บรรหาร ไม่ขอนั่งนายก ม.7หนุน ลต.ทางออกปท.

บรรหาร ไม่ขอนั่งนายก ม.7หนุน ลต.ทางออกปท.

บรรหาร ไม่ขอนั่งนายก ม.7หนุน ลต.ทางออกปท.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'บรรหาร' พร้อมสนับสนุนการเลือกตั้ง เชื่อ นายกฯ ม.7 เป็นไปได้ยาก ได้รับเสนอชื่อก็ไม่รับ ขัดแย้งสูง หากประชาธิปัตย์ ลงสนามเลือกตั้ง สถานการณ์จะดีขึ้น ขณะที่ 'ร.ต.อ.เฉลิม' ค้านนายกฯ มาตรา 7 เป็นไปไม่ได้ ระบุ ลุยเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ขอ ป.ป.ช.เป็นกลาง

นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นโมฆะ ว่า ทางพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่สามารถกำหนดได้ว่า จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงคำตัดสินออกมาเท่านั้น แต่ไม่ได้ชี้แจงทางออกให้กับประเทศ ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไป ตนก็พร้อมสนับสนุน เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีแก้ไขความขัดแย้งที่ดีที่สุด และถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน การเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 นั้น ก็เป็นไปได้ยาก ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในขณะนี้ และหากมีการเสนอชื่อตนก็คงจะแบกรับภาระไม่ไหวเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การเลือกตั้งจะเดินหน้าครั้งใหม่ได้นั้น เชื่อว่า หากทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ลงเลือกตั้ง ก็จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อย ส่วนจะลงเลือกตั้งหรือไม่นั้น เป็นสิทธิ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะตัดสินใจ ซึ่งตนก็ไม่จำเป็นจะเข้าไปเจรจา

 

เฉลิมค้านนายกฯ ม.7 วอน ป.ป.ช. เป็นกลาง

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. กล่าวว่า เป็นไปตามคาด กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นโมฆะ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ และถือเป็นตราบาปของศาลรัฐธรรมนูญ และหลังจากนี้ หากการเลือกตั้งไม่สำเร็จเพียงแค่ 1 เขต จาก 375 เขต จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ส่วนความกังวลใจต่อกรณีที่ ป.ป.ช. เตรียมชี้มูลความผิดต่อนายกรัฐมนตรีนั้น ร.ต.อ.เฉลิม มองว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากคดีสมัยรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายคดีไม่มีความคืบหน้า จึงขอให้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง พร้อมมองว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 6 คน ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จึงเห็นว่าผู้ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ อย่างถูกต้องถึงจะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ขณะที่กรณีการเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีตามมาตรา7 นั้น โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ว.สรรหา เป็นไปไม่ได้เนื่องจาก มาตรา 181 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ต้องผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งทางออกตอนนี้มีวิธีเดียวคือ จัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ มีรัฐบาลและทำการปฏิรูปใช้เวลาประมาณ 6 เดือน - 1 ปี จากนั้นจึงทำประชามติถามความเห็นประชาชน


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook