคร? ต้องรับผิดชอบ หากเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ

ใคร? ต้องรับผิดชอบ หากเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คงต้องลุ้นระทึกกันอีกวัน สำหรับพรรคเพื่อไทย ในวันศุกร์ที่ 21 มี.ค. 57 ว่าผลของการตัดสินหรือวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร การเลือกตั้ง 2 ก.พ. จะเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งวัน สองวันนี้ มีความเห็นของนักกฎหมาย ทั้งนักวิชาการอิสระ นักกฎหมายของพรรคการเมือง หรือแม้แต่แวดวงบรรดาคอการเมือง โดยกระแสที่ออกมาค่อนข้างออกไปทาง เลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ เสียส่วนใหญ่ แต่ผลจะเป็นอย่างไรพรุ่งนี้คงชัดเจน คงต้องรอให้ ตุลาการท่านแถลงอย่างเป็นทางการ

สำหรับประเด็นที่จะเป็นปัญหาตามมา หาก มีการวินิจฉัยให้เลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะก็คือ ใครจะต้องรับผิดชอบ อย่างไร

ซึ่งในเรื่องนี้ นายคณิน บุญสุวรรณ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค ได้ออกมาแถลง เชิงตั้งคำถามใน 6ประเด็นว่า

1.ใครจะรับผิดชอบเงินงบประมาณในการเลือกตั้งกว่า 3,000 ล้านบาทที่ใช้ไปแล้ว
2.ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง 53 พรรค และประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 20 ล้านคนนั้น เขาทำอะไรผิดหากถูกศาลลงโทษด้วยการล้มเลือกตั้ง
3.ใครจะเป็นผู้นำร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ
4.คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ต้องถูกดำเนินคดีและชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ และการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สำเร็จนั้นจะยังให้กกต.ชุดนี้จัดการเลือกตั้งอีกหรือไม่
5.กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ต้องรับผิดชอบที่บอยคอตและขัดขวางการเลือกตั้งจนสามารถล้มการเลือกตั้งครั้งนี้ได้สำเร็จ โดยควรจะถูกดำเนินคดีหรือสมควรได้รับรางวัล และ
6.คนระดับอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งมีสิทธิอะไรมากมายถึงขนาดสามารถร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยล้มการเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นส่วนรวมของประชาชนทั้งชาติและเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้ มีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และถ้ามี ผู้ที่อยู่เบื้องหลังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนไทยทั้งชาติหรือไม่

ก็นับเป็นความแหลมคมของ พรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ที่ออกมาตั้งคำถามในลักษณะชี้นำ และสร้างกระแสกดดันต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับปฏิเสธความรับผิดชอบของ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลโยนความผิดทั้งมวลให้กับองค์กรอื่นไปจนหมดสิ้น สร้างภาพพรรคผู้ยึดมั่นในการสร้างประชาธิปไตยไปพร้อมๆกัน

ทั้งๆที่ข้อเท็จจริง มีการทักท้วงจากหลายฝ่ายนักนักวิชาการ องค์กรธุรกิจ และที่สำคัญคือ คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.เองว่า ขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.ออกไปก่อน เพื่อหาทางเจรจากับคู่ขัดแย้งเพื่อหาทางออก ร่วมกันเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปได้ด้วยดี

แต่บรรดานักกฎหมายและคนของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่างยืนยันว่าไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ต้องเดินหน้าเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ให้ได้ แม้กระทั้งมีการสอบถามมายังศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายยืนยันว่า สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้โดยให้นายกรัฐมนตรี กับ ประธาน กกต.ไปหารือกัน แต่ รัฐบาลปฏิเสธและเดินหน้าสู่การเลือกตั้งจนกระทั้งเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ในปัจจุบัน
การที่พรรคเพื่อไทยออกมาปฎิเสธความรับผิดชอบทั้งมวล และโยนความรับผิดชอบให้กับองค์กรอื่น จึงไม่ชอบธรรมเมื่อดูที่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้น พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลควรต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ อย่างไร การออกมาปฎิเสธความรับผิดชอบ และปฏิเสธอำนาจตุลาการไม่ยอมรับอำนาจศาล (ตั้งโต๊ะแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลแต่ก็ส่งคนมาชี้แจงตามกระบวนการไตร่สวน) เป็นกลยุทธทางการเมือง ที่รั้งแต่จะสร้างความตรึงเครียดและทำลายบรรทัดฐานของสังคมการเมืองไทย ลงไปอีกหรือไม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook