สปป. แถลงการณ์ ค้านคำตัดสินศาลรธน.คว่ำเลือกตั้ง

สปป. แถลงการณ์ ค้านคำตัดสินศาลรธน.คว่ำเลือกตั้ง

สปป. แถลงการณ์ ค้านคำตัดสินศาลรธน.คว่ำเลือกตั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(23 มี.ค.) สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงการณ์คัดค้านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่วินิจฉัยโดยมุ่งหมายให้การเลือกตั้งทั่วไป ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนี้

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๒๔๕ (๑) ว่า การจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และได้มีมติปรากฏตามคำแถลงของหัวหน้าโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไปแล้ว ปรากฏว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งใน ๒๘ เขตเลือกตั้ง ซึ่งไม่เคยมีการรับสมัครเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่มีการเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การจะดำเนินการเลือกตั้งใน ๒๘ เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นกัน เป็นผลให้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ เฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๐๘ วรรคสอง นั้น สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ดังนี้

๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๔๕ (๑) กำหนดกฎเกณฑ์ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เมื่อเห็นว่า "บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" ดังนั้นวัตถุแห่งคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีดุลพินิจที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้นั้นย่อมจะต้องเป็น"บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" แต่สำหรับกรณีที่เป็นปัญหานี้เห็นได้ชัดว่าวัตถุแห่งคดี คือ "การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป" เมื่อวัตถุแห่งคดีไม่ใช่ "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" เสียแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินย่อมไม่อาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิเสธไม่รับคำร้องไว้พิจารณา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๔๕ (๑) และเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยตนเองเปลี่ยนแปลงวัตถุแห่งคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๕ (๑) ทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญกระทำการเช่นที่ว่ามานี้ได้

๒.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๘ วรรคสอง บัญญัติว่า "การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรและวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร" ข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรแล้วในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.๒๕๕๖ คือวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ การกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว

แต่ในคดีนี้ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญกลับนำเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังและไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปมาเป็นฐานในการพิจารณากล่าวคือ นำเอากรณีที่ไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้ในเขตเลือกตั้ง ๒๘ เขตเลือกตั้ง มาอ้างว่าถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปในเขตเลือกตั้ง ๒๘ เขตเลือกตั้งในภายหลัง ก็จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ทั้งๆที่ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติบังคับว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เพราะย่อมเป็นไปได้เสมอที่อาจเกิดเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยขึ้นในบางหน่วยเลือกตั้งอันอาจทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งในวันเดียวกันได้รัฐธรรมนูญเพียงแต่บัญญัติให้วันเลือกตั้งต้อง "กำหนด" เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งก็ได้มีการกำหนดไว้โดยชอบแล้ว

๓. นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าการเลือกตั้งในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเอากรณีที่ไม่อาจรับสมัครเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งบางเขตเลือกตั้งได้ เพราะมีผู้ขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งมากล่าวอ้างให้มีผลว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯ เฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหมายจะทำลายการเลือกตั้งในวันดังกล่าวลง นอกจากจะไม่มีเหตุผลในทางกฎหมายรองรับแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาการตีความคำวินิจฉัยต่อไปอีกด้วยว่าคะแนนเสียงของประชาชนที่ไปออกเสียงเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นั้น ถูกทำลายลงแล้วหรือไม่ โดยอำนาจของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือบทกฎหมายมาตราใด

๔. หากพิเคราะห์ในแง่ของการต่อสู้กันทางการเมืองแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าอุปสรรคของการเลือกตั้งในครั้งนี้มาจากการร่วมมือกันของกปปส.และบุคคลที่สนับสนุน กปปส.ทั้งในและนอกรัฐสภา ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยในอันที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้แสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ในการทำงานตามกรอบอำนาจหน้าที่เพื่อที่จะจัดการการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงไปได้ฉะนั้น การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงส่งผลหนุนเสริมปฏิบัติการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งให้บรรลุผลในทางปฏิบัติเป็นการวินิจฉัยที่มองข้ามละเลยสิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจและได้มาแสดงออกซึ่งอำนาจของตนตามกฎเกณฑ์กติกาที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่

๕.การร่วมมือกันขัดขวางระบอบประชาธิปไตยนี้จะดำเนินต่อไป เพื่อสร้างสุญญากาศทางการเมือง เปิดทางให้กับนายกฯและรัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญเข้าสู่อำนาจ เพื่อทำหน้าที่ผลักดันแก้ไขตัดต่อดัดแปลงรัฐธรรมนูญในทิศทางที่บั่นทอนประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งให้อ่อนแอลงสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยจึงขอประณามความพยายามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นอีกในเร็ววันนี้

๖.เห็นได้ชัดว่านับตั้งแต่การรัฐประหารปี ๒๕๔๙ จนถึงวันนี้ บรรดาองค์กรอิสระและอำนาจตุลาการได้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มพลังเสียงข้างน้อยในปฏิบัติการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยเพียงเพื่อต้องการทำลายกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้ได้อย่างรวดเร็ว การปล่อยให้องค์กรอิสระและอำนาจตุลาการถูกบิดเบือนฉวยใช้ไปทำลายประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รังแต่จะทำให้ประเทศชาติจมปลักอยู่ในวังวนอับตันของความขัดแย้งรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องร่วมกันรณรงค์ให้มีการปฏิรูปองค์กรอิสระและอำนาจตุลาการ และสร้างกลไกถ่วงดุลตรวจสอบ และเพื่อให้กลไกสำคัญของบ้านเมืองเหล่านี้อยู่ใต้การกำกับขององค์กรตัวแทนอำนาจเสียงข้างมาก นี่เป็นภารกิจสำคัญที่ประชาชนจะต้องช่วยกันเดินหน้าผลักดันให้ถึงที่สุดต่อไป

๗. แนวทางการทำลายการเลือกตั้งได้ทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะรุนแรงที่ไร้ทางออกและความก้าวหน้ามาเกือบทศวรรษแล้วและจะเป็นเช่นนั้นต่อไปจนกว่าทุกอำนาจทุกฝ่ายในสังคมไทยจะเคารพสิทธิที่เท่าเทียมในการเลือกตั้งของประชาชนสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยขอยืนยันว่าทางออกของสังคมไทยในเวลานี้มีแต่การยอมรับหลักการ "คนเท่ากัน" "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" "ความชอบธรรมของเสียงข้างมาก" และ"การเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคลและเสียงข้างน้อย" เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่จำเป็น ขจัดกลไกส่วนที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ก่อนที่กลไกเหล่านั้นจะทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่ไม่มากนักในเวลานี้ลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook