อาจารย์นิติราษฎร์ ฟันธง! เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ยังไม่โมฆะ
นายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และสมาชิกคณะนิติราษฎร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระ สุธีวรางกูร ระบุว่า การเข้าใจในวงกว้างว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะ จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ณ ขณะนี้ ถือเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนในทางกฎหมาย โดยมีรายละเอียดดังนี้
การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ฯ เป็นโมฆะ ?
ตามระบบกฎหมายไทย ในคดีเกี่ยวกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ "กฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว" โดยเฉพาะ คดีตามมาตรา ๒๑๑ มาตรา ๒๑๒ มาตรา ๒๕๗ หรือกระทั่งมาตรา ๒๔๕ (๑) ซึ่งเป็นประเด็นอยู่ตอนนี้
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญกำหนดผลทางกฎหมายเอาไว้เพียงสถานเดียวเท่านั้น คือ ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น เป็นอัน "ใช้บังคับไม่ได้" ตามมาตรา ๖
ฉะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจกำหนดผลทางกฎหมายในคำวินิจฉัย ให้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ฯ เป็น "โมฆะ" ได้ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจไป "เพิกถอน" พระราชกฤษฎีกาฯดังกล่าว เพราะย่อมเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ ที่ได้กำหนดผลทางกฎหมายเอาไว้แล้ว
ด้วยเหตุนี้ แม้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ฯ จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลให้เป็นอัน "ใช้บังคับไม่ได้" ตามมาตรา ๖
เมื่อระบบกฎหมายไทยและแนวทางปฏิบัติในคดีที่เกี่ยวกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ "กฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว" กำหนดให้ผลทางกฎหมายในกรณีนี้ มีผลเดินไปข้างหน้านับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย โดยไม่มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของการต่างๆที่เกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านั้น
โดยนัยนี้ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของผู้สิทธิเลือกตั้งก็ดี หรือ คะแนนเสียงเลือกตั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับก็ดี ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย จึงยังมีผลสมบูรณ์ในทางกฎหมาย ไม่เสียเปล่าไปหรือเป็นโมฆะ
ใครที่คิดว่าการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ฯ เป็นโมฆะ จึงเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนในทางกฎหมาย