ปริศนาการหายไปของเครื่องบิน MH370 จากมุมมองประภัสสร เสวิกุล
หลังจากกลายเป็นข่าวปริศนาการหายไปของเครื่องบิน #MH370 มาเลเซียแอร์ไลนส์ วันอาทิตย์ที่ 16 มี.ค.รายการอุษาคเนย์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับอ.ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554
โดยอ.ประภัสสร สันนิษฐานและเสนอมุมมองในฐานะอดีตนักการทูต ว่า ก่อนหน้านี้ ตนเองเคยพูดไว้แล้วว่า เหตุการณ์นี้ หากเป็นการก่อการร้ายและให้เครื่องบินตก ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะมาเลเซียไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย แต่ที่น่าสงสัยคือ เครื่องบินลำนั้นมีคนจีนอยู่จำนวนมาก ซึ่งทางการจีนได้ออกมาตำหนิมาเลเซียตั้งแต่แรก ว่ามาเลเซียล่าช้าในการสืบค้น
อ.ประภัสสร อธิบายต่อไปอีกว่า ตอนแรกๆ มาเลเซียนิ่งอยู่เหมือนกำลังรออะไรสักอย่าง กระทั่งระยะต่อมามีการนำเสนอข่าวว่า เครื่องบินยังพอมีน้ำมันเหลือบินไปที่อื่นได้ ไปได้ ไปถึงมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป้าหมายก็น่าจะเป็นในเอเชียกลาง ซึ่งเมื่อโยนถึงตรงนี้ ก็มาดูว่า ประเทศที่มีปัญหากับเอเชียกลางขณะนี้คือ จีน เพราะมณฑลซินเจียงของจีนติดกับประเทศ คาซัคสถาน เตอร์กิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และมีปัญหาภายในของจีน ของชนเผ่าอุยกูร์สืบเนื่องมานานแล้ว
สำหรับชนเผ่าอุยกูร์ อ.ประภัสสร อธิบายอีกว่า เป็นชนพื้นเมืองเก่าแก่ อยู่ตรงนั้น มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศใกล้เคียง มีวัฒนธรรม มีภาษา มีศาสนาที่แตกต่างจากคนจีน ถึงแม้จีนจะปกครองอุยกูร์มานานพันปี แต่ไม่ได้ทำให้อุยกูร์กลายเป็นจีนได้ ด้วยระยะทางห่างกันเป็นพันกิโลเมตร อุยกูร์ห่างจากปักกิ่ง 4 พันกิโลเมตร มีพื้นที่ 1,660,000 ตารางกิโลเมตร ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 1 ใน 6 ของประเทศจีน ปัญหาเมื่อสมัยเหมาเจ๋อตุงเข้ายึดแผ่นดินจีน ก็ส่งทหารเข้าไปที่อุยกูร์เพื่อให้คนอุยกูร์เลิกนับถือศาสนาอิสลาม ให้นับถือเหมาเจ๋อตุง โดยมีการทำลายมัสยิด สังหารคนอุยกูร์เป็นแสนคน แต่ก็ไม่สามารถทำให้คนอุยกูร์อ่อนน้อมต่อจีนได้ มีการส่งคนจีนอพยพเข้าไปอยู่ในอุยกูร์ ในปี 2499 อุยกูร์มีคนจีนอยู่ 4 แสนคนกระทั่งปัจจุบันมีคนจีนในอุยกูร์ประมาณ 7.6 แสนคน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถือเป็นการกลืนชาติ เมื่อจีนเห็นว่าทำอย่างนี้ไม่สำเร็จ ก็เปลี่ยนนโยบาย ยอมให้อุยกูร์นับถือศาสนาอิสลามได้ แต่ก็ยังไม่ดีขึ้นเพราะปัญหาใหญ่คือเรื่องของความยากจน
โดยเมื่อแบ่งปัญหาของอุยกูร์กับจีนได้ 3-4 ประเด็นด้วยกัน คือ 1.เรื่องศาสนา 2.วัฒนธรรม 3.เศรษฐกิจ เพราะคนอุยกูร์จะอยู่กระจัดกระจาย ใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็นมา นำไปสู่ความยากจน 4.นโยบายของจีนต่ออุยกูร์ ตอนแรกที่ใช้นโยบายแข็งกร้าว ปราบและกดขี่มากมาย เมื่อเศรษฐกิจของจีนโตขึ้นอย่างทุกวันนี้ อัตราความเจริญของเมืองใหญ่ๆ ริมทะเลแถวเซียงไฮ้ กับอุยกูร์ห่างกันมากมีช่องว่างเกิดขึ้นมาก รายได้ของคนเซียงไฮ้ดีกว่าคนอุยกูร์ถึง 10 เท่า ฉะนั้นคนอุยกูร์ก็อยากจะออกจากซินเจียงไปทำงานตามเขตที่มีความเจริญเพื่อหารายได้เพิ่ม แต่เอกชนของจีนตั้งข้อสังเกตโดยจะจ่ายเงินคนจีนมากกว่าคนอุยกูร์หรือก็ไม่รับคนอุยกูร์เลย ถึงขนาดติดป้ายหน้าโรงงานว่าไม่รับคนอุยกูร์ เพราะกลัวเรื่องศาสนา และความคิด และความแตกต่าง
อ.ประภัสสร เล่าอีกว่า ล่าสุดมีขบวนการหนึ่งเกิดขึ้นคือ เตอร์กิสถานตะวันออก เพื่อแบ่งแยกซินเจียงเป็นรัฐอิสระ ซึ่งขบวนการนี้ก็ถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทในการก่อการร้าย ที่ประตูเทียนอันเหมิน มีการวางระเบิด ก็มีการกล่าวหาว่าเป็นคนอุยกูร์ ต่อมาเกิดการจลาจลในหมู่คนอุยกูร์ รัฐบาลก็ส่งคนเข้าไปปราบ ทำให้มีคนเสียชีวิตหลายร้อยคน เชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ความคิดแบ่งแยกดินแดนของคนอุยกูร์มีเพิ่มมากขึ้น ต่อมาคนอุยกูร์ก็ลักลอบเข้าไปมาเลเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ก็จับได้ 200 กว่าคน ซึ่งขณะนี้มาเลเซียก็เหมือนเป็นที่พักของคนต่างศาสนา คือคนที่นับถืออิสลามแล้วอยู่ที่ประเทศนั้นไม่ได้ ก็หนีมาอยู่มาเลเซีย อย่าง โรฮิญาในพม่า ก็น่าเชื่อได้ว่า คนอุยกูร์ที่อยู่ในมาเลเซียก่อนหน้านี้ จะมีแผนการอะไร นำเครื่องบินที่มีคนจีนจะไปปักกิ่งไปที่ใดที่หนึ่ง เพื่อมีการต่อรองในอนาคตกับรัฐบาลจีน และในเครื่องบินนี้ อาจจะมีคนสำคัญอยู่ด้วย จึงเชื่อได้ว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของอุยกูร์ จะมีส่วนในประเด็นนี้
"ส่วนตัวก็ยังสงสัยว่า เครื่องบินจะบินผ่านน่านฟ้าประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร ธรรมดาจะต้องมีการขออนุญาตก่อนจึงจะบินผ่านไปได้ อยู่ๆ บินไปดุ่ยๆ ก็ถูกยิง ไม่แน่ใจ มันต้องมีอะไรที่มากกว่านี้ ต้องลึกกว่านี้ เพราะขบวนการแบ่งแยกดินแดนเตอร์กิสถานของซินเจียง ก็มีคำสนับสนุนจากประเทศที่อยู่รอบข้าง รวมถึงรัสเซีย และประเทศในตะวันออกกลาง การจะบินผ่านเข้าไปในเอเชียกลาง ก็ต้องผ่านตะวันออกกลางไปก่อน ซึ่งประเทศอื่นก็ต้องให้ความร่วมมือในการบินเข้าไป และที่แปลกคือไม่มีใครแสดงตัวว่าเป็นผู้ทำการครั้งนี้ อีก 2-3 วัน น่าจะชัดเจนกว่านี้ เพราะการจะนำคนจำนวนมากบนเครื่องบินไปไว้ที่ไหน น่าสนใจมาก" อ.ประภัสสร ตั้งข้อสังเกตไว้
เรื่อง : อริสรา ประดิษฐสุวรรณ